3D Bioprinting พลิกวงการแพทย์ สร้างหัวใจดวงแรกของโลก!
ปัญหาการขาดแคลนอวัยวะปลูกถ่ายนั้นถือเป็นปัญหาใหญ่ของวงการแพทย์ทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา ปี 2019 มียอดผู้ป่วยที่กำลังรอการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะกว่า 100,000 ราย ส่วนในประเทศไทยเอง สภากาชาดไทยระบุว่าปัจจุบัน มีจำนวนผู้ป่วยที่ลงทะเบียนรอรับการบริจาคอวัยวะไว้มากถึง 6,401 ราย แต่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะเพียง 585 รายต่อปีเท่านั้น
ในขณะที่ทั่วโลกเองต่างหาทางออกมากมายให้กับปัญหานี้ ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกาสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) ชื่อว่า eGenesis ทำการทดลองผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะของหมูที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมให้กับลิงเพื่อต่อยอดไปสู่การปลูกถ่ายอวัยะจากหมูไปยังมนุษย์ในอนาคต หรือแม้แต่ในประเทศไทยก็เริ่มมีแนวคิดที่จะผลักดันกฎหมายบริจาคอวัยวะอัตโนมัติ กล่าวคือให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิ์ตั้งต้นเป็นผู้บริจาคอวัยวะโดยอัตโนมัติ และหากไม่ยินยอมที่จะบริจาคสามารถดำเนินการถอนชื่อตัวเองออกได้ นอกจากนี้ยังก็มีอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาจนประสบความสำเร็จไปอีกขั้นเมื่อไม่นานมานี้ และกลายเป็นอีกความหวังใหม่ของวงการแพทย์ที่จะลดปัญหาการขาดแคลนอวัยวะ
เทคโนโลยี 3D Printing ได้พัฒนาล้ำหน้าไปถึงการพิมพ์อวัยวะของมนุษย์ หรือที่เรียกกันว่า 3D Bioprinting มีหลักการทำงานคล้ายกับเครื่องพิมพ์สามมิติ คือพิมพ์ขึ้นมาเป็นแบบสองมิติที่มีด้านกว้างกับด้านยาวก่อน แล้วพิมพ์รายละเอียดในส่วนตัดขวางเพิ่มเติมด้วยหมึกแบบพิเศษ ซึ่งในกระบวนการ 3D Bioprinting วัสดุที่นำมาใช้ขึ้นรูปในส่วนตัดขวางนั้นจะมาจากเซลล์เนื้อเยื่อของผู้ป่วยคนนั้น ๆ เพื่อป้องกันการปฏิเสธอวัยวะจากร่างกายของผู้ป่วยเอง ซึ่งเทคโนโลยี ดังกล่าวถือได้เป็นการปฏิวัติครั้งยิ่งใหญ่ของวงการแพทย์ที่สามารถผลิตอวัยวะเทียมขึ้นมาตอบโจทย์ผู้ป่วยที่ขาดแคลนอวัยวะได้โดยไม่ต้องรอการบริจาคอวัยวะอีกต่อไป รวมทั้งยังสามารถนำมาเป็นแบบจำลองในการศึกษาการ
ทำงานของอวัยวะนั้น ๆ ได้อย่างครบถ้วนครอบคลุมอีกด้วย
อวัยวะเทียมจากเทคโนโลยี 3D Bioprinting ที่สำเร็จเป็นชิ้นแรกของโลก คือหัวใจสามมิติที่ผลิตโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวอิสราเอล หัวใจดวงนี้มีความยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร ขนาดพอ ๆ กับหัวใจของกระต่าย ซึ่งเล็กกว่าหัวใจของมนุษย์ประมาณ 4 เท่า แต่มีโครงสร้างการทำงานที่ใกล้เคียงกับหัวใจมนุษย์มาก ซึ่งทีมผู้ผลิตได้นำชิ้นส่วนเซลล์เนื้อเยื่อไขมันของคนไข้ เช่น คอลลาเจน มาใช้เป็นหมึกชีวภาพ สำหรับขึ้นรูปเป็นหัวใจและปรับแต่งเซลล์ให้เป็นสเต็มเซลล์เพื่อพัฒนาเป็นเซลล์หัวใจดวงใหม่ที่ใช้งานได้จริง
ฝั่งประเทศสหรัฐอเมริกา ทีมนักวิจัยจาก Rice University รัฐ Texas ใช้เทคโนโลยี 3D Bioprinting ผลิตปอดสามมิติที่ขนาดเล็กกว่าเหรียญบาทและล้อมรอบไปด้วยเส้นเลือดขนาดจิ๋ว ใช้เป็นแบบจำลองการทำงานของปอดมนุษย์จริง ๆ เพื่อศึกษา และพัฒนาเป็นปอดเทียม หรือถุงลมเทียม สำหรับผู้ป่วยโรคปอดในอนาคต
ทั้งนี้นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Tel Aviv University ประเทศอิสราเอลคาดว่าภายใน 10 ปีข้างหน้า โรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่ทันสมัยทั่วโลกจะมีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ไว้ประจำการเพื่อพิมพ์อวัยวะทดแทนให้กับผู้ป่วยได้ ส่งผลให้ปัญหาการขาดแคลนอวัยวะทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะค่อย ๆ หมดไป และในอนาคตอันใกล้เราอาจจะได้เห็นอวัยวะเทียมที่ผลิตด้วยเทคโนโลยี Bioprinting เพื่อรองรับความต้องการของผู้ป่วยทั่วโลกมากขึ้นเรื่อย ๆRead more >> Health Tech ฮีโร่ปฏิวัติวงการแพทย์