4 เทคโนโลยีป้องกันน้ำท่วมที่มีศักยภาพในการบรรเทาปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ

มิถุนายน 22, 2022

4 เทคโนโลยีป้องกันน้ำท่วมที่มีศักยภาพในการบรรเทาปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ

ฤดูฝนกับปัญหาน้ำท่วมนั้นเป็นของคู่กันมาแต่ไหนแต่ไร โดยเฉพาะในเมืองหลวงของไทยอย่างกรุงเทพมหานครที่มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะและกว่า 35% ของพื้นที่ทั้งหมดเป็นจุดเสี่ยงภัยน้ำท่วม วันนี้ InnoHub จึงขอพาทุกคนไปสำรวจ 3 เทคโนโลยีจากทั่วโลกที่อาจช่วยให้เรารับมือกับน้ำท่วมในกรุงเทพฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

NOAQ Tubewall 

เทคโนโลยี NOAQ Tubewall จากบริษัท NOAQ ประเทศสวีเดน มีหลักการทำงานคล้าย ๆ กับสระว่ายน้ำเป่าลม กล่าวคือ เมื่อใช้อุปกรณ์เติมลมเข้าไปในท่อสีแดงให้พองโตและนำไปติดตั้งบนพื้น น้ำท่วมที่ไหลบ่ามาจะกดทับส่วนชายกระโปรงของท่อเอาไว้ ไม่ล้นออกไปจากส่วนกำแพงลมจนสร้างความเสียหายให้บ้านพักและทรัพย์สิน 

NOAQ Tubewall นี้มีจุดเด่นคือสามารถติดตั้งได้ง่ายและรวดเร็วเพราะมีน้ำหนักเบากว่าอุปกรณ์ป้องกันน้ำท่วมธรรมดา เช่น กระสอบทรายหรือการก่ออิฐ หลายเท่าตัว เหมาะเป็นอย่างยิ่งกับการป้องกันน้ำท่วมเฉียบพลันแบบชั่วคราว นอกจากนี้ ยังสามารถพับเก็บเพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำใหม่อีกครั้งได้อย่างสะดวกสบายอีกด้วย

Credit: Flood Control International

ULTISuDS

ULTISuDS คือคอนกรีตสุดล้ำที่สามารถดูดซับน้ำได้ และคิดค้นโดยบริษัทวัสดุก่อสร้างชื่อดัง Lafarge Tarmac จากประเทศอังกฤษ นวัตกรรมนี้คือการพัฒนาต่อยอด Porous Concrete หรือคอนกรีตพรุน ซึ่งผ่านการริเริ่มพัฒนามาตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1800 โดย ULTISuDS มีความพิเศษแตกต่างจากคอนกรีตทั่วไป คือ สร้างขึ้นจากวัสดุต่าง ๆ เช่น หิน กรวด และทราย คล้ายกับคอนกรีตธรรมดา แต่ปรับขนาดและปริมาณของส่วนผสมเหล่านี้ให้มีความพรุนสูงมากจนสามารถดูดซับน้ำท่วมขังบนพื้นลงสู่ใต้ดินได้

สำหรับผลิตภัณฑ์ ULTISuDS นั้นมีอัตราการไหลซึมของของเหลว หรือ สภาพนำน้ำ (Hydraulic Conductivity) มากถึง 5000 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง (mm/hr) ซึ่งสามารถรับมือกับปริมาณน้ำจากพายุฝนที่แย่ที่สุดของอังกฤษกว่า 100 มิลลิเมตรต่อชั่วโมงได้แบบสบาย ๆ 

อย่างไรก็ตาม ULTISuDS เหมาะกับการติดตั้งในบริเวณที่มีสภาพการจราจรไม่คับคั่งมากนัก เช่น ลานจอดรถ ทางเดินเท้า หรือถนนในหมู่บ้าน เพราะคอนกรีตที่มีความพรุนสูงมักรองรับน้ำหนักและแรงดันจากรถบรรทุกขนาดใหญ่ได้ไม่เท่าคอนกรีตธรรมดานั่นเอง หากใครอยากเห็นว่าคอนกรีตอัจฉริยะนี้ทำงานอย่างไร คลิกที่วิดีโอนี้เลย 

AquaFence

เทคโนโลยี AquaFence หรือ กำแพงป้องกันน้ำท่วม จากประเทศนอร์เวย์ ได้รับการรับรองจากศูนย์ควบคุมพลังงานและทรัพยากรน้ำของนอร์เวย์ (The Norwegian Water Resources and Energy Directorate: NVE) ให้เป็นอุปกรณ์ป้องกันน้ำท่วมที่มีประสิทธิภาพและใช้งานได้จริง โดยมีนวัตกรรม Self Stabilized Design ที่ใช้แรงดันของปริมาณน้ำท่วมเพื่อตรึงกำแพงให้ตั้งอยู่กับพื้นได้อย่างมั่นคง

AquaFence ติดตั้งและเคลื่อนย้ายได้อย่างง่ายดาย เพียงนำกำแพงมาเรียงต่อกันเป็นแนวยาว กางกำแพงให้ตั้งฉาก เปิดใช้งานตัวล็อคทั้งสองข้างเพื่อเชื่อมกำแพงแต่ละส่วนให้ติดกัน เท่านี้ก็พร้อมป้องกันน้ำท่วมได้แล้ว โดยหากต้องการติดตั้งกำแพงความยาว 100 เมตรภายในเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ใช้ทีมงานแค่ 6 – 8 คนเท่านั้น

หลังจากน้ำท่วมได้ระบายออกไปหมดแล้ว คุณยังสามารถจัดเก็บกำแพง AquaFence อย่างสะดวกสบายได้ภายในระยะเวลาใกล้เคียงกัน แถมยังสามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ได้กว่า 60 ครั้ง หากใครต้องการชมวิธีการทำงานแบบเต็ม ๆ คลิกที่วิดีโอนี้เลย 

Credit: AquaFence

สวนสาธารณะที่โดดเด่นด้านการจัดการน้ำ 

นวัตกรรมการสร้างสวนธารณะที่ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำได้ไม่เพียงแต่ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ แต่ยังเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ชาวเมืองทุกคนได้ทำกิจกรรมกลางแจ้งและสูดอากาศที่สดชื่นขึ้นอีกด้วย โดยหนึ่งในตัวอย่างของการออกแบบสวนดังกล่าวคือ อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นั่นเอง

สวนสาธารณะนี้เป็นฝีมือของคุณกชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิกชาวไทยและผู้ก่อตั้งบริษัท LANDPROCESS ซึ่งอธิบายแนวคิดเบื้องหลังนวัตกรรมนี้ว่า เธอคำนึงถึงอนาคตของกรุงเทพฯ ในอีก 100 ปีข้างหน้าที่อาจเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและภัยน้ำท่วม จึงออกแบบสวนให้ด้านหนึ่งมีลักษณะลาดเอียงเพื่อเก็บน้ำฝนไว้ใช้ 

เครดิต: https://adaymagazine.com/draft-31

นอกจากนี้ พื้นที่ชุมน้ำ (Wetland) ด้านข้างของอุทยานยังสามารถรองรับน้ำฝนได้อีกด้วย บริเวณพื้นที่เป็นปูนก็ใช้คอนกรีตรูพรุน หรือ Porous Concrete เพื่อให้น้ำซึมลงดิน รวมถึงยังสร้างทางระบายน้ำไร้ท่อที่มีพืชเล็ก ๆ คอยรองรับและดูดน้ำฝนที่เหลือบนพื้นเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

Credit: Landprocess

นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ประเทศไทยมีบุคลากรเก่ง ๆ ที่สามารถคิดค้นนวัตกรรมสมัยใหม่อย่างสวนสาธารณะสำหรับบริหารจัดการน้ำท่วมจนได้รับรางวัลจากองค์การสหประชาชาติ (UN) 

หากเราลองศึกษาต่อยอดพร้อมประยุกต์ใช้เทคโนโลยีป้องกันน้ำท่วมแขนงอื่น ๆ จากทั่วทุกมุมโลกอย่างสม่ำเสมอ ปัญหาอุทกภัยในกรุงเทพฯ ก็คงจะคลี่คลายลงได้อย่างแน่นอน

Share this article

กดติดตาม InnoHub

เพื่อรับข้อมูลข่าวสารและแรงบันดาลใจด้านนวัตกรรมใหม่ ๆ

เรานำข้อมูลมาใช้เพื่อการส่งมอบคอนเทนต์และบริการอย่างเหมาะสม เราจะปกป้องความเป็นส่วนตัวของคุณ คุณสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Privacy Policy และคลิกสมัครเพื่อดำเนินการต่อ