บรรจุภัณฑ์กินได้ ไอเดีย ใหม่เพื่อคนรักษ์โลก

December 25, 2019

บรรจุภัณฑ์กินได้ ไอเดีย ใหม่เพื่อคนรักษ์โลก

           ปัญหาขยะล้นโลก คือปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ก่อตัวมาเป็นเวลานาน และนับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้แนวคิดที่จะลดปริมาณขยะถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายเพื่อต่อสู้กับปัญหานี้ ไม่ว่าจะเป็น Zero Waste ซึ่งสนับสนุนให้นำทรัพยากรมาหมุนเวียนใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด หรือแนวคิดการ ลดใช้พลาสติกซึ่งหลายภาคส่วนร่วมมือกัน เช่น การรณรงค์ให้ประชาชนหันมาใช้ถุงผ้า ห้างสรรพสินค้า และร้านค้าบางแห่งก็เริ่มไม่แจกถุงพลาสติก เป็นต้น

           การคิดค้นบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ 100% หรือแม้แต่บรรจุภัณฑ์ที่สามารถรับประทานได้ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ได้รับความสนใจจากทั้งผู้บริโภค และผู้ผลิตเป็นอย่างมาก เพราะจำนวนพลาสติกที่ถูกใช้แล้วทิ้ง (Single-use plastic) กว่า 40% มาจากพลาสติกประเภทบรรจุภัณฑ์ ลองคิดดูว่าหากเรามีบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ง่าย หรือบรรจุภัณฑ์ที่สามารถรับประทานได้ออกมาใช้งานกันแพร่หลายเพียงพอ จะสามารถลดปริมาณขยะพลาสติก และช่วยโลกได้มากขนาดไหน

           อีกหนึ่งความก้าวหน้าของการคิดค้น และผลิตบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกที่สามารถรับประทานได้ โดยสตาร์ทอัพจากประเทศอังกฤษ ชื่อว่า Skipping Rocks Lab โดยล่าสุดได้สร้างความฮือฮาในการผลิตแคปซูลบรรจุน้ำแบบรับประทานได้ทันที สำหรับงาน London Marathon 2019 การแข่งขันวิ่งมาราธอนที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่งของโลก โดยผู้เข้าร่วมงานนี้ ทุกคนจะได้ทดลองดื่มน้ำจาก “Ooho seaweed capsule” โดยเนื้อแคปซูลผลิตจากสาหร่ายสีน้ำตาลสกัดที่เรียกว่า Alginate ซึ่งสามารถรับประทานได้และย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติภายใน 4-6 สัปดาห์ โดยมีเป้าหมายคือการลดปริมาณขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นระหว่างการวิ่งมาราธอนได้ไม่น้อยกว่า 200,000 ขวด นอกจากนี้แคปซูล Ooho ยังสามารถบรรจุของเหลวชนิดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น น้ำผลไม้ ค็อกเทล หรือซอสปรุงรส เป็นต้น จึงเหมาะกับการใช้งานที่หลากหลาย และสามารถพัฒนาไปเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แทนขวดพลาสติกได้ในอนาคต

           นอกจาก Skipping Rocks Lab ที่นำสาหร่ายมาผลิตที่แคปซูลน้ำแบบรับประทานได้แล้ว ยังมีสตาร์ทอัพจากอเมริกาที่ชื่อว่า ทีชื่อว่า Loliware ซึ่งสนใจวัตถุดิบธรรมชาติอย่างสาหร่ายทะเลเช่นกัน ในปี 2015 ที่ผ่านมา Loliware ผลิตแก้วรับประทานได้จากสาหร่ายทะเลปรุงด้วยสารธรรมชาติที่ให้รสหวาน รวมถึงใช้สี และรสชาติอื่น ๆ ที่มาจากผัก และผลไม้ไม่ว่าจะเป็น เลมอน วนิลา เชอร์รี่ หรือชาเขียว กลายเป็นแก้วที่ดื่มน้ำเสร็จแล้วรับประทานได้เหมือนขนม และถ้าหากเราปล่อยแก้วทิ้งเอาไว้ มันก็จะย่อยสลายได้เองในเวลาเพียง 60 วัน และล่าสุด Loliware ยังได้ต่อยอดผลิตภัณฑ์ของพวกเขา โดยมุ่งเน้นไปที่การลดใช้หลอดพลาสติก โดยพวกเขาได้ออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมาชื่อว่า Lolistraw หลอดแบบรับประทานได้ โดยยังคงใช้สาหร่ายเป็นวัตถุดิบร่วมกับผัก และผลไม้ เช่น มะม่วง กุหลาบ ส้ม วนิลา เพื่อให้หลอดมีสีสัน สวยงาม และมีหลายรสให้เลือกใช้ ตัวหลอดสามารถใช้ดื่มน้ำได้นาน 24 ชั่วโมง และหากปล่อยทิ้งไว้ ตัวหลอดสามารถย่อยสลายได้เองใน 60 วันเช่นกัน

           ประเทศไทยของเราก็ไม่น้อยหน้า บริษัท กัญจนาพร(สยาม) จำกัด จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นผู้ผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ข้าวอยู่แล้ว เกิดไอเดียการแปรรูปข้าว และพืชตามธรรมชาติมาผลิตเป็นหลอดแบบรับประทานได้โดยที่ไม่เป็นอันตราย เพราะทำมาจากพืชตามธรรมชาติอย่าง ข้าว, ข้าวโพด, มันสำปะหลัง และบุก เป็นต้น และที่สำคัญยังมีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยคุณสมบัติของหลอด คือ ทนร้อนทนเย็น สามารถแช่ในน้ำร้อนได้นานถึง 35 นาที และสามารถแช่ในน้ำเย็นหรือน้ำอุณหภูมิปกติได้นานถึง 12 ชั่วโมง โดยที่ยังคงรูปเดิม และสามารถรับประทานได้หลังจากหลอดนิ่ม จากการแช่น้ำนาน 3 – 5 นาที และหากปล่อยทิ้งไว้ จะใช้เวลาย่อยสลายเองตามธรรมชาติประมาณ 30 วัน โดยราคาจำหน่ายของหลอดนี้ก็ย่อมเยา เพียงหลอดละ 1 บาทเท่านั้น ทั้งนี้ ทางผู้ผลิตยังวางแผนที่จะพัฒนาหลอดให้มีสีสันสวยงาม โดยใช้สีได้จากพืชอื่นๆ เช่น สีส้มจากแครอท หรือสีม่วงจากดอกอัญชัน รวมถึงวางแผนขยายกำลังการผลิตให้เพียงพอต่อการส่งออกในอนาคต ซึ่งนอกจากจะเป็นการลดขยะพลาสติกแล้ว ยังถือเป็นการช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรไทยอีกด้วย

           ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ที่กล่าวมาถือได้ว่าเป็นสัญญาณที่ดี ที่บรรดาผู้ผลิตเห็นความสำคัญของการลดขยะพลาสติก และเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค ขณะเดียวกันภาครัฐของไทยเองก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ด้วยการแก้ปัญหาในระดับนโยบาย เช่น งดแจกถุงพลาสติกตามห้างร้านต่างๆ ซึ่งช่วยลดปริมาณถุงพลาสติกไปได้ถึง 2,000 ล้านถุงในปีที่ผ่านมา รวมถึงตั้งเป้าจะยกเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งให้ได้ภายในปี 2568 อย่างไรก็ตามการแก้ไขปัญหาขยะล้นโลก อย่างยั่งยืนก็ยังคงเป็นภารกิจใหญ่ที่ต้องใช้ทั้งเวลา ทั้งนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่ายอย่างเต็มกำลังจึงจะสำเร็จอ่านเพิ่มเติม >> หนทางสู่อนาคตที่ไร้มลพิษ..กับโซล่าเซลล์โปร่งใส

Share this article

Subscribe to InnoHub!

Stay updated and inspired

เรานำข้อมูลมาใช้เพื่อการส่งมอบคอนเทนต์และบริการอย่างเหมาะสม เราจะปกป้องความเป็นส่วนตัวของคุณ คุณสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Privacy Policy และคลิกสมัครเพื่อดำเนินการต่อ