5 อาชีพที่ปัญญาประดิษฐ์ AI อาจเข้ามาแทนที่มากที่สุดในอนาคต

กรกฎาคม 7, 2021

5 อาชีพที่ปัญญาประดิษฐ์ AI อาจเข้ามาแทนที่มากที่สุดในอนาคต

ปัจจุบันเทคโนโลยีพัฒนาอย่างรวดเร็วและเข้ามาอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันของพวกเราในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) ซอต์ฟแวร์บนระบบคอมพิวเตอร์ที่สามารถเรียนรู้งานและทักษะประเภทต่าง ๆ ได้อย่างเฉลียวฉลาดราวกับมนุษย์ เช่น AlphaGo ปัญญาประดิษฐ์ที่เอาชนะเซียนโกะระดับโลกได้สำเร็จเมื่อไม่กี่ปีก่อน

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบอีกด้านหนึ่งของ AI คือ การจ้างงานในโลกธุรกิจจะเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) คาดการณ์ว่าเทคโนโลยีอาจเข้ามาแทนที่งานจำนวนมากถึง 85 ล้านตำแหน่งทั่วโลกภายในปี พ.ศ. 2568  และเมื่อบวกกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หลายองค์กรก็ยิ่งเร่งพัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของตัวเองอย่างรวดเร็ว

InnoHub รวบรวมตำแหน่งงาน 5 ประเภทที่อาจโดนแทนที่ด้วยปัญญาประดิษฐ์เป็นลำดับแรก ๆ เพื่อให้ทุกคนได้เตรียมพร้อมรับมือกับโลกอนาคตอันใกล้ที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมล้ำยุคจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตของพวกเรามากกว่าที่เคย

1. อาชีพแคชเชียร์

ห้างสรรพสินค้าและร้านค้าจำนวนมากได้เพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการซื้อสินค้าด้วยระบบจ่ายเงินอัตโนมัติมากขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ เรายังมุ่งหน้าเข้าสู่สังคมไร้เงินสดกันผ่านการทำธุรกรรมบนโทรศัพท์มือถือในแอปพลิเคชันประเภทต่าง ๆ เช่น กระเป๋าเงินออนไลน์อย่าง Rabbit LINE Pay และ โมบายแบงก์กิ้งอย่าง Bangkok Bank Mobile Banking หรือผ่านการสแกน QR Code แค่เพียงไม่กี่วินาที จึงส่งผลให้อาชีพแคชเชียร์มีความสำคัญน้อยลงตามไปด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น เทคโนโลยีที่ทันสมัยยังทำให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าด้วยตัวเองได้อย่างง่ายดายโดยไม่ต้องพึ่งความช่วยเหลือจากพนักงานอีกแล้ว  ในประเทศสหรัฐอเมริกา ร้านสะดวกซื้อ Amazon Go ไม่มีแคชเชียร์คอยให้บริการคิดเงินลูกค้า แต่ระบบคอมพิวเตอร์จะตรวจสอบสินค้าที่ถูกหยิบใส่รถเข็นและตัดเงินเมื่อลูกค้าเข็นรถผ่านที่กั้นโดยอัตโนมัติทันที

2. อาชีพคนขับรถสาธารณะ

เทคโนโลยี AI โดยเฉพาะยานยนต์ไร้คนขับจะเข้ามาแทนที่ผู้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่และรถบรรทุกกว่า 98% ในอนาคต นอกจากนี้ ผลสำรวจพบว่า 55% ของธุรกิจตั้งเป้าว่าจะใช้เทคโนโลยีนี้อย่างเต็มรูปแบบภายในอีกยี่สิบปีข้างหน้า ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคกว่า 41% ก็สนใจที่จะนั่งรถโดยสารไร้คนขับเช่นกัน

ปัจจุบัน หลายประเทศทดลองใช้ระบบรถแท็กซี่ไร้คนขับแล้ว เช่น Waymo ในสหรัฐอเมริกา รวมถึงรถบรรทุกไร้คนขับ เช่น TuSimple ที่เพิ่งประสบความสำเร็จในการขนส่งสินค้าอย่างรวดเร็วมากกว่าเดิมถึง 10 ชั่วโมง ทั้งนี้ เทคโนโลยีดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อแรงงานหลายสิบล้านคนทั่วโลกในอนาคต เพราะแค่เพียงสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวก็มีผู้ขับรถบรรทุกจำนวนมากกว่า 1.7 ล้านคนแล้ว

3. อาชีพกรรมการตัดสินกีฬา

กรรมการตัดสินในกีฬาต่าง ๆ เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่มีความเสี่ยงจะถูก AI เข้ามาแทนที่เนื่องจากการแข่งขันกีฬาในปัจจุบันเริ่มหันมาใช้เทคโนโลยีดังกล่าวให้ช่วยตัดสินคะแนนได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องแม่นยำตามกฎกติกามากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

ยกตัวอย่าง เช่น เมื่อปี พ.ศ. 2562 สหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ (FIFA) ใช้เทคโนโลยีผู้ช่วยผู้ตัดสินวิดีโอ (Video Assistant Referees: VAR) ร่วมกับระบบ AI ในการแข่งขัน World Cup เพื่อช่วยบันทึกภาพในบริเวณสำคัญอย่างหน้ากรอบเขตโทษ ทำให้กรรมการตรวจสอบได้ชัดเจนว่าผู้เล่นคนนั้นล้ำหน้าหรือไม่ และป้องกันไม่ให้นักกีฬาใช้เทคนิคส่วนตัวเพื่อหลบเลี่ยงกรอบกติกานั่นเอง

 4. อาชีพพนักงานขนส่งสินค้า

แม้ว่าปัจจุบันเราจะพบเห็นพนักงานขนส่งสินค้าอยู่บ่อยครั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา แต่ทว่าในอนาคต เทคโนโลยี AI อาจจะเข้ามาทำหน้าที่นี้แทนมนุษย์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความสะดวกรวดเร็ว ลดต้นทุนของภาคธุรกิจ และป้องกันความผิดพลาดในระบบขนส่งสินค้า

เทคโนโลยีดังกล่าวสามารถเข้ามามีบทบาทได้ตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนสุดท้าย โดยอาจใช้หุ่นยนต์และเครื่องจักรรับสินค้าแทนพนักงาน ตรวจเช็คที่อยู่จัดส่ง ใส่เลขติดตามพัสดุ และออกไปส่งสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภคหน้าประตูบ้านเลยทีเดียว นอกจากนี้ บริษัทอาจเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงได้อีกด้วย

5. อาชีพลูกค้าสัมพันธ์

สมัยนี้เวลาเข้าใช้งานเว็บไซต์ เราจะเห็นหลายบริษัทเริ่มใช้แชทบอท (Chatbot) ซึ่งเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถตอบคำถามและโต้ตอบบทสนทนากับลูกค้าได้อย่างคล่องแคล่ว ด้วยความที่แชทบอทเป็นระบบ AI มันจึงไม่มีวันหยุดพักและดูแลช่วยเหลือทุกคนได้ตลอด 24 ชั่วโมง

นอกจากนี้ เทคโนโลยี AI ยังสามารถช่วยจัดการงานที่มีลักษณะซ้ำซ้อนได้เป็นอย่างดี เช่น Google Assistant สามารถโทรหาร้านตัดผมเพื่อนัดหมายและพูดคุยกับพนักงานร้านให้คุณได้แล้ว

ด้วยข้อดีมากมาย เช่น ความคุ้มค่าในการลงทุนระยะยาว ประหยัดเวลาในการตอบคำถามเดิม ๆ ซ้ำไปมา ไม่ต้องปล่อยให้ลูกค้ารอนาน และยังสามารถนำข้อมูลเชิงลึกไปพัฒนาประสบการณ์ของลูกค้า เราจึงได้เห็นตัวเลขมูลค่าของตลาดซอฟต์แวร์ด้านลูกค้าสัมพันธ์ (CRM) มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 3.7 ล้านล้านบาทในปี พ.ศ. 2563 และยังคงมีแนวโน้มที่จะเป็นเทคโนโลยียอดนิยมในอนาคต จากอัตราการเติบโตเฉลี่ย 11% ต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 – 2570

Share this article

กดติดตาม InnoHub

เพื่อรับข้อมูลข่าวสารและแรงบันดาลใจด้านนวัตกรรมใหม่ ๆ

เรานำข้อมูลมาใช้เพื่อการส่งมอบคอนเทนต์และบริการอย่างเหมาะสม เราจะปกป้องความเป็นส่วนตัวของคุณ คุณสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Privacy Policy และคลิกสมัครเพื่อดำเนินการต่อ