รักษาความเป็นส่วนตัวอย่างไร ในยุคที่ใครๆ ก็แชร์ข้อมูล

April 6, 2020

รักษาความเป็นส่วนตัวอย่างไร ในยุคที่ใครๆ ก็แชร์ข้อมูล

ในยุคที่การใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราไปแล้ว หลายครั้งคุณถ่ายภาพตัวเองกับคนที่คุณรักและแชร์ให้เพื่อน ๆ ดูบนโซเชียลมีเดีย คุณกดอนุญาตให้บราวเซอร์ใช้คุกกี้ เปิดเว็บมากมายเพื่อค้นหาสิ่งที่ต้องการ หรือคลิกภาพและลิงก์ที่มีคนส่งมาให้ในแอปต่างๆ  รวมไปถึงการตั้งพาสเวิร์ดของบัญชีออนไลน์มากมายด้วยข้อมูลทั่วไปของตัวเอง เพราะคุณไม่สามารถจำพาสเวิร์ดที่มีทั้งตัวอักษร และสัญลักษณ์มากมายได้ ในเมื่อคนทุกคนก็ทำกัน มันก็คงไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร แต่รู้ไหมว่าการแชร์ข้อมูลอาจมีความเสี่ยงกว่าที่คุณคิด

ดาบสองคม

แน่นอนว่าข้อมูลแบบต่าง ๆ มีประโยชน์มากมาย องค์กรธุรกิจอย่างธนาคารกรุงเทพเองก็มีการศึกษาพฤติกรรมของลูกค้า เพื่อออกแบบการบริการให้ดีขึ้นกว่าเดิม รวมถึงแนะนำบริการที่เหมาะกับลูกค้าแต่ละคน โดยมอบประสบการณ์ที่น่าพึงพอใจและตรงกับความต้องการของผู้ใช้งาน นอกจากนี้เรายังใช้การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analysis) เพื่อสร้างบริการที่สามารถเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงิน การเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับพฤติกรรมส่วนบุคคล และรูปแบบทางการเงินนั้นช่วยให้ เราสามารถทำความเข้าใจคนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ ของธนาคารได้ และช่วยพัฒนาให้คนเหล่านั้นสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวกยิ่งขึ้น

ระบบเหล่านี้ล้วนมีประโยชน์และใช้งานได้ดี เพราะองค์กรพยายามอย่างยิ่งที่จะรักษาความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยให้กับข้อมูลของผู้ใช้ แต่ไม่ใช่ทุกองค์กรที่จะคำนึงถึงความปลอดภัยนี้ อีกทั้งยังมีคนบางกลุ่มที่จ้องจะหาผลประโยชน์จากความเชื่อใจของผู้ใช้งาน ดังนั้น ผู้ที่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นประจำจึงต้องตื่นตัว และคอยระมัดระวัง เพื่อไม่ให้ตัวเองตกเป็นเหยื่อของการถูกนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้หาผลประโยชน์

ทุกย่างก้าวที่คุณเดิน

ข้อมูลส่วนตัวของคุณเป็นสิ่งที่มีค่า และควรได้รับการปกป้อง แต่ก็มีอีกหลายคนที่ยอมทิ้งความเป็นส่วนตัว เพื่อแลกกับสิ่งตอบแทนที่พวกเขาคิดว่าคุ้มค่า อินเทอร์เน็ตให้ทั้งอำนาจ ความสะดวกสบาย และความบันเทิงในแบบที่ไม่มีอะไรสู้ได้ และยังกลายมาเป็นส่วนสำคัญในชีวิต จนเรานึกภาพไม่ออกเลยว่าโลกที่ไม่มีข้อมูล และการเชื่อมต่อระหว่างผู้คนเพียงใช้ปลายนิ้วสัมผัสจะเป็นอย่างไร สิ่งเหล่านี้ทำให้เรามองข้ามความเสียหายที่ไม่ได้เป็นรูปธรรมชัดเจน หรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาวจากการใช้อินเทอร์เน็ตในแต่ละครั้ง

แต่ความเสียหายเหล่านั้นมีอยู่จริง ในระหว่างที่คุณท่องอยู่บนโลกอินเตอร์เน็ตอย่างเพลิดเพลิน ปริมาณข้อมูลที่คุณป้อนให้กับบริษัทอย่าง Google และ Facebook ก็นับว่าไม่ธรรมดา นับตั้งแต่ภาพถ่ายทั้งหมดในคลังภาพ ไปจนถึงประวัติการเข้าชมเว็บไซต์ ข้อมูลตำแหน่งที่อยู่แบบเรียลไทม์ ประวัติการแชท รายชื่ออีเมล ข้อมูลทั้งหมดในกล่องข้อความ วิดีโอที่คุณดู ไฟล์ที่คุณดาวน์โหลด (รวมไปถึงไฟล์ที่คุณคิดว่าเคยลบไปแล้ว) หรือแม้กระทั่งข้อมูลจากไมโครโฟน และกล้องเว็บแคม ซึ่งข้อมูลส่วนตัวของคุณเหล่านี้อาจจะถูกบันทึกไว้เพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ หรือส่งต่อข้อมูลให้กับองค์กรอื่นหรือบุคคลภายนอก

สถานการณ์จะมีความซับซ้อนมากขึ้นหากเกิดการละเมิดข้อมูล หรือแม้แต่ข้อมูลส่วนตัวที่ละเอียดอ่อนตกไปอยู่ในมือของคนที่เราไม่รู้จัก เราจึงไม่ควรมองว่าการละเมิดข้างต้น รวมถึงการขอเก็บข้อมูลส่วนตัวของเราโดยบริษัทที่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นเพียงแค่ค่าเสียหายในการทำสิ่งต่าง ๆ บนโลกออนไลน์ เพราะอันที่จริงแล้วเราสามารจัดการกับปัญหาการสูญเสียความเป็นส่วนตัวบนอินเทอร์เน็ตได้ด้วยวิธีที่ง่าย ซึ่งใคร ๆ ก็สามารถทำได้ทั้งนั้น

จัดการอย่างระมัดระวัง

คำแนะนำด้านล่างนี้ สามารถนำไปปรับใช้กับกิจวัตรประจำวันของคุณได้อย่างง่ายดาย

  • ใช้ Password Manager ที่เป็นเครื่องมือเข้ารหัสที่คุณสามารถดาวน์โหลด และมีไว้ได้ทั้งในอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ของคุณหรือในคลาวด์ที่ปลอดภัยบนมือถือของคุณ โดย Password Manager จะช่วยสร้างและจัดเตรียมพาสเวิร์ดที่ปลอดภัยและยากต้องการคาดเดาสำหรับแต่ละบัญชีส่วนตัวของคุณ
  • เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น ด้วยโปรแกรม Tor ที่สามารถลบข้อมูลของคุณได้ในขณะที่คุณกำลังออนไลน์อยู่
  • เริ่มใช้วิธีค้นหาแบบส่วนตัว แม้ความสะดวกสบายของ Google นั้นทำให้เว็บอื่นยากจะเอาชนะได้ แต่ยังมีหลายเว็บคู่แข่งที่ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัว และมีวิธีป้องกันข้อมูลส่วนตัวของคุณได้ดีกว่า
  • โพสต์เกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวให้น้อยลง เวลาที่คุณอยากโพสต์ภาพส่วนตัวลงบนโซเชียลมีเดีย เขียนบล็อกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ต่าง ๆ  หรืออยากอัพโหลดวิดีโอที่คุณถ่ายเอง ให้คำนึงถึงเสมอว่า ข้อมูลที่คุณโพสต์จะถูกจัดเก็บไปยังฐานข้อมูลของบริษัทเทคโนโลยีเป็นเวลานาน ดังนั้นน่าจะดีกว่าหากไม่โพสต์เรื่องส่วนตัวสักพัก บางส่วนของชีวิตคุณเปิดเผยได้ แต่เรื่องส่วนตัวก็ขอให้เก็บเป็นส่วนตัว
  • หลีกเลี่ยงลิงก์ เว็บไซต์ และการดาวน์โหลดที่ไม่รู้ที่มาที่ไป สแปมเมล และข้อความต่าง ๆ ที่พยายามให้คลิกเข้าไปในลิงก์ซึ่งจะทำให้คอมพิวเตอร์ของคุณต้องเจอกับซอฟแวร์ที่อันตราย ดังนั้น อย่าคลิกไปยังสิ่งที่คุณไม่รู้ที่มา
  • ใช้โปรแกรมป้องกันไวรัสที่ทันสมัย โปรแกรมป้องกันไวรัสที่มีประสิทธิภาพจะคอยตรวจสอบการดาวน์โหลดของคุณและสแกนคอมพิวเตอร์ของคุณเป็นระยะ โดยทำการปรับแก้ไฟล์ที่เป็นอันตรายเพื่อรักษาข้อมูลของคุณให้ปลอดภัย
  • ใช้เว็บเบราว์เซอร์ที่เป็นส่วนตัว เพราะไม่ใช่ทุกเว็บเบราว์เซอร์ที่จะสามารถป้องกันข้อมูลของคุณอย่างเท่าเทียมได้ เปลี่ยนเป็นเบราว์เซอร์ส่วนตัว หรืออย่างน้อยควรตั้งค่าความเป็นส่วนตัวของเบราว์เซอร์ที่มีอยู่ เพื่อป้องกันตัวเองให้ดีกว่าเดิม เบราว์เซอร์บางตัวสามารถแยกโหมดสำหรับความเป็นส่วนตัวที่ไม่มีการทิ้งร่องรอยของคุณเอาไว้ การใช้สิ่งเหล่านี้สามารถทำให้คุณจัดการกับข้อมูลการใช้งานทางอินเทอร์เน็ตของคุณได้
  • ตรวจสอบให้แน่ใจว่าการแชททำจากบริการส่งข้อความที่ปลอดภัย การเข้ารหัสแบบตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง จะช่วยป้องกันการสื่อสารของคุณจากพวกดักฟังทางออนไลน์
  • หลีกเลี่ยงสัญญาณไวไฟสาธารณะ การใช้เครือข่ายสาธารณะมีความเสี่ยงต่อการโดนขโมยข้อมูลมากขึ้น ควรใช้การเชื่อมต่อที่เป็นส่วนตัวหากต้องการรักษาความเป็นส่วนตัวของคุณเอาไว้
  • รู้ว่าอะไรควรทำหรือไม่ควรทำ อย่าทิ้งรหัสผ่านไว้ไม่ว่าที่ใดก็ตาม อย่าเชื่อถือข้อเสนอที่ดูเกินจริง ตรวจสอบ URL ให้แน่ใจว่าเป็นลิงก์ที่ใช่จริง ๆ ก่อนที่จะคลิก และต้องมั่นใจว่าเว็บไซต์ขึ้นต้นด้วย https:// ซึ่งหมายถึงการเชื่อมต่อนั่นปลอดภัย ระวังเว็บเพจอันตรายที่ออกแบบมาเพื่อเลียนแบบเว็บไซต์จริง

คำแนะนำข้างต้นสามารถปฏิบัติได้ง่าย และถือว่าเป็นหลักปฏิบัติในโลกออนไลน์ที่ดี ที่สามารถป้องกันคุณจากไวรัส หรือเครื่องมือที่ใช้เก็บข้อมูลชนิดอื่น ๆ ได้ การมีสติคอยระวังความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวทำให้คุณสามารถรักษาข้อมูลส่วนตัวไว้ในที่ที่ปลอดภัย นั่นคือที่ที่มีแค่คุณคนเดียวเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงได้

Share this article

Subscribe to InnoHub!

Stay updated and inspired

เรานำข้อมูลมาใช้เพื่อการส่งมอบคอนเทนต์และบริการอย่างเหมาะสม เราจะปกป้องความเป็นส่วนตัวของคุณ คุณสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Privacy Policy และคลิกสมัครเพื่อดำเนินการต่อ