เมื่อต้นไม้เรืองแสง ไม่ได้อยู่แต่ในเทพนิยาย
บางครั้งวิทยาศาสตร์ก็ทำให้จินตนาการกลายเป็นความจริงได้ ตั้งแต่นำคนไปเหยียบดวงจันทร์ เปลี่ยนลมให้กลายเป็นไฟฟ้า และตอนนี้นักวิทยาศาสตร์กำลังสร้างต้นไม้ที่สามารถเรืองแสงยามค่ำคืนเพื่อใช้แทนไฟถนนได้… แล้วเราจะสามารถอ่านหนังสือใต้แสงจากต้นไม้เรืองแสงได้หรือไม่ มาดูความเป็นก้าวหน้ากัน!
แน่นอนว่าจุดเริ่มต้นของเทคโนโลยีนี้ คือ ธรรมชาติ นักวิทยาศาสตร์จาก MIT เริ่มศึกษาสิ่งมีชีวิตที่มีคุณสมบัติสามารถเรืองแสงได้ เช่น หิ่งห้อย สาหร่ายทะเลชนิดพิเศษที่เรียกว่า Noctiluca Algae หรือแม้แต่แมงกะพรุนบางชนิด คุณสมบัติการเรืองแสงดังกล่าวเรียกว่า Bioluminescence ซึ่งเกิดขึ้นมาจากปฏิกิริยาทางเคมีของเอ็นไซม์ที่มีชื่อว่า Luciferase ทำให้เกิดการเรืองแสงขึ้นได้โดยไม่ต้องอาศัยพลังงานไฟฟ้า ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ใช้เทคโนโลยีนาโน แทรกซึมเอ็นไซม์และโมเลกุลขนาดเล็กของหิ่งห้อยหรือสาหร่ายทะเล (Algae) เข้าไปในโครงสร้างของพืชจนสามารถเรืองแสงอ่อนๆ ในความมืดติดต่อกันได้ประมาณ 4 ชั่วโมง ซึ่งขณะนี้ได้มีการทดลองจนเป็นผลสำเร็จกับพืช 4 ชนิดแล้ว ได้แก่ อลูกูล่า ร็อคเก็ต, ผักโขม, เคล และผักสลัดน้ำ
ซึ่งแน่นอนว่าวิทยาการนี้มีข้อจำกัด และอุปสรรคมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความท้าทายของการนำโมเลกุลสิ่งมีชีวิตมารวมกับพืช โดยไม่ทำให้โครงสร้างของพืชเสียหาย และแม้จะสามารถทำให้พืชเรืองแสงสำเร็จ แต่แสงที่ได้ยังสว่างไม่มากพอ และยังไม่สามารถผลิตแสงได้นานพอสำหรับการใช้งานจริง นอกจากนั้นยังมีข้อกังขาจากวงการชีววิทยาที่กล่าวว่าการสร้างต้นไม้เรืองแสงอาจส่งผลต่อระบบนิเวศและสัตว์ต่างๆ ที่ต้องการต้นไม้เป็นที่พักพิง
แม้ว่าตอนนี้ความฝันของต้นไม้เรืองแสง อาจจะยังอยู่ในห้องทดลอง แต่หากสามารถใช้ได้จริงนักวิทยาศาสตร์คาดเดาว่าจะสามารถใช้ต้นไม้เรืองแสงแทนไฟถนนได้ โดยจะสามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ สู่ชั้นบรรยากาศในเมืองใหญ่ได้ถึง 40,000 ตันต่อปี พร้อมทั้งประหยัดค่าใช้จ่ายมหาศาล… ตอนนี้ต้นไม้เรื่องแสงอาจเป็นแค่ต้นเล็กๆ ที่สร้างไฟสีเขียวอ่อนๆ แต่ไม่แน่ ในอนาคตถนน ของเราอาจสว่างไสวด้วยต้นไม้เรืองแสงก็เป็นได้!