คืนคุณภาพชีวิตให้คนไร้บ้านด้วย Blockchain และ Big Data

June 25, 2019

คืนคุณภาพชีวิตให้คนไร้บ้านด้วย Blockchain และ Big Data

“บ้านคือรากฐานของความมั่นคงในชีวิต”
           หลายคนคงเคยได้ยินคำกล่าวนี้มาบ้าง ซึ่งสะท้อนถึงค่านิยมว่าบ้านคือสิ่งที่แสดงถึงฐานะและชนชั้นทางสังคม ทำให้การมีบ้านสักหลังเป็นเป้าหมายหนึ่งของชีวิต ในทางกลับกันบนโลกนี้ยังมีอีกหลายล้านคนที่ไม่มีที่อยู่อาศัย หรือที่เราเรียกกันว่า “คนไร้บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีข้อมูลที่สามารถระบุตัวตนได้ ทำให้ต้องตกอยู่ในสถานภาพ “ไร้ตัวตน” ปราศจากสิทธิขั้นพื้นฐานและสวัสดิการที่จะได้รับจากรัฐบาล

โลกของคนไร้บ้าน
           ปัญหาคนไร้บ้านถูกยกให้เป็นประเด็นสำคัญในหลายประเทศ แม้แต่มหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ต่างก็เผชิญกับปัญหานี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เห็นได้จากผลสำรวจของโครงการ Continuums of Care ในปี 2018 พบว่าในสหรัฐฯ มีจำนวนคนไร้บ้านสูงถึง 552,830 คน โดยนิวยอร์กครองอันดับ 1 ซึ่งคนเหล่านี้มักจะอาศัยหลับนอนอยู่ตามสถานีรถไฟ สวนสาธารณะ และริมถนน อาจดำรงชีพด้วยการเล่นดนตรีเปิดหมวก ร้องเพลง หรือแสดงความสามารถพิเศษ นอกจากนี้จำนวนคนไร้บ้านมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ อันเนื่องมาจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นตกงาน ความยากจน หรือการลี้ภัย นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเมืองต่างๆ จึงหันมาใช้เทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหา

บทบาทของ Blockchain
           บริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน ในเมือง Austin ในรัฐ Texas ร่วมกับทีมวิจัยจาก Dell Medical School ได้พัฒนา Blockchain จนเกิดเป็นระบบ My Pass Austin แพลตฟอร์มรวบรวมข้อมูลยืนยันตัวตนของประชากร ซึ่งทีมนักวิจัยได้ทดลองกับกลุ่มคนไร้บ้านจำนวน 50 คน เพื่อรวมรวมข้อมูลพื้นฐานที่กระจัดกระจายหรือตกหล่นไปให้อยู่ในชุดข้อมูลเดียวกัน เช่น ใบแจ้งเกิด ประวัติประกันสุขภาพ บัตรยืนยันประจำตัวผู้เสียภาษี และใบขับขี่ ข้อมูลเหล่านี้จะถูกบันทึกไว้อย่างปลอดภัยมากกว่าการเก็บข้อมูลบนระบบอื่นหรือบนกระดาษ และสามารถกำหนดความเป็นส่วนตัวของการเข้าถึงข้อมูลได้ด้วยตัวเอง คนไร้บ้านจะได้รับสิทธิเข้าถึงสวัสดิการ เช่น ที่พักอาศัย แสตมป์แลกอาหาร และความช่วยเหลือทางการแพทย์ ได้ทันที

           ประโยชน์ของ Blockchain นอกจากจะยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไร้บ้านแล้ว ยังทำให้องค์กรให้ความช่วยเหลือคนไร้บ้านได้สะดวกและรวดเร็ว อย่างกรณีของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR ได้เริ่มใช้ private blockchain ระบบที่สงวนให้คนภายในองค์กรใช้งานได้เท่านั้น นำมาใช้แก้ปัญหาผู้อพยพชาวซีเรียในประเทศจอร์แดน ด้วยวิธีสแกนม่านตา เพื่อบันทึกข้อมูลของผู้อพยพ และระบบ ‘Eye Pay’ หรือการสแกนม่านตาเพื่อชำระค่าอาหารและสินค้ากับร้านค้าที่ร่วมมือกับองค์กร และองค์กรเหล่านี้จะเป็นผู้ชำระเงินให้กับร้านค้าในภายหลัง

Big Data
           ในขณะที่ฝั่งยุโรปอย่างประเทศอังกฤษก็ไม่น้อยหน้า สภาเทศบาลเมือง Luton ในกรุงลอนดอน ร่วมมือกับ Policy in Practice และ UsCreates บริษัทพัฒนาซอฟท์แวร์เพื่อสวัสดิการทางสังคม ใช้เทคโนโลยี Big Data และ Predictive Analytics หรือการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงทำนาย เพื่อพยากรณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้น โดยใช้ข้อมูลที่ได้เกิดขึ้นจริงแล้ว เช่น บันทึกการเสียภาษี เงินช่วยเหลือจากรัฐบาลสำหรับผู้มีรายได้น้อย หรือประกันสุขภาพ เพื่อวิเคราะห์ล่วงหน้าว่าประชากรคนไหนมีความเสี่ยงที่จะเป็นบุคคลไร้บ้าน ซึ่งเป็นโครงการที่คาดว่าจะช่วยลดจำนวนคนไร้บ้านที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ได้ โดยผู้ขอคำปรึกษาจะได้รับบริการช่วยเหลือภายในระยะเวลา 56 วัน จะเห็นได้ว่าสาเหตุที่ Big Data เป็นเทคโนโลยีที่ถูกนำมาแก้ปัญหานี้ได้เพราะสามารถจัดเก็บชุดข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อนอย่างเป็นระบบ แล้วนำมาประมวลผล เพื่อใช้แปลความหมายและสรุปข้อเท็จจริงที่ใช้ในการทำนายข้อมูล

           ถึงแม้ว่าปัญหาคนไร้บ้านยังคงเป็นเรื่องน่ากังวล แต่ก็น่ายินดีที่เทคโนโลยีมีบทบาทในการแก้ปัญหาทางสังคมมากขึ้น อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชนอีกด้วย เราจึงควรต้องติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิดและปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

Share this article

Subscribe to InnoHub!

Stay updated and inspired

เรานำข้อมูลมาใช้เพื่อการส่งมอบคอนเทนต์และบริการอย่างเหมาะสม เราจะปกป้องความเป็นส่วนตัวของคุณ คุณสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Privacy Policy และคลิกสมัครเพื่อดำเนินการต่อ