ความสับสนและความชัดเจนในยุคข่าวปลอมครองเมือง

March 25, 2020

ความสับสนและความชัดเจนในยุคข่าวปลอมครองเมือง

ความสับสนและความชัดเจนในยุคข่าวปลอมครองเมือง

ปัจจุบันนี้อินเทอร์เน็ตกลายเป็นส่วนสำคัญของชีวิตเรา ที่ช่วยให้เราสามารถสื่อสารกันได้โดยไม่ต้องผ่านการกรองจากใคร แต่นั่นก็เป็นรอยด่างของอินเทอร์เน็ตเช่นกัน ข้อมูลที่ไหลบ่ามาอย่างรวดเร็ว แต่มีปราการป้องกันข้อมูลน้อยเหลือเกินที่จะบอกว่าอะไรจริงอะไรหลอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโทรศัพท์มือถือยิ่งเป็นอุปกรณ์ที่น่าสนใจ เพราะยิ่งกดโทรศัพท์ในมือมากเท่าไหร่ เท่ากับคุณกำลังป้อนข้อมูลที่จะย้อนกลับมากำหนดสิ่งที่คุณเห็นเท่านั้น

เรื่องเล่าจากมุมมองใหม่

การรายงานข่าวมักนำเสนอข้อเท็จจริงจากหลายมุมมอง การตัดสินใจของบรรณาธิการข่าวนั้นส่งผลให้หนึ่งเหตุการณ์มีเรื่องราวที่ต่างมุมมองกัน จากการที่ผู้นำเสนอตีกรอบ และดัดแปลงเรื่องเล่าของตัวเองตามลำดับความสำคัญ และอคติที่ต่างกันไป

แต่อย่างน้อยเรื่องเหล่านี้ก็มีพื้นฐานมาจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ทำให้เราได้รับรู้ชุดข้อมูลที่เป็นความจริงร่วมกัน เพื่อนำเอาไปใช้ต่อได้ ทุกวันนี้เราไม่อาจเชื่อได้อีกต่อไปว่าอะไรคือความจริง คลิปด้านล่างนี้คือ ผลของเทคโนโลยี Deepfake ซึ่งทุกอย่างในคลิปถูกสร้างจากซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ล้วน ๆ

เทคโนโลยีนี้ทำให้ยากต่อการบอกได้ว่าวิดีโอที่เราเห็นบนโลกออนไลน์นั้นอะไรคือเรื่องจริง Deepfake อาจทำให้คุณค่าของข้อมูลในคลิปต่าง ๆ ขาดความน่าเชื่อถือหากนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง และโชคไม่ดีนักที่ Deepfake กำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ เพราะทุกคนสามารถใช้ได้ง่าย และใช้ได้อย่างกว้างขวาง

อย่างไรก็ตาม Deepfake เป็นเพียงหนึ่งในหลายประเด็นที่ต้องพิจารณากันในภูมิทัศน์ทางข้อมูลแบบใหม่นี้ เว็บไซต์ปลอมที่หน้าตาเหมือนเว็บไซต์จริงก็คอยสร้างเรื่องที่แต่งขึ้นมาใหม่ ช่วงชิงความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูลตั้งต้น เรื่องหลอกเหล่านี้ออกแบบมาเพื่อให้ได้รับการแชร์ในโซเชียลมีเดีย ให้กลายเป็นกระแสก่อนที่คนจะทันรู้ตัวว่าโดนหลอก

อีกตัวอย่างที่ใกล้ตัวและสร้างความสับสนในการสื่อสารบนโลกอินเตอร์เน็ตคือข่าวปลอม (Fake News) อย่างข่าวปลอมที่เป็นกระแสไปเมื่อไม่นานมานี้ เช่น ข่าวเรื่องเครื่องดื่มสมุนไพรชนิดหนึ่งสามารถรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าได้ มีคนจำนวนไม่น้อยแชร์เรื่องนี้กันออกไป จนศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย (Anti-Fake News Center) ต้องออกมาแก้ไข

ข่าวปลอมไม่ใช่สิ่งที่สามารถควบคุมได้ง่ายนัก แม้ว่าทั้งภาครัฐ และสื่อเอกชนจะพยายามรับมือ และแก้ไขข้อมูลอย่างรวดเร็วเพียงใดก็ตาม ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด ข่าวปลอมนั้นสามารถทำให้เกิดความตื่นตระหนกทางสังคม  สร้างความเสียหายต่อบุคคล หรือองค์กรได้ คนที่เป็นเหยื่อของการนำเสนอผิด ๆ ทั้งเรื่องส่วนตัว และเรื่องการงานควรลงมืออย่างเด็ดขาด และชัดเจนโดยเร็วที่สุดเพื่อชี้แจงปฏิเสธข่าวลือ และการรายงานที่ไม่ถูกต้อง ก่อนที่มันจะกระจายไปสู่วงที่กว้างกว่านั้น

ในฐานะที่เราเป็นผู้เสพสื่อ เรามีหน้าที่ที่จะรักษาคุณภาพของโลกออนไลน์ไว้ให้ดี หากเราช่วยส่งต่อข่าวปลอม (หรือแม้แต่แค่นิ่งเฉยกับมัน) ข้อมูลผิดๆ ก็จะยิ่งออกสู่สาธารณะมากเท่านั้น สิ่งที่เราควรทำ คือ การทำความเข้าใจถึงวิธีรับมือกับปรากฎการณ์นี้ เพื่อทำให้อินเทอร์เน็ตเป็นโลกที่ดีกว่าเดิม

การควบคุมนำไปสู่พลัง

โลกดิจิทัลจะมอบทั้งความรู้มหาศาล และความสะดวกสบายอย่างมากให้กับเรา หากเราใช้มันอย่างมีความรับผิดชอบ คำแนะนำมีดังนี้

  1. ระวังเงินในกระเป๋า – อินเทอร์เน็ตคือแหล่งกบดานชั้นดีของพวกหลอกลวงที่ต้องการเงินในกระเป๋าของคุณ ก่อนจะใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตบนโลกดิจิทัล ให้ตรวจสอบให้แน่ใจว่าทั้งผู้ขายและสินค้านั้นเชื่อถือได้
  2. ตรวจสอบที่มา – ต้องแน่ใจก่อนว่าคุณติดตามแหล่งข้อมูลที่ถูกต้อง โซเชียลมีเดียมักมีการยืนยันตัวตนของผู้ใช้ที่เป็นบุคคลสาธารณะ (เช่น การใส่เครื่องหมายถูกสีน้ำเงินด้านหลัง) การดูเครื่องหมายที่ช่วยตรวจสอบเหล่านี้ และที่อยู่เว็บไซต์ (URL) ที่เข้าจะช่วยให้เลี่ยงข้อมูลปลอมได้เป็นอย่างดี รวมทั้งการตรวจสอบข้อมูลกับแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ ตัวอย่างเช่น ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center) ก็ช่วยได้มากเช่นกัน
  3. มองให้ลึกกว่าเดิม – เรื่องราวที่ควรเป็นข่าวควรมีลิงค์ไปยังแหล่งข้อมูลต้นฉบับ เพื่อบอกที่มาของเรื่อง ลองพิจารณาหลักฐานเหล่านี้สักนิดเพื่อดูว่าข้อมูลตรงตามแหล่งที่มาหรือไม่ หรือถ้าไม่แน่ใจให้ลองหาจากแหล่งอื่นดู คุณควรสงสัยหากไม่มีเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถืออื่นๆ ลงข้อมูลเดียวกัน

4. สร้างสมดุล – ติดตามข่าวจากแหล่งข่าวฝั่งที่คุณไม่เห็นด้วยบ้าง ถ้ามีข้อมูลเปรียบเทียบ คุณจะยิ่งรู้ได้เร็วว่าข้อมูลใดผิด

5. ถอยออกห่าง – อินเทอร์เน็ตเป็นโลกที่วุ่นวาย ปลีกตัวออกไปหาความสงบบ้างโดยการปิดเครื่องมือสื่อสาร และใช้เวลาในโลกความเป็นจริง

6. อย่าลืมว่าตัวเองเป็นใคร – ตัวตนในโลกออนไลน์จะส่งผลอย่างมากต่อชีวิตจริง คุณควรปฏิบัติตัวตามคุณค่าที่คุณยึดถือ และเวลามีปฏิสัมพันธ์กับคนในโลกออนไลน์ ให้ทำสิ่งที่คุณจะทำหากอยู่ต่อหน้าพวกเขาจริง ๆ

เวลาขับรถ หรือขี่มอเตอร์ไซค์ คุณอาจจะเลือกไม่คาดเข็มขัด หรือสวมหมวกนิรภัยก็ได้ แต่เราย่อมรู้ดีว่านั่นคือกฎที่ออกมาเพื่อความปลอดภัยของเราเอง ในโลกออนไลน์ก็เช่นกัน เราควรป้องกันตัวเองด้วยการมีสติในการเสพข่าวอยู่เสมอ เตือนตัวเองว่าจริง ๆ แล้วมันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ และเพื่อป้องกันไม่ให้สังคมมีการแบ่งขั้วกันจนแตกแยกต้องคิดอยู่เสมอว่าคนที่ไม่เชี่ยวชาญเทคโนโลยีมีความเสี่ยงมากกว่าที่จะตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอม แน่นอนว่านวัตกรรมในอนาคตจะสามารถช่วยแยกเรื่องจริงออกจากเรื่องหลอกได้ แต่ในระหว่างนี้ พวกเรามีหน้าที่ที่จะต้องระบุให้ได้ว่าข่าวใดที่หลอกลวง และพยายามไม่ส่งต่อข้อมูลผิด ๆ หากช่วยกันจับตาดู และรักษาโลกออนไลน์ให้ดี เราก็จะสามารถใช้ประโยชน์จากโลกดิจิทัลได้อย่างเต็มที่

Share this article

Subscribe to InnoHub!

Stay updated and inspired

เรานำข้อมูลมาใช้เพื่อการส่งมอบคอนเทนต์และบริการอย่างเหมาะสม เราจะปกป้องความเป็นส่วนตัวของคุณ คุณสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Privacy Policy และคลิกสมัครเพื่อดำเนินการต่อ