มองตาก็รู้ใจ(ลูกค้า) ด้วยเทคโนโลยี Eye-Tracking ในระบบ VR
การแข่งขันในโลกธุรกิจนับวันจะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ แต่ละองค์กรต่างงัดกลยุทธ์เด็ดช่วงชิงความได้เปรียบทางการตลาด เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปกติแล้วธุรกิจจะแข่งขันกันสามด้านใหญ่ๆ คือ ความเร็ว คุณภาพ และต้นทุน นอกจากนี้เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน พฤติกรรมการบริโภคก็เปลี่ยนไปด้วย การเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอดและประสบความสำเร็จได้
เทคโนโลยี Eye-Tracking ใน Virtual Reality ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นอาหาร กีฬา หรือการแพทย์ เพื่อหาโซลูชั่นในการวิเคาะห์การตลาด เรียนรู้พฤติกรรมของผู้บริโภค และให้ประสบการณ์ที่เหนือกว่า (Customer Experience) ลองเปรียบเทียบกับการทำวิจัยแบบเดิมที่เราต้องมานั่งเก็บข้อมูลจากตัวเลขและสถิติ ซึ่งอาจใช้ระยะเวลานานและมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก กรณีศึกษาล่าสุดจากแบรนด์อาหารเช้า Kellogg ในสหรัฐอเมริกา ร่วมมือกับ Accenture บริษัทที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และ Qualcomm ได้นำเทคโนโลยี Eye-Tracking มาใช้กับผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ Pop Tarts Bites เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคและการเลือกหยิบสินค้า อันนำไปสู่การจัดวางผลิตภัณฑ์ในร้านค้า ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงกับยอดขาย การทดลองเริ่มจากให้ผู้ใช้สวมแว่นเสมือนจริง ที่จำลองสถานกาณ์ว่าเรากำลังเลือกซื้อของอยู่ในร้านค้า โดยทำการทดลองสองครั้งด้วยกัน
(รูปจาก https://www.youtube.com/watch?v=meT_FEMeB4w)
ในการทดลองครั้งแรกได้วาง Pop Tarts Bites บนชั้นวางด้านบนซ้ายมือ พร้อมกับป้ายบอกโปรโมชั่น พบว่าผู้บริโภคสะดุดตากับป้ายโปรโมชั่นก่อน จากนั้นเริ่มกวาดสายตามองไปยังผลิตภัณฑ์อื่นที่วางอยู่ใกล้กัน และกลับมาจ้องที่ตัว Pop Tarts Bites อีกครั้งและนานที่สุด ผลลัพธ์ก็คือคนมักจะมองหาสินค้าใหม่ๆ ที่อยู่ชั้นวางด้านบน
การทดลองครั้งที่สองได้วาง Pop Tarts Bites บนชั้นวางด้านล่างขวามือ พบว่าผู้บริโภคมองไปยังป้ายโปรโมชั่นก่อน จากนั้นจึงค่อยๆ กวาดสายตาไปมองสินค้าตัวอื่นๆ เหมือนกับการทดลองครั้งแรก แต่ผลลัพธ์ที่ได้ต่างกันตรงที่การจัดวางในลักษณะนี้ทำให้สินค้าที่วางอยู่รอบๆ ได้รับความสนใจไปด้วย และช่วยเพิ่มยอดขายให้ผลิตภัณฑ์อื่นเพิ่มขึ้น 18%
(รูปจาก https://www.youtube.com/watch?v=meT_FEMeB4w)
จากการทดลองนี้พิสูจน์ว่า Eye-Tracking ทำให้แบรนด์เข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคได้อย่างแม่นยำ ช่วยประหยัดเวลาในการวิจัยและรวบรวมข้อมูล ซึ่งก็คือการประหยัดต้นทุนนั่นเอง ประกอบกับมีการบ่งชี้ว่า 70% ของตัวรับสัญญาณสัมผัสร่างกายมนุษย์นั้นอยู่ที่การมอง ด้วยการทำงานของ Eye-Tracking ที่ใช้วัดการเคลื่อนไหวของลูกตา การขยายของม่านตา ไม่ว่าจะมองไปทิศทางไหน หรือจากซ้ายไปขวา บนลงล่าง หรือตำแหน่งไหนที่ไม่มองเลย จึงสามารถนำมาทดสอบเพื่อเป็นแนวทางให้แบรนด์แก้ไขการจัดวางสินค้าได้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ศึกษากลยุทธ์ของคู่แข่ง และช่วยกระตุ้นยอดขายได้
ทั้งนี้ยังสามารถนำ Eye-Tracking มาประยุกต์ใช้กับงานด้านอื่นๆ เช่น การออกแบบบรรจุภัณฑ์ หรือนำมาพัฒนาระบบ User Experience และ Usability บนเว็บไซต์ขององค์กรต่างๆ อย่างธนาคารได้ โดยเก็บข้อมูลการเคลื่อนไหวการกรอกสายตาตอบโต้กับเว็บไซต์ ส่วนไหนที่ดึงความสนใจที่สุด เพื่อนำมาวิเคราะห์ว่าควรเพิ่มเนื้อหาหรือออกแบบหน้าตาของเว็บไซต์อย่างไรให้น่าอ่าน อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีที่ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคยังมีอีกมากมาย และสามารถปรับใช้ได้กับธุรกิจหลายประเภท ต้องคอยติดตามกันต่อไปว่าคราวหน้าเราจะนำเสนอเทคโนโลยีว้าวๆ อะไรอีก
อ่านเพิ่มเติม >> Emotional AI เข้าใจลูกค้า…ใช้ในธุรกิจไหนก็รุ่ง