ธุรกิจยุคใหม่ใส่ใจเศรษฐกิจหมุนเวียน
การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรโลก ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ผู้คนมีแนวโน้มมั่งคั่งร่ำรวยขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ความท้าทายที่เราต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นคือ เราสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนเพียงไหน ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดบนโลกใบนี้
ธรรมชาติเองก็ใช้วัฏจักรตามธรรมชาติ ที่เป็นระบบแบบหมุนเวียนและสามารถนำกลับมาใช้ใหม่และใช้ซ้ำได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด อย่างเช่น การระเหยของน้ำจนกลายเป็นฝนที่ตกลงมา ที่ทำให้สิ่งมีชีวิตที่กระจายอยู่ทั่วทั้งแผ่นดินและมหาสมุทรสามารถดำรงชีวิตมาเป็นเวลานับหลายพันล้านปี และทำให้เรามั่นใจได้ว่าสิ่งมีชีวิตจะมีน้ำเพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภค และเพียงพอสำหรับรุ่นต่อไป
ในขณะที่ การผลิตและการบริโภคในยุคสมัยใหม่กลับไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับธรรมชาติ แทนที่จะเป็นไปตามวงจรหมุนเวียนของการใช้งานและนำกลับมาใช้ซ้ำ อย่างวัฏจักรตามธรรมชาติ กิจกรรมเศรษฐกิจส่วนใหญ่กลับมีวิถีดั้งเดิมแบบเชิงเส้น คือ ใช้งานและถูกทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ และในส่วนของวงการเทคโนโลยีเอง ที่ธุรกิจมีความพยายามในการคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อยู่เสมอ อาจกำลังกลายเป็นตัวการสำคัญของเรื่องนี้
ภาพจาก: www.datadriveninvestor.com/2018/10/19/circular-economy-is-the-solution-for-a-sustainable-future/
ในทุก ๆ ปี โลกมีขยะจากสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มากกว่า 50 ล้านตัน หากนำ ขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้มารวมกัน น้ำหนักที่ได้ยังมากกว่าน้ำหนักของเครื่องบินพาณิชย์ทุกลำทั้งหมดที่โลกเคยสร้างมา และคิดเป็นมูลค่าประมาณ 6.25 หมื่นล้านดอลล่าร์ ซึ่งเป็นมูลค่าที่มากกว่า GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศส่วนใหญ่ในโลก
เมื่อเทียบปริมาณทองคำในขยะอิเล็กทรอนิกส์กับก้อนแร่ทองคำที่น้ำหนักเท่ากัน คือ หนึ่งตัน กลับพบว่าในขยะอิเล็กทรอนิกส์มีปริมาณทองมากกว่าในก้อนแร่ทองคำถึง 100 เท่า และมีเพียง 20% เท่านั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิลอย่างเหมาะสม ส่วนอีก 80% มักจะลงเอยด้วยการถูกทิ้งอยู่ในกองขยะ ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่ มักจะทำจากวัสดุที่ไม่สามารถย่อยสลายทางชีวภาพ ซึ่งเมื่อปล่อยทิ้งไว้ มันจะสามารถปล่อยสารเคมีที่เป็นพิษสู่อากาศ พื้นดิน และแหล่งน้ำได้ นอกจากนี้ วัสดุเหล่านี้ยังมีต้นทุนการผลิตสูงมาก ไม่เพียงแต่ในแง่ของเงินทุน แต่ยังรวมถึงด้านแรงงานและพลังงานที่ใช้ในการผลิตด้วย
การที่วงการเทคโนโลยีจะสร้างความยั่งยืนได้นั้น อาจต้องอาศัยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในการช่วยจัดการปัญหาขยะและ การใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และโชคดีที่บริษัทเทคโนโลยีบางแห่งเริ่มใช้หลักการนี้แล้ว เพื่อโอกาสในการเติบโตอย่างยั่งยืนกว่า
เส้นทางแห่งความรับผิดชอบต่อความยั่งยืน
แม้ว่า Apple จะเคยเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก่อน แต่ล่าสุดบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่แห่งนี้ได้เริ่มก้าวที่สำคัญในการสร้างกระบวนการต่าง ๆ ให้มีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น โดยการใช้พลังงานหมุนเวียนในโรงงานทั่วโลก และนำมาใช้กับการดำเนินกิจกรรมในห่วงโซ่อุปทานในสัดส่วนที่มากอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้บริษัทยังได้ออกตราสารหนี้สีเขียว (Green bonds) มูลค่ากว่า 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนงานวิจัยและโครงการพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทั่วโลก โดยเป้าหมายสูงสุดของ Apple คือ การใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างเต็มรูปแบบ 100% ทั้งในห่วงโซ่อุปทานและการผลิตสินค้าทั้งหมด โดยที่ไม่ต้องใช้แร่หรือวัตถุดิบใหม่ ซึ่งนับว่าเป็ฟนเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่และมีความท้าทายอย่างมาก
ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนจากประเทศเนเธอร์แลนด์อย่าง Fairphone ก็ไม่น้อยหน้า เพราะพวกเขาได้แสดงให้เห็นว่าการปฏิบัติตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนสามารถเป็นไปได้จริงในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ตัวอย่างเช่นโทรศัพท์มือถือ Fairphone 3 ที่มีความคงทน ซ่อมง่าย รวมถึงใช้วัสดุที่ได้มาอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อสังคม ความพยายามนี้ทำให้ Fairphone ได้รับการจัดอันดับให้เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ในอันดับสูงสุดจาก Guide to Greener Electronics โดย Greenpeace
ในขณะที่บริษัทเทคโนโลยีสามารถส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนได้โดยการบริหารจัดการภายในบริษัทอย่างเหมาะสม พวกเขายังสามารถช่วยส่งเสริมการเกิดเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนสำหรับธุรกิจทั่วไปที่อาจจะไม่ได้อยู่ในวงการเทคโนโลยีได้ โดยการพัฒนาโซลูชันเพื่อช่วยบริษัทเหล่านั้นอีกด้วย
Winnow สตาร์ทอัพจากประเทศอังกฤษ ประดิษฐ์เครื่องวัดอัจฉริยะที่สามารถวิเคราะห์ขยะที่เกิดจากครัวอุตสาหกรรมเพื่อช่วยลดขยะอาหารได้
อีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ บริษัท DyeCoo จากประเทศเนเธอร์แลนด์ที่ทำธุรกิจย้อมสีผ้าด้วยคาร์บอนไดออกไซด์ความดันสูง ทำให้ไม่ต้องใช้น้ำหรือสารเคมีอื่น ๆ เพิ่มเติม นวัตกรรมของ DyeCoo สามารถช่วยลดปริมาณขยะพิษจำนวนมหาศาลที่เกิดจากอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ
นอกจากนี้ยังมีโปรเจกต์ Waste4Think ที่ช่วยยกระดับเทคโนโลยีด้านข้อมูลและการสื่อสาร เพื่อพัฒนากระบวนการบริหารจัดการขยะในเมืองอีกด้วย
ตามรอยธรรมชาติ
การริเริ่มแนวคิดแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเริ่มป็นที่ยอมรับ และได้รับความสนใจมากขึ้นกว่าเดิม เพราะโมเดลเศรษฐกิจแบบเชิงเส้นเดิม ๆ สร้างปริมาณขยะและมลพิษจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะในสังคมปัจจุบันที่คนเราหลงใหลในอุปกรณ์เล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีแต่จะทำให้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมแย่ลงเรื่อย ๆ
หากพวกเราต้องการให้เศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดขึ้นอย่างแท้จริง วงการเทคโนโลยีจะต้องเป็นผู้นำในการริเริ่มพัฒนาประสิทธิภาพภายในองค์กรของตัวเอง และในขณะเดียวกันต้องเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนและส่งเสริมแนวคิดนี้ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในภาคธุรกิจอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน แม้ว่าการเปลี่ยนพฤติกรรมที่เคยทำเป็นประจำจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เราก็โชคดีที่ธรรมชาติได้ช่วยปูทางสู่ความสำเร็จให้แก่เราเอาไว้แล้ว