3 ข้อคิดจาก CEO บริษัทสตาร์ทอัพที่ผันตัวจากการเขียนโค้ดมาบริหารธุรกิจ

March 7, 2022

3 ข้อคิดจาก CEO บริษัทสตาร์ทอัพที่ผันตัวจากการเขียนโค้ดมาบริหารธุรกิจ

โปรแกรมเมอร์ในภาพจำของใคร ๆ อาจจะเป็นคนโลกส่วนตัวสูง เข้าสังคมไม่ค่อยเก่ง ดูไม่เหมาะกับการทำงานในตำแหน่งพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพที่ต้องพบเจอลูกค้า นักลงทุน และบริหารทีมงานมากมาย แต่รู้หรือไม่ว่าจริง ๆ แล้ว CEO ชื่อดังระดับโลกหลายคนต่างก็เคยเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์มาก่อนทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น Mark Zuckerberg หรือ Jack Dorsey

เพราะฉะนั้นไม่ต้องท้อใจไปถ้าคุณก็เป็นโปรแกรมเมอร์ที่มีความฝันอยากปั้นธุรกิจสตาร์ทอัพเป็นของตัวเองในอนาคตบ้างเหมือนกัน วันนี้ InnoHub นำบทเรียนสำคัญ 3 ข้อจากประสบการณ์จริงของ CEO ที่เคยเป็นโปรแกรมเมอร์มาฝาก จะมีอะไรบ้างไปดูกัน!

1.ใช้ความรู้และทักษะการเขียนโปรแกรมให้เป็นประโยชน์

ความรู้ด้านการเขียนโค้ดและประสบการณ์ที่เคยคลุกคลีกับการพัฒนาซอฟต์แวร์ประเภทต่าง ๆ มาตลอดจะกลายเป็นความสามารถที่อาจช่วยให้คุณได้เปรียบกว่าผู้บริหารที่เติบโตมาจากสายงานอื่น ๆ เช่น การบริหารธุรกิจ หรือ การตลาด 

สาเหตุก็เพราะว่าโปรแกรมเมอร์เชี่ยวชาญทั้งการคิดวิเคราะห์วางแผนงานและกลุยทธ์ (Strategy) จากการรับฟังปัญหา (Pain Point) ที่เกิดขึ้นของทั้งลูกค้าหรือบริษัท แล้วพยายามใช้หลักตรรกศาสตร์เพื่อแก้ไข รวมถึงยังสามารถลงมือ “สร้าง” (Execution) ผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ขึ้นมาเองเพื่อตอบโจทย์ความต้องการนั้น ๆ ได้อีกด้วย 

Credit: pressfoto

อดีตโปรแกรมเมอร์อย่าง Nick Halstead ผู้ก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพชื่อว่า DataSift ในประเทศอังกฤษ เห็นด้วยกับประเด็นนี้เช่นกัน ในบทสัมภาษณ์ของ Fastcompany นิตยสารด้านธุรกิจและนวัตกรรมระดับโลก เขาแนะนำว่า CEO ที่สามารถเขียนโค้ดได้และเข้าใจกลไกเบื้องหลังการทำงานของเทคโนโลยีนั้นสำคัญอย่างยิ่งกับการก่อตั้งสตาร์ทอัพในระยะแรกเริ่ม และควรเป็นคนที่มีอำนาจตัดสินใจทิศทางหลาย ๆ เรื่องของบริษัท

นอกจากนี้ อีกหนึ่งข้อได้เปรียบของผู้บริหารสตาร์ทอัพที่เคยเป็นโปรแกรมเมอร์มาก่อน คือ สามารถติดต่อสื่อสารและเข้าอกเข้าใจเพื่อนพนักงานในทีมเทคโนโลยีได้เป็นอย่างดี Todd McKinnon ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพชื่อว่า Okta กล่าวว่า การทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ช่วยให้เขาตระหนักดีว่าการสร้างนวัตกรรมต้องใช้ทรัพยากรเวลาและความอดทน หลายครั้งการเร่งแก้ปัญหาด้วยเงินทุนไม่ใช่คำตอบเสมอไป

2.คอยดูแลใส่ใจเพื่อนพนักงานและลูกน้องในทีม

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทักษะด้าน Hard Skill อย่างการเขียนโค้ดที่ถูกต้อง หรือแก้บัค (Bug) ที่ยุ่งยากซับซ้อน จะเป็นประโยชน์สำหรับการสร้างผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ของบริษัทในระยะแรก ๆ แต่การพาธุรกิจสตาร์ทอัพให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปนั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้คนมากมาย ทั้ง Team Work ของเพื่อน ๆ พนักงานและการสานสัมพันธ์กับคู่ค้า

ดังนั้นนอกเหนือจากประสบการณ์และความรู้ด้านเทคโนโลยี การคิดวิเคราะห์ และแก้ไขอย่างเป็นระบบของโปรแกรมเมอร์แล้ว การเป็น CEO ที่ดีต้องอาศัยทักษะ Soft Skill โดยเฉพาะการเป็นผู้นำที่พร้อมจะรับฟัง สนับสนุน และปลดล็อกศักยภาพของทุก ๆ คนในทีมให้สามารถทำงานได้อย่างมีความสุขและมีประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนาธุรกิจให้เติบโตไปด้วยกัน

Eugenio Pace อดีตโปรแกรมเมอร์ผู้ร่วมก่อตั้ง Auth0 สตาร์ทอัพด้านระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตน กล่าวว่า งานของ CEO ไม่ใช่การคอยสั่งหรือบงการลูกน้องให้ทำตามใจตัวเอง แต่ CEO ต้องสามารถสร้างวัตนธรรมการทำงานให้ทุกคนรับผิดชอบกับหน้าที่และกล้าตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง พร้อมคอยสนับสนุนพนักงานเมื่อพวกเขาต้องการความช่วยเหลือ 

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัย Oxford พบว่า พนักงานที่มีความสุขนั้นจะมีประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มมากขึ้นถึง 13% เลยทีเดียว ดังนั้นนอกจากเรื่องของตัวเลขอย่างค่าตอบแทนที่เหมาะสมและไม่เอาเปรียบพนักงานแล้ว CEO ของสตาร์ทอัพต้องดูแลปัจจัยสำคัญอย่างความเป็นอยู่ที่ดีและวัฒนธรรมในออฟฟิศด้วย จึงจะสามารถปั้นสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จได้

3.เป็นผู้นำที่จริงใจและโปร่งใสของทุกคน

สุดท้ายนี้ Eugenio Pace ได้ให้คำแนะนำสำหรับโปรแกรมเมอร์ที่อยากก้าวขึ้นมาเป็นผู้ก่อตั้งบริษัททุกคนว่า คุณต้องเป็น CEO ที่ยึดมั่นในความโปร่งใสและพูดคุยอย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา (Authenticity) กับเพื่อนพนักงานและลูกน้องในทีม ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อใจกันระหว่างทุกคนในองค์กร 

ตัวอย่างเช่น บริษัท Auth0 ของ Eugenio Pace มีวัตนธรรมการให้คำแนะนำและติชม (Feedback) ให้แก่กัน รวมถึงการเปิดโอกาสให้พนักงานทุกคนในบริษัทสามารถถามคำถามอะไรก็ได้กับหัวหน้างานและผู้นำระดับ C-Level ในกิจกรรม Ask Me Anything (AMA) เป็นประจำ

นอกจากนี้ CEO ที่ดียังควรรับผิดชอบและทำตามแผนการหรือคำมั่นสัญญาต่าง ๆ ที่เคยให้ไว้กับผู้อื่นอีกด้วย หากคุณรับปากว่าจะดำเนินการตามกลยุทธ์นี้หรือเพิ่มผลตอบแทนให้พนักงาน ก็ต้องพยายามทำให้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม หากคุณผิดพลาดหรือสถานการณ์ทางธุรกิจสตาร์ทอัพไม่เป็นดั่งหวัง ก็ควรพูดคุยอย่างตรงไปตรงมากับเพื่อนพนักงาน อย่าโกหกกลบเกลื่อนจนสูญเสียความเชื่อใจจากเพื่อนพนักงานในทีม

แม้ตอนนี้คุณจะเป็นโปรแกรมเมอร์เขียนโค้ดอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ แต่หนทางสู่การเป็นเจ้าของกิจการสตาร์ทอัพในอนาคตก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม ลองนำ 3 ข้อคิดข้างต้นที่ InnoHub นำมาฝากไปปรับใช้กันดู เพียงเท่านี้คุณก็เข้าใกล้ความฝันในการสร้างธุรกิจและกลายเป็น CEO ที่พาบริษัทให้ประสบความสำเร็จไปอีกก้าวหนึ่งแล้ว

Share this article

Subscribe to InnoHub!

Stay updated and inspired

เรานำข้อมูลมาใช้เพื่อการส่งมอบคอนเทนต์และบริการอย่างเหมาะสม เราจะปกป้องความเป็นส่วนตัวของคุณ คุณสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Privacy Policy และคลิกสมัครเพื่อดำเนินการต่อ