แม้อินเทอร์เน็ตจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตยุคดิจิทัลที่ช่วยให้เกิดความสะดวกสบาย แต่บ่อยครั้งมักแฝงมาด้วยภัยอันตรายเช่นกัน โดยเฉพาะบนเว็บไซต์ที่ผิวเผินอาจจะดูเหมือนปลอดภัย แต่กลับมีสิ่งที่เรียกว่า Deep Web และ Dark Web อยู่ วันนี้ตาม InnoHub มาทำความเข้าใจกันดีกว่าว่าเว็บไซต์แต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไร และควรระมัดระวังอันตรายตรงไหนบ้าง
Surface Web คืออะไร
ก่อนอื่นต้องทำความรู้จัก Surface Web หรืออีกชื่อหนึ่งว่า Visible Web กันก่อน ซึ่งก็คือเว็บไซต์ทั่วไปที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ๆ ผ่านซอฟต์แวร์ใช้งานเว็บไซต์ (Web Browser) รวมถึงเครื่องมือค้นหา (Search Engine) อย่าง Google ยกตัวอย่าง เช่น แพลตฟอร์มชื่อดังต่าง ๆ ได้แก่ Facebook YouTube และ Wikipedia เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ความจริงแล้ว Surface Web นับเป็นเพียงส่วนน้อยของเว็บไซต์ทั้งหมดบนโลก โดยเฉลี่ยแล้วคิดเป็นเพียง 4-5% เท่านั้น โดยถือเป็นประเภทของเว็บไซต์ที่ค่อนข้างปลอดภัย ไม่มีอันตรายร้ายแรงมากนัก แม้จะไม่ 100% เพราะผู้บริโภคยังควรต้องระมัดระวังการโจมตีทางไซเบอร์ทั่วไป เช่น การหลอกขโมยข้อมูล (Phishing)
Surface Web เปรียบเสมือนยอดของภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมาให้ผู้คนเห็นได้ง่าย ๆ เท่านั้น
Credit: traversals
Deep Web คืออะไร
เว็บล่องหน หรือ Deep Web คือ เว็บไซต์ที่ไม่สามารถค้นเจอได้ผ่าน Search Engine ทั่วไปที่ผู้คนนิยมใช้กันอย่าง Google หรือ Yahoo โดยอาจแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทย่อย ได้แก่
- หน้าเว็บไซต์ที่ยังไม่ถูกจัดเก็บข้อมูล (Index) เข้าสู่ระบบของ Search Engine นั้น ๆ
- หน้าเว็บไซต์ที่ต้องชำระเงินหรือสมัครสมาชิกก่อนจึงจะสามารถเข้าใช้งานได้ เช่น ซีรีย์และภาพยนตร์ต่าง ๆ บนแพลตฟอร์ม Netflix
- หน้าเว็บไซต์ที่เป็นส่วนตัวหรือเปิดให้เข้าถึงได้เฉพาะบุคคลเท่านั้น เช่น การชำระเงินให้ร้านค้าโดยใช้ PayPal หรือการแบ่งปันภาพใน Dropbox ที่ตั้งค่าให้เฉพาะเพื่อนบางคนมีสิทธิเข้าชมและดาวน์โหลด เป็นต้น
- เว็บมืด หรือ Dark Web
Dark Web คืออะไร
Dark Web หรือ Darknet ถือเป็นส่วนหนึ่งของเว็บไซต์ประเภท Deep Web ที่หลายคนเคยได้ยินชื่อและรับรู้ถึงความอันตราย เว็บประเภทนี้จะสามารถเข้าใช้งานได้ผ่าน Search Engine และ Web Browser ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษเท่านั้น เช่น TOR (The Onion Router) ซึ่งจะช่วยปกปิดตัวตนและที่อยู่ของผู้ใช้งาน ทำให้เนื้อหาต่าง ๆ บน Dark Web มีความเป็นส่วนตัว (Privacy) ไม่ถูกตรวจสอบควบคุมจากหน่วยงานรัฐหรือบริษัทเทคโนโลยีเจ้าของแพลตฟอร์ม
อย่างไรก็ตาม คุณสมบัตินี้ก็เปรียบเสมือนดาบสองคมที่ทำให้ Dark Web กลายเป็นเครื่องมือที่มักถูกนำไปใช้ในเรื่องผิดกฎหมาย เช่น การค้ายาเสพติด การค้าของเถื่อน การค้าอาวุธสงคราม รวมถึงบรรดามิจฉาชีพก็มักใช้เว็บไซต์ประเภทนี้เพื่อเจาะเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวต่าง ๆ เช่น ข้อมูลบัตรเครดิต ข้อมูลลับของบริษัท แล้วนำไปประกาศขายทำกำไร เป็นต้น
ตัวอย่างของ Dark Web ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมากที่สุด คือ Silk Road เว็บไซต์ที่เป็นเหมือนตลาดมืดสำหรับซื้อขายและแลกเปลี่ยนสินค้าผิดกฎหมายหลากหลายประเภท โดยก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2011 ก่อนจะถูก FBI หน่วยงานข่าวกรองและความมั่นคงภายในของสหรัฐฯ สั่งปิดแพลตฟอร์มลงเมื่อปี 2013 พร้อมจับ Ross Ulbricht ผู้ก่อตั้ง Silk Road เข้ารับโทษในคุกตลอดชีวิต
4 ความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่าง Deep Web กับ Dark Web
1. รูปแบบการใช้งาน
Deep Web – แม้จะเป็นเว็บไซต์ที่ไม่ปรากฎในผลการค้นหา แต่ยังสามารถใช้ Search Engine ทั่วไป เช่น Google เพื่อเข้าเยี่ยมชมและใช้งานได้
Dark Web – เป็นเว็บไซต์ที่ต้องเข้าผ่านซอฟต์แวร์ที่สร้างขึ้นโดยเฉพาะเท่านั้น ไม่ถูกพบเจอในการค้นหาบนหน้า Search Engine ธรรมดาทั่วไป
2. ปริมาณเว็บไซต์
Deep Web – มีมากกว่า 200,000 เว็บไซต์ กักเก็บข้อมูลไว้มากถึง 7,500 เทระไบต์ และมี Traffic หรือปริมาณที่ผู้คนเข้าใช้งานโดยเฉลี่ยต่อเดือนแล้วสูงกว่า Surface Web 50%
Dark Web – ไม่สามารถคำนวณได้แน่ชัด แต่ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าน่าจะมีราว 5% ของเว็บไซต์ทั้งหมดบนอินเทอร์เน็ต
3. การใช้ประโยชน์
Deep Web – สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่เข้าใช้งานมีความเป็นส่วนตัวและลดปัญหาข้อมูลรั่วไหล เช่น ระบบ Intranet ที่เปิดใช้งานเฉพาะคนภายในองค์กร รวมถึงธุรกิจต่าง ๆ ที่ทำกำไรจากเนื้อหาบนเว็บไซต์ เช่น สำนักข่าวที่มี Paywall ให้สมัครสมาชิกและชำระเงินก่อนจึงจะอ่านข่าวได้
Dark Web – สร้างขึ้นเพื่อให้ทั้งเจ้าของเว็บไซต์และผู้เข้ามาใช้งานสามารถปกปิดตัวตนของตัวเองได้ จึงสามารถนำไปใช้ในทางที่ถูกกฎหมาย เช่น ผู้ลี้ภัยทางการเมืองใช้เป็นช่องทางติดต่อสื่อสารที่ปลอดภัยจากรัฐบาลเผด็จการ แต่ก็มีข้อเสียคือกลายเป็นเครื่องมือใช้ก่ออาชญากรรมได้เช่นกัน
4. ความปลอดภัย
Deep Web – มีความปลอดภัยสูง ทุกคนเข้าถึงได้อย่างสบายใจ แต่ยังควรต้องระมัดระวังภัยไซเบอร์ที่พบเห็นได้ทั่วไปอยู่เช่นเดิม
Dark Web – องค์กรทั้งภาคธุรกิจและหน่วยงานรัฐต่าง ๆ ต้องคอยระวังและตรวจสอบเว็บไซต์เหล่านี้อยู่เสมอว่าข้อมูลสำคัญของตัวเองรั่วไหลและถูกซื้อขายอยู่หรือไม่ ส่วนผู้บริโภคและประชาชนทั่วไปควรหลีกเลี่ยงการเข้าใช้งาน Dark Web เพราะเสี่ยงทั้งการตกเป็นเหยื่อของไวรัส รวมถึงการไปเกี่ยวข้องกับอาชญากรและการกระทำผิดกฎหมายอีกด้วย
โลกดิจิทัลแม้จะเต็มไปด้วยโอกาสและความสะดวกสบายมากมาย แต่ก็แฝงมาด้วยภัยอันตรายรูปแบบใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุก Deep Web หรือ Dark Web จะมีความเสี่ยงเสมอไป สุดท้ายแล้วการจะชี้ว่าอันตรายหรือไม่ก็ต้องดูจากจุดประสงค์ของการสร้างเว็บไซต์นั้น ๆ เป็นราย ๆ ไป หวังว่าเรื่องราวอีกมุมหนึ่งของเว็บไซต์อย่าง Deep Web และ Dark Web ที่ InnoHub นำมาฝากในวันนี้จะช่วยให้ทุกคนได้รู้เท่าทันเทคโนโลยี และใช้งานเว็บไซต์อย่างระมัดระวังเพื่อลดความเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมทางไซเบอร์