วงการฟินเทคกับภูมิคุ้มกันโควิด-19

May 15, 2020

วงการฟินเทคกับภูมิคุ้มกันโควิด-19

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ คือ ภัยเงียบที่มองไม่เห็นและเกินความคาดคิดที่นอกจากจะสร้างผลกระทบในหลายมิติจนน่าประหลาดใจ บางประเทศต้องเผชิญกับวิกฤตทางสาธารณสุขที่ร้ายแรงที่สุดในรอบศตวรรษ ในขณะที่หลายประเทศเดินหน้าไปอย่างคอยเฝ้าระวัง และได้รับความบอบช้ำทางสังคมและเศรษฐกิจแค่เพียงเล็กน้อย

วิกฤตินี้สร้างผลกระทบที่แตกต่างกันต่อเศรษฐกิจในแต่ละภาคส่วน ธุรกิจบางประเภท เช่น ร้านอาหาร บาร์ โรงแรม การท่องเที่ยว และการแข่งขันกีฬา ต้องหยุดการดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบ ในขณะที่ธุรกิจประเภทอื่น ๆ อย่าง อีคอมเมิร์ซ ผู้ให้บริการส่งอาหาร ธุรกิจที่ให้ความบันเทิงในบ้าน และธุรกิจที่สามารถปรับรูปแบบการทำงานให้ทำงานระยะไกลแบบไม่ต้องเข้าบริษัทได้  ยังดำเนินธุรกิจได้ในสถานการณ์นี้

ฟินเทค (Financial technology) เป็นอีกธุรกิจที่น่าจับตามอง เพราะอยู่ตรงกลางระหว่างขั้วของการเปลี่ยนแปลง ในด้านหนึ่ง ธุรกิจนี้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยรายได้และผลกำไรส่วนใหญ่มาจากการทำธุรกรรมทางการเงินทุกประเภท ตั้งแต่การจำนอง การโอนเงิน ไปจนถึงการชำระเงินเพื่อซื้อสินค้า ดังนั้น เมื่อเศรษฐกิจทั้งหมดหยุดชะงัก ส่งผลให้จำนวนลูกค้าผู้ใช้งานก็ย่อมจะน้อยลงตามไปด้วย

ในอีกด้านหนึ่ง ด้วยกลไกของฟินเทคในอุดมคติที่เราคาดหวังกลับกลายเป็นเอื้อต่อวิกฤตครั้งใหญ่ที่เรากำลังเผชิญกันอยู่ เพราะหัวใจของฟินเทค คือ การเปลี่ยนจากธุรกรรมเงินสดเป็นการชำระเงินในรูปแบบอื่น ซึ่งส่งผลต่อการทำธุรกรรมบางประเภทได้รับผลกระทบอย่างมหาศาล ตัวอย่างเช่น การซื้อตั๋วเครื่องบินออนไลน์ที่ในเวลานี้แทบจะไม่มีใครซื้อเลย ในขณะที่การทำธุรกรรมในธุรกิจอื่น ๆ เช่น การซื้อขายหุ้น การชอปปิ้งออนไลน์การชำระค่าส่งสินค้า การบริจาคออนไลน์ หรือการดาวน์โหลดสื่อดิจิทัล กลับมีความเฟื่องฟูเป็นอย่างยิ่งในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจแบบนี้

ท่ามกลางวิกฤติที่ธุรกิจต่าง ๆ กำลังต่อสู้กับการชะลอตัวและจำนวนผู้ว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ขณะเดียวกัน  หลายแอปพลิเคชันด้านฟินเทคกลับได้รับประโยชน์โดยตรงจากการชะลอตัวดังกล่าว ด้วยความต้องการใช้บริการผู้ให้สินเชื่อที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีบริการจากผู้ให้สินเชื่อซึ่งเป็นฟินเทคภาคเอกชนที่ทำงานร่วมกับธนาคาเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน  อย่างเช่น ธนาคารกรุงเทพ ได้ขยายข้อตกลงความช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ในช่วงวิกฤติปัจจุบัน

หนทางในการผ่านข้ามช่วงเวลาที่เราต่างไม่เคยพบเจอนี้ไปให้ได้ ส่งผลให้ผู้บริโภคทั่วไปและผู้ประกอบการ SMEs จำนวนมากหันมาสร้างความคุ้นเคยกับการใช้งานซอฟท์แวร์ทางการเงินแบบต่างๆ เพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่จำเป็น นวัตกรรมดิจิทัลเหล่านี้ กำลังกลายมาเป็นบรรทัดฐานใหม่ในแวดวงธุรกิจ และเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างถาวรของการติดต่อสื่อสารแบบไม่ต้องพบเจอหน้ากัน ระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการ

อนาคตที่แข็งแกร่งกว่าเดิม

โควิด-19 ถือเป็นบททดสอบสำคัญสำหรับผู้ให้บริการด้านฟินเทค ผู้ให้บริการหลายรายกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ในขณะที่บางรายสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ หรือมีแนวโน้มที่จะเติบโตเพิ่มมากขึ้นด ไม่ว่าจะเป็นไปในทิศทางไหน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโควิด-19 ส่งผลให้วงการฟินเทคได้เกิดการพัฒนาที่สำคัญด้วยกันสองอย่าง โดยทั้งสองอย่างนี้มีแนวโน้มว่าจะยังคงอยู่กับเราต่อไปแม้เหตุการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว

อย่างแรกคือ ฟินเทคจะกลายเป็นที่ต้องการในเชิงสังคมและเศรษฐกิจอย่างแพร่หลาย เนื่องจากคนเริ่มมองเห็นว่าการใช้จ่ายแบบที่ไม่ต้องใช้เงินจริง ๆ ไปซื้อสินค้าและบริการด้วยตนเอง เป็นวิธีที่ประหยัดเวลาและสะดวกสบาย ประสบการณ์ร่วมของทุกคนในวิกฤติครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าการชำระเงินและการทำธุรกรรมทางการเงินแบบดิจิทัล จะกลายเป็นส่วนสำคัญของสังคมสมัยใหม่ในอนาคต หากปราศจากฟินเทค การอยู่บ้านและการเว้นระยะห่างทางสังคมคงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมากกว่านี้อีกหลายเท่า

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บังคับให้หลาย ๆ คนที่ไม่เคยใช้บริการที่เกี่ยวข้องกับฟินเทคมาก่อนได้ลองใช้บริการ จนกลายมาเป็นบรรทัดฐานใหม่ของการให้บริการทางดิจิทัลในยุคปัจจุบัน เมื่อกลุ่มผู้ใช้งานเหล่านี้เคยชินกับความสะดวกสบายที่ได้จากการประมวลผลของ AI และ IoT รวมถึงการใช้จ่ายเงินผ่านแอปพลิเคชัน ส่งผลให้ผู้ใช้งานเกิดความพึงพอใจและอาจจะอยากใช้บริการด้านฟินเทคต่อไป ถึงแม้ว่าการแพร่ระบาดจะจบลงแล้วก็ตาม หากบริษัทฟินเทคสามารถส่งต่อการบริการที่ดีและปลอดภัยเอาไว้ได้ในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤติ ก็จะกลายมาเป็นจุดเปลี่ยน หรือ Antifragile นั่นหมายความว่า ภายใต้ความตึงเครียดของวิกฤติกลับทำให้บริษัทแข็งแกร่งมากกว่าช่วงที่สถานการณ์เป็นปกติเสียอีก

การพัฒนาอีกอย่างที่มีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 – คือ การเข้าสู่ระยะของการปรับเปลี่ยนที่สำคัญภายในกลุ่มธุรกิจฟินเทคเอง เนื่องจากปัจจุบันมีผู้เล่นรายเล็กมากมายทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกที่พัฒนาบริการคล้าย ๆ กัน แต่ด้วยอัตราความสำเร็จที่แตกต่างกันในช่วงวิกฤตินี้ ทำให้ธุรกิจที่ทำกำไรได้มากกว่าสามารถซื้อหรือควบรวมกิจการของบริษัทที่เล็กกว่า หรืออย่างน้อยก็สามารถซื้อเทคโนโลยีที่บริษัทเล็ก ๆ เหล่านั้นพัฒนาขึ้นมาได้ ด้วยการควบรวมและผนึกกำลังของธุรกิจ จะเป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยยกระดับการให้บริการและช่วยให้ผู้บริโภคมีประสบการณ์การใช้งานที่ราบรื่นมากขึ้น

แม้ว่าบริษัทจะอยู่ในกลุ่มธุรกิจฟินเทค ก็ไม่ได้หมายความว่าจะรอดพ้นจากผลกระทบของไวรัสโคโรนาเสมอไป แต่ก็ยังเชื่อได้ว่าภาพรวมของธุรกิจด้านนี้จะยิ่งมีที่ยืนในเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น แม้การแพร่ระบาดสิ้นสุดลง

Share this article

Subscribe to InnoHub!

Stay updated and inspired

เรานำข้อมูลมาใช้เพื่อการส่งมอบคอนเทนต์และบริการอย่างเหมาะสม เราจะปกป้องความเป็นส่วนตัวของคุณ คุณสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Privacy Policy และคลิกสมัครเพื่อดำเนินการต่อ