แม้ว่าโลกจะพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด แต่อุตสาหกรรมการเกษตรและชีวิตของเกษตรกรในหลายพื้นที่ทั่วโลกกลับยังต้องเผชิญความยากจนอย่างต่อเนื่อง ข่าวดีคือเทคโนโลยีการเงินสุดล้ำอย่าง FinTech หลายประเภทสามารถช่วยยกระดับทั้งคุณภาพผลผลิตและรายได้ของผู้คนในภาคส่วนนี้ ให้ดียิ่งขึ้นได้กว่าที่เคย แต่จะเป็นไปได้อย่างไรนั้น ติดตามอ่านด้านล่างได้เลย
ความท้าทายในอุตสาหกรรมการเกษตร
แม้ปัจจุบันโลกของเราจะก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีพัฒนาอย่างก้าวกระโดดและมีนวัตกรรมล้ำ ๆ มากมายที่ช่วยให้ผู้คนได้ใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายยิ่งกว่าเดิม แต่เรื่องพื้นฐานอย่างการทำเกษตรกรรมและการผลิตข้าวปลาอาหารที่เป็นปัจจัย 4 กลับยังคงเต็มไปด้วยความท้าทายหลายข้อที่รอให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกันแก้ไขอย่างเร่งด่วน
หนึ่งในนั้นคือเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ที่ส่งผลกระทบแง่ลบหลายด้านให้เกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นการเก็บเกี่ยวผลผลิตได้น้อยลง คุณภาพดินและน้ำที่เสื่อมถอย นอกจากนี้ สงคราม ความขัดแย้ง รวมถึงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ยังเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกกว่า 345 ล้านคนต้องเผชิญกับภัยความมั่นคงทางอาหารในปี 2023 ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่สูงขึ้นถึง 2 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2020
สำหรับประเทศไทย แม้ว่าจะชูจุดเด่นในเรื่องการเป็นครัวของโลก แต่ก็ยังมีความท้าทายมากมายในอุตสาหกรรมการเกษตรที่รอการแก้ไข โดยข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ (UN) เผยว่า มีประชากรประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรมากถึง 6.4 ล้านครัวเรือน หรือ 30% ของแรงงานทั้งหมดในไทย แต่รายได้จากภาคส่วนนี้กลับคิดเป็นเพียง 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เมื่อปี 2019
ยิ่งไปกว่านั้น 40% ของเกษตรกรไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อปีน้อยกว่า 32,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจน (Poverty Line) รวมถึง 30% ของเกษตรกรไทยมีหนี้มากกว่ารายได้ และ 40% ของเกษตรกรไทยไม่มีที่ดินเป็นของตัวเองซึ่งทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ ส่วนใหญ่ยังมีอายุระหว่าง 40-60 ปี สวนทางกับจำนวนเกษตรรุ่นใหม่ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ซึ่งกำลังลดน้อยลงเรื่อย ๆ
เทคโนโลยี FinTech ช่วยยกระดับการเกษตรได้อย่างไร
นวัตกรรมในยุคดิจิทัลอย่างเทคโนโลยีการเงิน หรือ FinTech สามารถเข้ามาช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพในหลากหลายมิติ ได้แก่
1. เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน: โดยปกติแล้ว การยื่นขอกู้เงินเพื่อนำมาลงทุนทำเกษตรกรรมกับสถาบันการเงินอาจเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อนและเสียค่าใช้จ่ายเยอะ เช่น ต้องเสียเวลาและค่าเดินทางเพื่อไปยังสำนักงานในตัวเมือง นอกจากนี้ เกษตรกรอาจไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อเพราะไม่มีหลักประกันหรือเครดิตการเงิน (Credit Score) ในระบบ ซึ่ง FinTech สมัยใหม่หลายแห่งได้เล็งเห็นช่องว่างตรงนี้และสามารถเสนอทางเลือก โดยรับพิจารณาประวัติของพื้นที่เพาะปลูก หรือผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ เป็นต้น
2. การทำธุรกรรมที่สะดวกรวดเร็ว: FinTech อย่างแอปพลิเคชัน Mobile Banking ช่วยให้เกษตรกรสามารถทำธุรกรรมต่าง ๆ ทั้ง ฝากเงิน ถอนเงิน หรือรับเงินหลังจากขายสินค้าและผลผลิตได้อย่างง่ายดายทุกที่ทุกเวลาผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยไม่จำเป็นต้องเสียเวลาทำงานดูแลที่ดินของตัวเองในตอนกลางวัน เพื่อไปทำธุรกรรมที่สถาบันการเงิน
3. เป็นเครื่องมือเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร: บริษัทหลายแห่งได้พัฒนาแพลตฟอร์ม FinTech ที่ออกแบบมาเพื่ออุตสาหกรรมการเกษตรโดยเฉพาะ เช่น นอกเหนือจากระบบบริหารจัดการเกี่ยวกับเรื่องการเงินแล้ว ยังมีข้อมูลเรียลไทม์ของสภาพภูมิอากาศ เทรนด์ของตลาดและความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงเคล็ดลับความรู้ด้านการเก็บเกี่ยวผลผลิต เป็นต้น
4. รวบรวมและใช้ประโยชน์จาก Big Data: นวัตกรรม FinTech สามารถช่วยให้เกษตรกรเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงลึกแบบอัตโนมัติเพื่อนำมาวิเคราะห์และพัฒนาธุรกิจของตัวเองต่อไป เช่น ข้อมูลด้านต้นทุนและรายได้ที่ช่วยคาดการณ์กระแสเงินสดในอนาคต หรือข้อมูลยอดขายและกำไรของผลผลิตแต่ละประเภทที่ขายและทำกำไรได้ เป็นต้น
ตัวอย่างบริษัท FinTech ด้านการเกษตร
หนึ่งในบริษัทสตาร์ทอัพด้าน FinTech อันดับต้น ๆ ของประเทศไทย คือ Ricult ซึ่งพัฒนาแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันที่อำนวยความสะดวกให้เกษตรกรเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่ายขึ้น และสถาบันทางการเงินเองก็ได้ประโยชน์ด้วย โดยใช้ข้อมูล Big Data เชิงลึกซึ่งขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี Machine Learning และระบบข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียม เช่น ประวัติการเก็บเกี่ยวผลผลิต หรือกำไรขาดทุน เป็นหลักประกันในการประเมินสินเชื่อเพื่อเกษตรกร และประเมินความเสี่ยงในเกณฑ์อนุมัติที่ปลอดภัยต่อสถาบันการเงิน เป็นต้น
นอกจากนี้ Ricult ยังมีฟีเจอร์อื่น ๆ เช่น ข้อมูลพยากรณ์อากาศ เครื่องมือตรวจวัดพื้นที่ ฯลฯ รวมถึงยังคอยเป็นที่ปรึกษาให้กับเกษตรกร ช่วยให้คำแนะนำ และข้อมูลความรู้ที่เท่าทันเพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตอีกด้วย ปัจจุบัน แพลตฟอร์มของ Ricult ให้บริการในประเทศปากีสถานโดยปล่อยสินเชื่อให้เกษตรกรแล้วเป็นมูลค่ากว่า 1 แสนเหรียญดอลลาร์สหรัฐ และกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาให้เหมาะสมกับตลาดในประเทศไทยด้วยการสนับสนุนและพัฒนาเพื่อนำมาประยุกต์ใช้จริงกับอุตสาหกรรมการเกษตร เทคโนโลยีดิจิทัลอย่าง FinTech ก็สามารถเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่มีศักยภาพ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจ ยกระดับคุณภาพผลผลิต ชีวิตของเกษตรกร พร้อมบรรเทาภัยความมั่นคงทางอาหาร และหล่อเลี้ยงปากท้องของประชากรโลกได้