5 เทคโนโลยีเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตในกรุงเทพฯ ได้
หลายคนคงจะเคยได้ยินคำว่า Smart City หรือเมืองอัจฉริยะที่นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน วันนี้ InnoHub จะพาไปรู้จักเบื้องลึกของ Smart City และเทคโนโลยี 5 ด้าน ที่สามารถช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่มีความซับซ้อนไม่แพ้เมืองอื่น ๆ ในโลก
เทคโนโลยีเมืองอัจฉริยะ (Smart City) คืออะไร
เทคโนโลยีเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City คือ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เทคโนโลยี Machine Learning ไปจนถึง Internet of Things (IoT) มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการบริหารจัดการเมือง รวมถึงช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนในชุมชน
มาดูกันว่าเมืองหลวงของประเทศไทยอย่างกรุงเทพมหานคร ที่ยังคงมีความท้าทายหลายประการจะสามารถนำเทคโนโลยีอะไรบ้างมาบรรเทาปัญหาต่าง ๆ ให้พร้อมกลายเป็นหนึ่งใน Smart City แห่งโลกอนาคต
เทคโนโลยีเมืองอัจฉริยะเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาน้ำท่วม
น้ำท่วมเป็นความท้าทายสำคัญที่อยู่คู่กับชาวกรุงเทพฯ มานานหลายปี โดยมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่รับน้ำอย่างทุ่งนาหรือร่องสวนในอดีตหายไปกลายเป็นคอนโดและอาคารสูงใหญ่ หรือระบบท่อระบายที่อุดตัน รวมถึงภัยพิบัติจากธรรมชาติที่มักต้องเผชิญกับพายุฤดูร้อนเป็นประจำอีกด้วย
หนึ่งในวิธีป้องกันและแก้ปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ จึงเป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับใช้เพื่อรวบรวมข้อมูล Big Data ให้สามารถเฝ้าติดตามสถานการณ์และแสดงผลข้อมูลผ่านกราฟและแผนที่แบบเรียลไทม์ เจ้าหน้าที่และประชาชนจะได้ควบคุมและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมได้อย่างทันท่วงทีตัวอย่างเช่น แอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟนที่ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มแจ้งข้อมูลการเปิดและปิดประตูระบายน้ำ สถานะการระบายน้ำ สถานพยาบาล และพื้นที่อพยพ รวมไปถึงระบบการแจ้งเตือนน้ำท่วมอัตโนมัติ ตลอดจนการรับเรื่องร้องเรียนได้ตลอด 24 ชั่วโมง ปัจจุบัน ประเทศไทยได้เริ่มนำเทคโนโลยีเมืองอัจฉริยะเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาน้ำท่วมมาใช้แล้วในจังหวัดนนทบุรี ในโครงการนครนนทบุรี
- 4 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ “ลอนดอน” กลายเป็นเมืองแห่งธุรกิจสตาร์ทอัพ
- Smart City ถอดบทเรียนความสำเร็จ ยกระดับคุณภาพชีวิต
เทคโนโลยีเมืองอัจฉริยะที่เน้นแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5
รู้หรือไม่ว่าในปี 2564 ที่ผ่านมา คนกรุงเทพฯ ได้สูดอากาศดี ๆ เข้าปอดแค่เพียง 90 วันเท่านั้น เทคโนโลยี Smart City ที่เหมาะสมจึงเป็นการนำ AI และ IoT มาปรับใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคุณภาพอากาศ ถึงแม้ว่าระบบตรวจสอบคุณภาพอากาศจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาที่ต้นเหตุของการเกิดมลภาวะ แต่สามารถระบุแหล่งที่มาที่สืบสาวไปยังต้นตอสาเหตุของฝุ่นพิษได้ ซึ่งจะช่วยให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถวางแผนแก้ปัญหาและจัดการได้อย่างเป็นระบบ และตรงจุดมากขึ้น
ตัวอย่างของการจัดการปัญหามลภาวะด้วยเทคโนโลยีที่ดี ได้แก่ กรุงปักกิ่งของจีน ที่ใช้ข้อมูลมาสืบเสาะหาต้นตอของมลภาวะ จนพบว่าปัญหาอยู่ที่การจราจรและการก่อสร้าง ซึ่งเมื่อแก้ปัญหาได้ตรงจุดแล้วก็สามารถลดมลภาวะทางอากาศได้ถึง 20% นอกจากนี้ การแบ่งปันข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศยังช่วยให้ประชาชนสามารถหาแนวทางป้องกันและดูแลสุขภาพตัวเองได้ทัน อีกทั้งยังลดผลกระทบด้านสุขภาพที่จะตามมาได้อีกด้วย
ฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนธันวาคมในปี 2021
เทคโนโลยีเมืองอัจฉริยะที่เน้นแก้ปัญหาน้ำเน่าเสีย
ตัวอย่างของเมืองที่มีการบริการจัดการน้ำเน่าเสียที่ดี คือ สิงคโปร์ เพื่อนบ้านของเรานี่เอง โดยสิงคโปร์เผชิญปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำสะอาดมาโดยตลอด จนต้องมีการวางแผนแก้ปัญหาอย่างจริงจังและตั้งเป้าว่าจะเป็นประเทศที่สามารถนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ได้ถึง 100%
โดยสิงคโปร์มีบริษัทด้านการจัดการน้ำกว่า 100 แห่ง และภาคเอกชนในสิงคโปร์ เช่น บริษัท Darco Water Technologies ยังได้ริเริ่มโครงการวิจัยและปฏิบัติงานด้านการบำบัดน้ำเสียด้วยนวัตกรรมการกรองน้ำแบบ Forward Osmosis (FO) ที่สามารถเปลี่ยนน้ำเสียจากอุตสาหกรรมการผลิตให้กลับมาสะอาดได้อีกครั้ง
นอกจากนี้ กรุงอาบูดาบีของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ก็เป็นหนึ่งในเมืองที่ต้องพึ่งพิงการบริหารจัดการน้ำ เนื่องจากแหล่งน้ำจืดไม่เพียงพอต่อการบริโภคในระยะยาว โดยแหล่งน้ำเพื่อการบริโภคหลักในประเทศมาจากแหล่งน้ำบาดาล และการแปรรูปน้ำทะเลเป็นน้ำจืด โดยในส่วนของการบำบัดน้ำเสียนั้น รัฐบาล UAE กำลังสร้างท่อส่งน้ำขนาดใหญ่ 2 เส้นทาง ที่สามารถจุน้ำได้กว่า 40,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อส่งน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้ว กลับสู่ระบบชลประทาน และแจกจ่ายไปทั่วประเทศ และตั้งเป้าจะเป็นประเทศที่สามารถนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ได้ 100%
เทคโนโลยีเมืองอัจฉริยะที่เน้นแก้ปัญหาอาชญากรรม
หลายคนอาจะเคยได้ยินเกี่ยวกับเทคโนโลยีการพยากรณ์อาชญากรรมล่วงหน้า (Predictive Policing) และการสร้างแผนที่อาชญากรรม (Crime Mapping) ซึ่งรวบรวมเอาข้อมูล Big Data ในฐานข้อมูลประชากรมาวิเคราะห์ เพื่อประเมินผลล่วงหน้า และช่วยให้หน่วยงานด้านความมั่นคงสามารถเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ ตลอดจนวางแผนเพื่อป้องกันและปราบปรามเหตุร้ายต่าง ๆ ได้ เช่น การจัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียน การลาดตระเวน ตลอดจนการเชื่อมโยงการจัดการไฟจราจรเพื่อเปิดทางให้ยานพาหนะพิเศษอย่างรถพยาบาลและรถตำรวจสามารถเดินทางได้อย่างสะดวกเพื่อตอบสนองสถานการณ์เร่งด่วนได้
อย่างไรก็ตาม การจัดการปรามปรามอาชญากรด้วยข้อมูล (Data Driven Policing) ต้องอยู่บนพื้นฐานของการเคารพเสรีภาพของประชน ไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัว สิทธิมนุษยชน และต้องไม่เกี่ยวข้องกับการใช้ข้อมูลอย่างมีอคติต่อชุมชนและกลุ่มคนบางกลุ่มด้วยเชื้อชาติหรือสีผิว
ShotSpotter ซอฟต์แวร์ด้าน Predictive Policing ที่กรมตำรวจนครบาลลาสเวกัส สหรัฐอเมริกา กำลังใช้งาน
เทคโนโลยีเมืองอัจฉริยะที่เน้นแก้ปัญหาการจราจร และอุบัติเหตุบนท้องถนน
กรุงเทพฯ เป็นเมืองใหญ่ที่มีปัญหาการจราจรติดขัดหนาแน่นสูงเป็นอันดับที่ 7 ของเอเชียและอันดับที่ 11 ของโลก แต่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอย่าง IoT แอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟน และการเก็บข้อมูล Big Data เราสามารถวิเคราะห์และแสดงผลความหนาแน่นของเส้นทางเดินรถได้แบบเรียลไทม์ เพื่อแนะนำวิธีการเดินทางที่สะดวกและรวดเร็วกว่า หลีกเลี่ยงเส้นทางแออัด และย่นระยะเวลาการเดินทางหรือการค้นหาที่จอดรถได้
ไม่เพียงเท่านั้น กรุงเทพฯ ยังสามารถเรียนรู้จากเมืองใหญ่อื่น ๆ และนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ ด้วยการเก็บข้อมูลสภาพอากาศ ความเร็วของการเดินรถ และนำมาวิเคราะห์กับสถิติของการเกิดอุบัติเหตุ เพื่อออกแบบเส้นทางการเดินรถและจำกัดความเร็วเพื่อลดอุบัติเหตุ
โดยดูตัวอย่างได้จากโครงการ Vision Zero ในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ใช้เซนเซอร์ตรวจจับสัญญาณจราจร หรือระบบ Traffic Fatalities Prevention จากบริษัท Bismart ประเทศสเปน ที่พัฒนาการใช้ Machine Learning ในการพยากรณ์อุบัติเหตุจากสถิติเพื่อหาแนวทางป้องกันล่วงหน้า
นอกจากนี้ กรุงเทพฯ ยังเหมาะกับการนำระบบ IoT มาปรับใช้กับยานยนต์ เพื่อเก็บข้อมูลตรวจสอบความพร้อมของชิ้นส่วนยานพาหนะแต่ละชิ้น เพื่อให้เจ้าของยานยนต์สามารถวางแผนตรวจสอบ แก้ไข และซ่อมบำรุง ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหารถเสียกลางทางจนเป็นภาระในการเดินทางได้
หลังจากได้ลองดูการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี 5 ด้านหลัก ๆ ที่สามารถนำมาปรับใช้เพื่อช่วยยกระดับให้กรุงเทพฯ ก้าวสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ Smart City แล้ว InnoHub หวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะช่วยจุดประกายให้ทุกคนร่วมมือกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ไปพร้อมกัน เพราะ “เมือง” สร้าง “คน” และ “คน” สร้าง “เมือง”