5 เทรนด์เทคโลยีในอุตสาหกรรมการเงิน ครึ่งปีหลัง 2019

July 2, 2019

5 เทรนด์เทคโลยีในอุตสาหกรรมการเงิน ครึ่งปีหลัง 2019

           ปี 2019 นี้ นับเป็นปีที่วงการอุตสาหกรรมการเงินคึกคักและมีความตื่นตัวกันเป็นอย่างมากในเรื่องนวัตกรรม มีการหยิบยกเทคโนโลยีอย่าง Big Data และ AI เข้ามาใช้กันอย่างกว้างขวาง และยังมีไอเดียแปลกใหม่ปรากฏขึ้นมาให้เห็นกันเรื่อยๆด้วยบทบาทที่มากขึ้นของสตาร์ทอัพฟินเทค ในครึ่งปีหลังนี้ จะมีเทรนด์อะไรน่าจับตามองบ้าง ลองค้นหากันได้ในบทความนี้เลย

1. เพิ่มขีดความสามารถ เพื่อร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่

           บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่อย่าง LINE, Alibaba, หรือ Flipkart ของอินเดียนั้นเป็นเจ้าของนวัตกรรมล้ำสมัยและมีเครือข่ายผู้ใช้งานจำนวนมาก การร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่ธุรกิจการเงินจะได้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆที่ครบวงจร และช่วยให้ธุรกิจการเงินได้เชื่อมต่อกับชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น จึงคาดว่าสถาบันการเงินทั้งหลายจะเริ่มพิจารณากันมากขึ้นถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ การปรับใช้ และเงื่อนไขที่ต้องแก้ในการสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้น

2. มีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้นในทุกส่วน เพื่อสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้า เพื่อช่วยให้พนักงานทำงานง่ายขึ้น และเพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ

           ในครึ่งปีหลังของปี 2019 นี้ จะมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมการเงินอย่างเข้มข้นมากขึ้นในทุกส่วน และปัจจัยที่ทำให้เป็นเช่นนั้นก็มาจากการที่เทคโนโลยีใหม่พัฒนามาถึงจุดที่สามารถทำงานได้หลากหลายและมีประสิทธิภาพ และการเปิดกว้างจากธนาคารแห่งประเทศไทย

           ในช่วงปีแรกที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยมีประกาศที่น่าจับตามองออกมา 2 ฉบับ ฉบับแรกคือการอนุญาตให้ธนาคารใช้ข้อมูล Biometrics เช่น ภาพถ่ายใบหน้าและภาพสแกนลายนิ้วมือ ในการเปิดบัญชีธนาคารได้ โดยจะเริ่มใช้งานจริงในไตรมาสที่ 3 นี้ ประกาศฉบับนี้ทำให้เราพอจะมองเห็นแนวโน้มว่าจะมีการใช้ข้อมูล Biometrics เพื่อยืนยันตัวตนในการทำธุรกรรมอื่นๆในอนาคตอันใกล้

           ฉบับที่สองคือการประกาศสนับสนุนให้ธนาคารมี Sandbox เป็นของตัวเองเพื่อทดสอบนวัตกรรมที่มีลักษณะนอกเหนือจากที่ถูกกำหนดให้ต้องทดสอบใน Regulatory Sandbox กลาง ซี่งจะเปิดกว้างให้ธนาคารได้ทดลองนวัตกรรมที่อิสระและหลากหลายมากขึ้นภายใต้ความดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย

           ด้านเทคโนโลยีอย่าง AI และ Big Data ก็จะไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไป และสถาบันการเงินจะหยิบยกเทคโนโลยีเข้ามาช่วยงานมากขึ้นเรื่อยๆในทุกส่วน ในอนาคตอันใกล้ AI และ Big Data จะถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างประสบการณ์ในการใช้งานที่ตรงใจ การดูแลและให้ข้อมูลกับลูกค้า การแนะนำผลิตภัณฑ์ การแนะนำการลงทุนด้วย Robo Adviser การออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ การตั้งราคาให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้ใช้ ไปจนถึงการเข้ามาช่วยให้การดำเนินการของพนักงานธนาคารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเพื่อการนี้ ธุรกิจการเงินจะเริ่มเก็บข้อมูลทุกอย่างโดยละเอียดละออมากขึ้น เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ตอบโจทย์ลูกค้าให้ดีที่สุดนั่นเอง

3. สตาร์ทอัพ – จาก Disruptor เป็น Collaborator

           สตาร์ทอัพด้าน FinTech นั้นเมื่อครั้งเกิดขึ้นแรกๆ มักถูกมองว่าเป็นผู้เล่นที่เข้ามาเป็นคู่แข่งโดยตรงของธุรกิจของสถาบันการเงินดั้งเดิมอย่างธนาคาร ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป ธนาคารเริ่มเล็งเห็นถึงความคิดสร้างสรรค์และพลังการเปลี่ยนแปลงของสตาร์ทอัพฟินเทค ในขณะเดียวกัน สตาร์ทอัพฟินเทคก็ให้ความสนใจที่จะร่วมมือกับธนาคารเพื่อผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ของพวกเขาถูกใช้ในวงกว้างมากขึ้น ส่ิงที่เราจะได้เห็นกันมากขึ้นจึงเป็นการจับมือกันของทั้งสองฝ่าย และโปรเจกต์ใหม่ๆที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ตรงจุดแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

4. เพิ่มประสิทธิภาพด้วย Automation

           แนวคิดที่กำลังมาแรงมากในแวดวงธุรกิจปัจจุบันนั้นคงจะหนีไม่พ้น Automation หรือการแปลงขั้นตอนให้เป็นระบบอัตโนมัติ เมื่อพูดถึงเทคโนโลยีนี้ สิ่งแรกที่หลายคนอาจนึกถึงคือ Robotic Process Automation (RPA) ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ที่จะแปลงขั้นตอนการทำงานเป็นระบบอัตโนมัติ เช่น แทนที่จะให้พนักงานคอยโอนถ่ายและตรวจสอบข้อมูลด้วยตัวเอง ก็นำบอทเข้ามาช่วยแทน โดยการเข้ามาของเทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยลดการทำงานที่จำเจ และช่วยให้สถาบันการเงินสามารถจัดสรรทรัพยากรบุคคลที่มีอยู่ไปทำงานที่สร้างคุณค่าได้มากกว่า และในขณะเดียวกันก็จะช่วยลดเวลาในการทำงานและข้อผิดพลาดลง

           อีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจของ Automation คือการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการอนุมัติขั้นตอนและตรวจสอบเงื่อนไข โดยเทคโนโลยีที่โดดเด่นในมุมนี้ก็มีได้แก่ AI ที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลแวดล้อมเพื่อตัดสินใจได้อย่างแม่นยำ เช่น การอนุมัติปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าที่มีประวัติดีเยี่ยมโดยอัตโนมัติ และ Smart Contract ซึ่งสามารถตรวจสอบเงื่อนไขในการเข้าสู่ลำดับขั้นต่อไป เช่น การดำเนินการต่อในขั้นตอนถัดไปทันทีเมื่อตรวจสอบพบว่าเอกสารการค้าที่ธนาคารได้รับมานั้นครบถ้วนถูกต้องตามเงื่อนไขแล้ว

5. มุ่งตอบโจทย์ SMEs มากขึ้น

           ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมนั้นเป็นภาคส่วนที่มีบทบาทมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและมีความท้าทายหลายอย่างที่สถาบันการเงินให้ความสนใจ และเมื่อสถาบันการเงินมีเครื่องมือดิจิทัลที่ดีพร้อมมากขึ้น พวกเขาก็จะรุกคืบในกลุ่มนี้มากขึ้นไปอีก คาดว่าในครึ่งปีหลังของปี 2019 นี้ เราจะได้เห็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่ออกแบบขึ้นมาเพื่อ SMEs โดยเฉพาะ โดยผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะใช้เทคโนโลยี AI, Big Data, และอื่นๆ เข้ามาขจัดปัญหาเดิมที่เคยเผชิญ เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลและใช้ AI ช่วยตัดสินใจในการปล่อยสินเชื่อ บริการเสริมจากธนาคารที่จะช่วยให้ SMEs ทำงานได้อย่างเป็นระบบมากขึ้นอย่างระบบจัดการบัญชี เป็นต้น

———–

           2019 เป็นอีกปีที่เทคโนโลยีดิจิทัลเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนการทำงานของธนาคาร ความมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมของธนาคารกรุงเทพได้ก่อให้เกิด ‘Bangkok Bank InnoHub’ โครงการ Startup Accelerator ด้านฟินเทคระดับโลกแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งสะท้อนการดำเนินกลยุทธ์ด้านธนาคารดิจิทัลที่เน้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการสร้างสรรค์และพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ ตอบสนองความต้องการของลูกค้าในปัจจุบัน ในโลกที่หมุนเร็วกว่าเดิมเช่นทุกวันนี้ ก็ต้องคอยติดตามกันอย่างใกล้ชิดว่าจาก 5 เทรนด์ข้างต้น เหล่าสถาบันการเงินจะมีผลิตภัณฑ์อะไรออกมาให้ได้ใช้งานกันบ้าง for the real world.

อ่านเพิ่มเติม >> TechFin ความท้าทายใหม่ แวดวงการเงิน

Share this article

Subscribe to InnoHub!

Stay updated and inspired

เรานำข้อมูลมาใช้เพื่อการส่งมอบคอนเทนต์และบริการอย่างเหมาะสม เราจะปกป้องความเป็นส่วนตัวของคุณ คุณสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Privacy Policy และคลิกสมัครเพื่อดำเนินการต่อ