พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลส่งผลต่อสตาร์ทอัพอย่างไร
กฎข้อบังคับในการปฏิบัติกับผู้ใช้งานบนโลกออนไลน์สำหรับสตาร์ทอัพและทุกองค์กรในประเทศไทยกำลังจะเปลี่ยนไป เพราะจะมีการบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อควบคุมดูแลวิธีการจัดเก็บและการนำข้อมูลลูกค้าไปใช้ประโยชน์
PDPA มีสาระสำคัญเช่นเดียวกับกฎหมาย GDPR (General Data Protection Regulation) ของยุโรป โดย PDPA จะกำหนดให้ทุกเว็บไซต์ต้องได้รับความยินยอมและต้องแจ้งให้ผู้ใช้ทราบก่อนการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลใด ๆ ผ่านคุกกี้ โดยต้องระบุประเภทของข้อมูลที่มีการจัดเก็บอย่างชัดเจนเพื่อให้ได้รับการอนุญาต และเมื่อเก็บข้อมูลไปแล้ว ยังมีกฎอื่นที่เพิ่มเติมเข้ามาจะควบคุมวิธีการจัดเก็บ การวิเคราะห์ และการแจกจ่ายข้อมูลเหล่านี้
โดย PDPA ส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถเก็บข้อมูลได้ก็ต่อเมื่อผู้ใช้เลือกที่จะ “ให้ความยินยอม” เท่านั้น และถ้าผู้ใช้ไม่ต้องการให้ข้อมูลก็สามารถเลือกที่จะ “ไม่ยินยอม” ได้ ซึ่งจะแตกต่างจากระบบเดิมที่เว็บไซต์สามารถเก็บข้อมูลได้โดยที่ไม่ต้องขออนุญาตก่อน
ผลของกฏหมาย PDPA คือ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วไปจะกลับมาเป็นผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลของตัวเองบนโลกออนไลน์ โดยมีสิทธิอย่างเต็มที่ในการพิจารณาว่าจะยอมให้เก็บข้อมูลนั้นหรือไม่ และจะนำไปใช้อย่างไร โดยตอนแรกกฎหมาย PDPA จะมีผลบังคับใช้ในปีนี้ แต่ถูกเลื่อนไปเป็นปีหน้า เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อหลายฝ่ายในการเตรียมความพร้อมกับกฎหมายดังกล่าว
มุ่งหน้าสู่การแข่งขันที่เท่าเทียม
ธุรกิจออนไลน์มีอิสระในการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้มานาน เพื่อนำไปใช้ในการวิเคราะห์ตลาดและเพื่อจุดประสงค์ในการขาย บ่อยครั้งที่การวิเคราะห์ข้อมูลผู้ใช้นำไปสู่บริการเฉพาะบุคคลต่าง ๆ เช่น เว็บไซต์ Amazon เสนอสินค้าโดยอิงจากประวัติการเข้าเว็บไซต์ของคุณ หากการเก็บข้อมูลแบบนี้ไม่ได้รับการตรวจสอบ มันก็อาจเป็นการรุกล้ำความเป็นส่วนตัวมากเกินไป เพราะการเก็บข้อมูลต่าง ๆ โดยที่ไม่มีการควบคุม ตั้งแต่พฤติกรรมการเข้าเว็บไซต์ที่เป็นส่วนตัวที่สุด ตำแหน่งที่คุณอยู่ ประวัติการซื้อ-ขาย ไปจนถึงการโต้ตอบบนโลกออนไลน์และอื่น ๆ อีกมากมาย อาจส่งผลให้เกิดการบันทึกข้อมูลของผู้ใช้ที่ละเอียดมาก
พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลนี้จะบังคับใช้กับธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการภายในประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่ต้องอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลผู้บริโภคโดยทำงานร่วมกันกับองค์กรภายนอก ทำให้องค์กรทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่เหล่านี้จะต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อได้มาซึ่งความยินยอมในการเก็บและรวบรวมข้อมูล
พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลนี้ทำให้สตาร์ทอัพได้เปรียบในการแข่งขันกว่าบริษัทที่อยู่มานานกว่า เพราะระบบซอฟต์แวร์รุ่นใหม่สามารถอัปเดตและเอื้อต่อการปรับเปลี่ยนได้ง่ายกว่าระบบแบบเก่าที่ถูกสร้างและใช้ต่อกันมาในหลาย ๆ โมเดลธุรกิจ ยิ่งไปกว่านั้นบริษัทที่ได้รวบรวมข้อมูลของผู้ใช้ไว้แล้วหลายปีจะต้องใช้เวลาและเงินจำนวนมากในการแปลงข้อมูลเก่าเหล่านั้นให้อยู่ในรูปแบบที่ใช้งานได้และสอดคล้องกับกฎหมายนี้
การกำหนดทิศทางในการสร้างความโปร่งใสในการดำเนินงานได้อย่างรวดเร็ว จะทำให้สตาร์ทอัพสามารถเริ่มต้นสร้างความไว้วางใจให้กับลูกค้าและพนักงาน แม้ว่าการสร้างความน่าเชื่อถือจะทำได้ยากและอาจต้องใช้เวลานานกว่าการนำข้อมูลมาใช้จริง แต่นี่เป็นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าในระยะยาว
อนาคตที่เป็นธรรมมากขึ้นสำหรับลูกค้า
พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลช่วยให้บริษัทที่มีเจตนาดีมีแรงจูงใจในการสร้างสรรค์และพัฒนาต่อไป การเก็บข้อมูลที่มีประสิทธิภาพจะช่วยในการสร้างยอดขาย ในขณะเดียวกันหากใช้ข้อมูลในทางที่ไม่เหมาะสมอาจมีผลทำให้ผู้ใช้เว็บไซต์ถูกชักจูงได้ง่ายขึ้น กฎระเบียบใหม่นี้สร้างความเป็นธรรมมากขึ้น ระหว่างผู้ขายและลูกค้า และระหว่างธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์ที่แตกต่างกัน
เมื่อต้องขอข้อมูลของผู้ใช้ เว็บไซต์มักจะมีการนำเสนอสิ่งตอบแทนมาแลกเปลี่ยน ซึ่งหากสิ่งนั้นสามารถสร้างคุณค่าให้กับลูกค้าได้ ก็จะช่วยให้ธุรกิจอยู่เหนือคู่แข่งได้อีกด้วย
แน่นอนว่าการบังคับใช้กฎหมายนี้ย่อมมีต้นทุน ไม่ว่าจะเป็นการอัปเกรดซอฟต์แวร์ที่ต้องอาศัยเวลาและพลังงานอย่างมาก ข้อความขอความยินยอมจากผู้ใช้ที่ปรากฏขึ้นบ่อยครั้งอาจจะทำให้ความสะดวกสบายในการใช้อินเทอร์เน็ตลดลง หรือบริการบางอย่างอาจไม่สามารถทำงานได้อย่างราบรื่นหากไม่มีการป้อนข้อมูลผู้ใช้ แต่ในท้ายที่สุดแล้ว การให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวและความต้องการของลูกค้าเป็นอันดับแรก จะช่วยให้สตาร์ทอัพเข้าสู่โลกของการแข่งขันที่เป็นธรรมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการช่วยส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมการใช้อินเทอร์เน็ตที่ดีขึ้นกว่าเดิม