ยกระดับเมืองน่าอยู่ด้วย IoT
จากนี้ไป IoT จะไม่ได้แค่ทำให้ชีวิตเราสะดวกสบายขึ้นเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่จะยกระดับไปสู่สังคมเมืองในภาคธุรกิจ และภาคส่วนต่างๆ ทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามไปด้วย แต่จะเป็นในเรื่องใดบ้าง ลองอ่านดูครับ
สำหรับใครที่สงสัยว่า IoT คืออะไร? ขออธิบายคร่าวๆ ก่อนว่า ว่า IoT (Internet Of Things) คือ การที่อุปกรณ์ต่างๆ หรือสิ่งต่างๆ ได้ถูกเชื่อมโยงสู่โลกอินเตอร์เน็ต ทำให้เราสามารถสั่งการควบคุมการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้อย่างง่ายดาย ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ เลย คือการที่เราสั่งเปิด-ปิดอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าโดยการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ควบคุม อย่างสมาร์ทโฟน เป็นต้น
นอกจาก IoT จะช่วยเราให้สะดวกสบายขึ้นแล้ว ปัจจุบันมีหลายประเทศเริ่มนำ IoT มาช่วยยกระดับทำให้เมืองน่าอยู่มากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างกรณีที่เรือขนส่งเป็นผู้สร้างมลพิษทางอากาศ ปล่อยสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ถึงร้อยละ 3.5-4 ของโลก เป็นที่มาให้โปแลนด์มีไอเดียนำเทคโนโลยี IoT มาใช้ในการควบคุมมลภาวะทางอากาศที่ท่าเรือขนส่ง Gdansk โดยมีชื่อระบบว่า fPerception ที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบสถานะของมลภาวะจากเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งอยู่ภายในบริเวณท่าเรือ บอกได้ทั้งปริมาณสารพิษที่อยู่ในอากาศ อุณหภูมิ ความชื้น ความเร็วและทิศทางของลม ปริมาณแอมโมเนียและไฮโดรเจน ซัลไฟด์ ระบบ fPerception ตรวจสอบสภาพมลภาวะในอากาศในบริเวณโดยรอบได้แม่นยำแบบ real-time ประมวลผลได้ถึงแหล่งที่มาของปัญหา รวมถึงแจ้งเตือนค่ามลพิษผิดปกติให้กับผู้ที่ทำงานอยู่รอบบริเวณให้หลีกเลี่ยงการทำงานท่ามกลางมลภาวะได้อีกด้วย
ขณะเดียวกันเทคโนโลยี IoT ก็เข้ามาช่วยควบคุมคุณภาพน้ำ โดยมีระบบ Swatchpaani มาช่วยควบคุมคุณภาพน้ำที่ถูกปล่อยมาจากท่อน้ำทิ้งของโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งคิดค้นและพัฒนาโดย Indian Institute of Information Technology and Management – Kerala (IIITM-K) และ IBM ที่จะคอยตรวจสอบค่า pH และสารเคมีในน้ำอย่างต่อเนื่องเพื่อให้แน่ใจว่าไม่เกินระดับมาตรฐานตามที่กำหนด โดยระบบจะทำการตรวจสอบคุณภาพน้ำด้วยแผงควบคุมสัญญาณและเซ็นเซอร์แบบเรียลไทม์
เทคโนโลยี IoT ไม่ได้เพียงแค่ช่วยควบคุมมลพิษ แต่ยังเป็นตัวช่วยในการดำเนินชีวิต ที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เมืองที่มีการจราจรหนาแน่นที่สุดเมืองหนึ่งของโลก มีการใช้ระบบจอดรถอัตโนมัติอัจฉริยะที่ชื่อว่า LA ExpressPark โดยระบบจะทำการวิเคราะห์ข้อมูลคาดการณ์หาพื้นที่ว่างในการจอดรถ พร้อมคำนวณราคาที่จอดแบบเรียลไทม์ให้ สะดวกสบายแบบไปถึงแล้วได้ที่จอดทันที ขณะที่เมืองรอตเทอร์ดาม เนเธอร์แลนด์ บริษัท Nedap ทำงานร่วมกับ Deutsche Telekom เปิดตัว Park and Joy แอพให้บริการหาที่จอดรถและจองที่จอดได้ล่วงหน้าฟรี แบบไม่ต้องขับหาที่จอดรถให้เสียเวลา โดยจะเสียค่าธรรมเนียมให้กับเมือง ในแต่ละครั้งที่ใช้งานแอพเพียง 19 เซ็น (ประมาณ 7 บาท) ประเทศไทยเองก็ได้ยกระดับประเทศด้วยการนำเทคโนโลยี IoT นี้มาใช้ ไม่ว่าในการเกษตร การคมนาคมและสาธารณสุข ซึ่งจากผลการสำรวจของ the Asia IoT Business Platform ชี้ว่าองค์กรขนาดใหญ่ของไทยมีการนำโซลูชันด้าน IoT มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างนวัตกรรมสูงสุดเมื่อเทียบกับอีก 5 ประเทศในภูมิภาคเดียวกัน (อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม) แต่ในอนาคต IoT ในไทยจะก้าวไปได้ไกลแค่ไหน ต้องติดตามกันต่อไป
เรียนรู้เพิ่มเติม >> IoT (Internet of Things) ขยับเข้ามาใกล้กว่าที่คิด ดีกับชีวิตเราอย่างไร?