สตาร์ทอัพ E-Sports ที่น่าจับตามองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
หนึ่งในปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาของเทคโนโลยีดิจิทัล คือ E-Sports การแข่งขันกีฬารูปแบบใหม่ที่นําผู้เล่นมาประลองกันในสนามรบออนไลน์ พร้อมมอบเงินรางวัลที่อาจมีมูลค่าสูงที่สุดมากถึง 90 ล้านบาท ให้เป็นรางวัล
การแข่งขัน E-Sports ก็มีความคล้ายคลึงกับกีฬาทั่วไปที่มีกฏกติกาของแต่ละเกม และสามารถแข่งได้ทั้งรูปแบบเดี่ยวหรือทีม และยังแบ่งประเภทตามระดับฝีมือ เช่น มือสมัครเล่น กึ่งอาชีพ และมืออาชีพ อีกด้วย
เนื่องจากวงการ E-Sports เป็นวงการที่เผยแพร่ผ่านทางสื่อออนไลน์เป็นหลัก จึงเป็นธรรมดาที่แฟนคลับนับล้านคนทั่วโลกจะหลั่งไหลเข้ามาดูการแข่งของทีมโปรด จนทําให้เกิดตลาดใหม่ที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและเติบโตไปพร้อมกับอุตสาหกรรมเกมต่อไป
แวดวง E-Sports ใน SEA เป็นอย่างไรบ้าง
ปัจจุบัน E-Sports หรือ Electronic Sports คือกีฬาแนวใหม่ที่คนจำนวนมากทั่วโลกต่างนิยมชมชอบ รวมถึงผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) โดยรายงานจาก Google Temasek และ Bain & Company เมื่อปี พ.ศ. 2562 คาดการณ์ว่าธุรกิจเกมออนไลน์ภายในภูมิภาคนี้จะเติบโตต่อเนื่องจนมีมูลค่าสูงถึงกว่า 1 พันล้านบาทในปี พ.ศ. 2568
สำหรับประเทศไทย อุตสาหกรรมเกม โดยเฉพาะอย่างยิ่งแอปพลิเคชันเกมบนโทรศัพท์มือถือ นับว่าเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 19 ของโลก มีมูลค่ามากถึง 29,000 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2563 และกำลังเติบโตโดยเฉลี่ย 14% ต่อปี โดยมีผู้เล่นจำนวนมากถึง 32 ล้านคนเลยทีเดียว
สตาร์ทอัพ E-Sports ใน SEA ที่น่าสนใจ
เห็นได้ชัดเจนว่า E-Sports มีศักยภาพในการเติบโตสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งก็เร่งให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีรูปแบบใหม่จากสตาร์ทอัพจำนวนมากเช่นกัน ได้เวลาที่เราจะมาสำรวจกันแล้วว่า จะมีบริษัทไหนในอุตสาหกรรมแห่งโลกอนาคตนี้ที่น่าสนใจบ้าง
สตาร์ทอัพของชาวไทยที่เน้นบริการจัดอีเวนต์และการแข่งขัน E-Sports โดยได้รับการสนับสนุนเงินลงทุนจาก KK Group บริษัท Venture Capital (VC) ชั้นนำในประเทศสิงคโปร์
Infofed ได้เริ่มจัดการแข่งขัน University E-Sports Championship ที่เปิดให้นักกีฬาระดับมหาวิทยาลัยในกลุ่มประเทศ CLMVT ได้แก่ กัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมียนมา เวียดนาม และ ไทย ได้เข้าร่วมแสดงฝีมือแล้ว
นอกจากนี้ Infofed ยังวางแผนจะสร้าง eArena เว็บแอปพลิเคชันสำหรับการแข่งขัน E-Sports ออนไลน์ที่อนุญาตให้ผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกสามารถร่วมเข้าการแข่งได้ เพื่อขยายธุรกิจให้เติบโตในภูมิภาคนี้และจะนำเทคโนโลยีเสมือนจริงอย่าง Virtaul Reality (VR) และ Augmented Reality (AR) มาพลิกโฉมประสบการณ์การแข่งขันเกมออนไลน์อีกด้วย
สตาร์ทอัพ E-Sports จากประเทศสิงคโปร์ที่ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2560 ที่ปัจจุบันดูแลนักกีฬามืออาชีพกว่า 60 คน อินฟลูเอนเซอร์และนักสร้างคอนเทนต์ชื่อดังกว่า 50 ราย รวมถึงได้จัดการแข่งขันเกมออนไลน์แล้วในหลายประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
EVOS ระดมทุนสำเร็จในรอบ Series A เป็นจำนวนเงินกว่า 136 ล้านบาท เพื่อนำไปต่อยอดธุรกิจด้านการบริหารจัดการอินฟลูเอนเซอร์ของอุตสาหกรรมเกม ซึ่งสามารถสร้างเม็ดเงินมหาศาลได้จากการถ่ายทอดสดการเล่นเกม (Live Streaming) และพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อนำเสนอคอนเทนต์เกี่ยวกับเกมต่อไป
สตาร์ทอัพสัญชาติมาเลเซียที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2559 บริษัทแห่งนี้จัดกิจกรรมและการแข่งขันเกมออนไลน์มาแล้วมากกว่า 100 ครั้ง ทั้งยังขยายธุรกิจต่อยอดไปเป็นบริการให้คำปรึกษา เช่าอุปกรณ์ และรับจัดอีเวนต์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเกมในมาเลเซียอีกด้วย
Kitamen ยังสร้าง “Dojo” ซึ่งเป็นเหมือนศูนย์รวมคนรักเกมเอาไว้ทั่วประเทศมาเลเซีย เพื่อให้พวกเขาได้เข้ามาร่วมทำกิจกรรม แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างกันเพื่อพัฒนาวงการ E-Sports ให้เติบโตต่อไป
- ถอดบทเรียนสำคัญที่สตาร์ทอัพไทยรุ่นใหม่ต้องรู้!
- การรักษากระแสเงินสดทางรอดสำหรับสตาร์ทอัพในยุคโควิด-19
E-Sports ยังเติบโตได้อีกมาก
นอกจาก E-Sports จะมอบความสนุกสนานให้กับทั้งผู้เข้าแข่งขันและผู้ชมทั่วโลกแล้ว ก็ยังช่วยฝึกทักษะด้านการวางแผน การทำงานร่วมกับทีม และสร้างสังคมรวมถึงมิตรภาพใหม่ ๆ ที่สำคัญ อุตสาหกรรมยุคดิจิทัลนี้ยังสามารถสร้างอาชีพและสร้างรายได้เข้าประเทศอีกด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น โอกาสในการพัฒนานวัตกรรมหรือธุรกิจในวงการ E-Sports ก็ยังมีอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยีการแข่งขัน การตลาดและคอมมูนิตี้ หรือการผลิตคอนเทนต์ สำหรับประเทศไทย ภาครัฐก็ยินดีสนับสนุนอุตสาหกรรมเกมด้วยงบประมาณกว่า 400 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2565 อีกด้วย
ได้ยินอย่างนี้แล้ว นวัตกร (Innovator) หรือเจ้าของกิจการคนไหนที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจและไอเดียทางธุรกิจก็สามารถระดมทีมกับเพื่อน ๆ และมาร่วมกันช่วยพัฒนาวงการ E-Sports ของเราให้ก้าวไกลยิ่งกว่าเดิม