7 เรื่องสำคัญทางกฎหมายและธุรกิจที่ Startup ควรเรียนรู้ก่อนออกสตาร์ท (บทที่ 1)
เมื่อเริ่มต้นธุรกิจ ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพ ส่วนใหญ่มักจะมุ่งเน้นไปที่การขยายธุรกิจ การวางแผนการตลาดสำหรับสินค้าและบริการ การสรรหาบุคลากร ตลอดจนการหานักลงทุนที่มีศักยภาพและสนใจที่จะร่วมลงทุน โดยในช่วงระยะแรก สตาร์ทอัพ มักจะเร่งให้ธุรกิจเดินหน้าอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้จนมักมองข้ามเรื่องสำคัญที่ควรรู้ก่อนออกสตาร์ท
ในการเจรจากับนักลงทุน ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพ ส่วนมากมักจะลังเลที่จะต่อรองเรื่องสัญญาการลงทุนต่างๆ เนื่องจากกลัวว่าจะเป็นการเรียกร้องที่มากเกินไปจนทำให้นักลงทุนไม่เข้าร่วมสนับสนุน ทำให้บ่อยครั้งผู้ก่อตั้งจึงมักตัดสินใจยอมรับข้อกำหนดการลงทุนที่สร้างภาระและไม่เป็นธรรมแก่ธุรกิจของตน ส่งผลให้ผู้ก่อตั้งยอมรับสัญญาการลงทุนและเอกสารกฎหมายที่สำคัญอื่น ๆ โดยไม่ได้ตรวจสอบให้ดีและไม่ได้เข้าใจกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเพียงพอ ประเด็นทางกฎหมายและภาษีที่สำคัญจึงมักถูกมองข้าม บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งจากการเรียบเรียบเรียงโดยสำนักงานกฎหมาย Kudun & Partners ที่มีขึ้นเพื่อให้คุณมั่นใจว่าปัญหาเหล่านั้นจะไม่เกิดตามมาในภายหลัง เราขอแนะนำให้ผู้ที่สนใจก่อตั้งสตาร์ทอัพ ทำความเข้าใจ 7 เรื่องสำคัญทางกฎหมายและธุรกิจที่สตาร์ทอัพ ควรรู้ตั้งแต่ออกสตาร์ท ดังนี้
1. การเลือกรูปแบบธุรกิจให้เหมาะสม
การระดมทุนถือเป็นขั้นตอนสำคัญสำหรับสตาร์ทอัพ โดยในช่วงระยะเริ่มต้น ครอบครัวและเพื่อนของคุณอาจเป็นผู้ลงทุนหรือให้การสนับสนุนเงินทุน ซึ่งบ่อยครั้งจะมาในรูปของของขวัญหรือการให้กู้ยืมเงิน ในระยะต่อมา เมื่อธุรกิจเติบโตขึ้น ผู้ลงทุนมักคาดหวังที่จะลงทุนในสตาร์ทอัพ ที่เป็นนิติบุคคลในรูปของบริษัทจำกัดเพื่อให้ได้มาซึ่งการถือครองหุ้น ด้วยเหตุผลต่อไปนี้ ผู้ก่อตั้งจึงควรจัดตั้งนิติบุคคลในช่วงแรกของการเริ่มต้นธุรกิจสตาร์ทอัพ ในประเทศไทย รูปแบบธุรกิจที่เหมาะสมที่สุดสำหรับสตาร์ทอัพ คือ
ก.) บริษัทจำกัด ซึ่งมีสภาพเป็นนิติบุคคลและ
ข.) จัดตั้งขึ้นด้วยการแบ่งทุนออกเป็นหุ้น มูลค่าหุ้นละเท่าๆ กัน
ค.) บริษัทจำกัดต้องมีผู้ถือหุ้นอย่างน้อย 3 คน
ง.) ผู้ถือหุ้นจะมีความรับผิดต่อบุคคลภายนอกอย่างจำกัดโดยจะรับผิดไม่เกินมูลค่าหุ้นที่ยังส่งไม่ครบ
เมื่อมีสภาพเป็นนิติบุคคลจะทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นสำหรับการลงทุนในบริษัทมากกว่าธุรกิจแบบบุคคลธรรมดา
2. การตกลงร่วมกันระหว่างผู้ก่อตั้งและผู้ถือหุ้นอื่น
ความขัดแย้งอาจก่อให้เกิดอุปสรรคต่อความสำเร็จของธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเกิดความขัดแย้งตั้งแต่เริ่มต้นสร้างธุรกิจ แล้วคุณจะสามารถลดความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นระหว่างผู้ก่อตั้งและผู้ถือหุ้นอื่นได้อย่างไร วิธีที่สำคัญที่สุดวิธีหนึ่งในการหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น คือ การกำหนดสิทธิ หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ก่อตั้งและผู้ถือหุ้นทั้งหลาย รวมถึงการวางแผนการบริหารจัดการธุรกิจไว้ล่วงหน้า เมื่อได้กำหนดเรื่องที่อาจเป็นประเด็นพิพาทกันในอนาคตที่ระบุในสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นอย่างชัดเจนและครอบคลุมมากเท่าใด ยิ่งเป็นผลดีต่อสตาร์ทอัพ มากเท่านั้น
โดยหลักแล้วสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นที่ดีจะต้องมีความชัดเจน ครอบคลุมและร่างโดยที่ปรึกษากฎหมายที่มีประสบการณ์ในการทำงานกับสตาร์ทอัพ โดยอย่างน้อยที่สุดควรครอบคลุมเนื้อหาดังต่อไปนี้
- สิทธิ หน้าที่และความรับผิดของผู้ถือหุ้น
- การจัดสรรหุ้นและความเป็นเจ้าของในธุรกิจ
- วัตถุประสงค์ของธุรกิจ
- บทบาทและสถานะของกรรมการและผู้ถือหุ้น
- การบริหารจัดการบริษัท
- ข้อกำหนดเกี่ยวกับการประชุมคณะกรรมการและผู้ถือหุ้น
- ข้อกำหนดเกี่ยวกับข้อจำกัดการโอนหุ้น นโยบายการจ่ายเงินปันผล สิทธิในการปฏิเสธก่อน (Rights of First Refusal) สิทธิในการกำหนดให้มีการขายหุ้นร่วมไปด้วย (Tag-Along Right) สิทธิที่จะบังคับให้เข้าร่วมขายหุ้น (Drag-Along Right)
- วิธีการแก้ไขปัญหาเมื่อเกิดข้อพิพาทระหว่างกรรมการและ/หรือผู้ถือหุ้น
- การออกจากธุรกิจ (Exit Strategy) เป็นต้น
- สัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นที่ได้ตกลงร่วมกันจะสามารถช่วยลดความขัดแย้งระหว่างผู้ถือหุ้นได้
3. การวางแผนภาษี
โดยปกติแล้วธุรกิจสตาร์ทอัพ จะมีงบประมาณที่ค่อนข้างจำกัด หากผู้ก่อตั้งไม่เข้าใจเกี่ยวกับการวางแผนภาษีและการจัดทำบัญชีที่เหมาะสม อาจพบกับความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการเสียภาษีอากรไม่ถูกต้อง โดยหลักแล้ว ภาษีเงินได้นิติบุคคลจะกำหนดไว้อัตราสูงสุดไม่เกินร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิ แต่สำหรับสตาร์ทอัพ ซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท จะได้รับยกเว้นภาษีในส่วนกำไรสุทธิ 300,000 บาทแรก และสำหรับกำไรสุทธิส่วนที่เกิน 300,000 บาท แต่ไม่เกิน 3,000,000 บาท จะได้รับการลดอัตราภาษีเหลือร้อยละ 15 ของกำไรสุทธิ นอกจากนี้ สตาร์ทอัพ อาจได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอื่นๆ จากกรมสรรพากร เช่น มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมให้ SME ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) บริษัทที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้าน จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากร
นอกจากนี้ยังมีนโยบายประเทศไทย 4.0 ของทางรัฐบาลที่มีแผนจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจจากระบบที่ขับเคลื่อนด้วยเกษตรกรรมไปสู่เศรษฐกิจที่มุ่งเน้นด้านการพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีและผู้ประกอบการ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Thailand’s Board of Investment หรือBOI) ทำหน้าที่ส่งเสริมและให้สิทธิประโยชน์แก่ธุรกิจสตาร์ทอัพ ทั้งในและต่างประเทศที่มีส่วนร่วมในการพัฒนานวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยี แพลตฟอร์มดิจิทัล E-Commerce การพัฒนาซอฟต์แวร์และอุตสาหกรรมเกี่ยวกับเทคโนโลยีระดับสูงอื่นๆ ซึ่งการอนุมัติโครงการนั้นจะทำให้ ได้รับทั้งสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรหรือสิทธิประโยชน์ที่ไม่เกี่ยวกับภาษีอากร ดังนั้นผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพ ควรได้รับคำปรึกษาทางกฎหมายว่าธุรกิจของตนมีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์จาก BOI หรือไม่ เพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจและเพื่อเป็นแรงจูงใจให้กับนักลงทุนที่สนใจร่วมลงทุน
ผู้เขียน
- ทรอย สกูนเนอร์แมน
ทนายความและหัวหน้าฝ่ายที่ปรึกษากฎหมายธุรกิจสตาร์ทอัพ - คงกช ยงสวัสดิกุล
ทนายความและที่ปรึกษากฎหมายธุรกิจสตาร์ทอัพ - สุชญา ตั้งศิริ
ทนายความและที่ปรึกษากฎหมายธุรกิจสตาร์ทอัพ - ณิชาภัทร อนันตเสรีวิทยา
ทนายความ