“วงการเทคโนโลยีไม่ใช่ที่สำหรับผู้หญิง” เป็นความเชื่อผิด ๆ อันเป็นที่แพร่หลายมาอย่างยาวนาน รายงาน Global Gender Gap ฉบับล่าสุดของ World Economic Forum ชี้ให้เห็นว่าวงการไอทีนับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีอัตราส่วนของผู้หญิงน้อยกว่าผู้ชายมากที่สุด ความเหลื่อมล้ำนี้ส่งผลให้ผู้หญิงที่ทำงานอยู่ในวงการเทคโนโลยี ต้องเผชิญกับความท้าทายอันแสนสาหัสอย่าง “อคติทางเพศ” หรือ ความเชื่อที่ว่าผู้หญิงทำงานในสายเทคโนโลยีได้ไม่เก่งเท่ากับผู้ชาย
อย่างไรก็ตาม หากเราลองย้อนดูตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันก็จะพบว่ามีผู้หญิงอยู่หลายคนทีเดียวที่ช่วยขับเคลื่อนวงการเทคโนโลยีอย่างมีนัยสำคัญ ตัวอย่างเช่น Hedy Lamarr นักแสดงสาวผู้คิดค้นเทคโนโลยีรับส่งสัญญาณที่เรียกว่า Frequency Hopping ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของ WiFi และนวัตกรรมออนไลน์อื่น ๆ อีกนับไม่ถ้วน หรือจะเป็น Susan Wojcicki อดีต CEO ของ YouTube ผู้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ พ.ศ. 2549 จนถึง พ.ศ. 2566 และทำให้ยอดผู้เข้าชมต่อเดือนบนแพลตฟอร์มทะลุ 2.5 พันล้านคนในที่สุด
ถึงแม้ว่าในยุคปัจจุบันนี้ บริษัทต่าง ๆ จะสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น ด้วยการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้เข้ามาทำงาน หรือเป็นผู้นำในวงการเทคโนโลยี ทว่าหนทางนี้ยังคงอีกยาวไกล หลายอย่างยังคงต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ความเท่าเทียมทางเพศที่แท้จริงเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมนี้
รายงาน Global Gender Gap ยังระบุไว้ด้วยว่าในวงการ STEM หรือ วงการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ทั่วโลก มีผู้หญิงอยู่เพียง 28.2% เท่านั้น ซึ่งนับว่ายังคงห่างไกลจากคำว่า “ความเท่าเทียมทางเพศ” อยู่มาก และจำนวนบุคลากรผู้หญิงที่มีอยู่เพียงน้อยนิดในวงการเทคโนโลยีนี้ก็มีแต่จะส่งผลให้ผู้หญิงยิ่งลังเลที่จะเข้ามาทำงานในวงการนี้มากขึ้นไปอีก เนื่องด้วยขาดบุคคลตัวอย่างที่จะนำมาเป็นแรงบันดาลใจ ส่งผลให้เป็นไปได้ยากที่จะจินตนาการภาพของตัวเองทำงานในวงการเทคโนโลยี
บริษัทเทคโนโลยีด้านการฝึกฝนพนักงาน Skillsoft ได้เปิดเผยว่า ผู้หญิงในวงการเทคโนโลยีมากถึง 31% กำลังอยู่ในช่วงพิจารณาการลาออกจากงานภายในช่วง 12 เดือนนี้ เนื่องด้วยเหตุผลหลัก ๆ อย่างการขาดการฝึกฝนเพื่อพัฒนาทักษะ และเงินเดือนที่ได้น้อยกว่าพนักงานที่เป็นผู้ชาย นอกจากนี้ กว่า 85% ของผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 500 คน ยังบอกอีกด้วยว่ามีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศในทีมของตน
ถึงแม้ในปัจจุบันวงการเทคโนโลยีจะมีการเปิดโอกาสให้กับผู้หญิงมากขึ้น แต่การจะแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศที่หยั่งร่างลึกอยู่ในวงการนี้มาอย่างยาวนานได้ ต้องอาศัยการสนับสนุนและความใส่ใจจากบริษัทต่าง ๆ เป็นอย่างมาก เพื่อจะช่วยให้ผู้หญิงมีโอกาสได้พัฒนาทักษะที่สำคัญ และก้าวหน้าไปเป็นผู้นำได้ทัดเทียมกับผู้ชาย โดยผู้นำหลายคนของวงการได้เสนอวิธีการแก้ไขความไม่เท่าเทียมทางเพศในวงการเทคโนโลยีมา 3 ข้อหลัก ได้แก่
- ให้โอกาสทุกเพศอย่างเท่าเทียม
บริษัทควรสร้างความเท่าเทียมทางเพศด้วยการพิจารณาจ้างบุคลากรทั้งเพศชายและเพศหญิงในสัดส่วนที่เท่า ๆ กัน รวมถึงส่งเสริมบุคลากรด้วยการจัดให้มีพนักงานผู้หญิงในระดับอาวุโส ทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำปรึกษาแก่พนักงานหญิงที่มาใหม่ เพื่อให้พนักงานอาวุโสได้มีโอกาสแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่ง และเส้นทางอาชีพ ที่รอพนักงานใหม่อยู่ข้างหน้า ซึ่งอาจทำให้พวกเขามีแรงบันดาลใจที่จะอยู่ในวงการที่มีการแข่งขันอย่างดุเดือดเช่นนี้ได้
- จัดคอร์สฝึกฝนทักษะให้กับพนักงานหญิง
ผลสำรวจของบริษัทซอฟต์แวร์ Pluralsight พบว่า แม้แต่ผู้หญิงที่ทำงานอยู่ในทีมซอฟต์แวร์ก็ยังมีโอกาสพัฒนาทักษะในด้าน AI น้อยกว่าผู้ชาย เนื่องจากผู้หญิงมักรู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับการสนับสนุนในที่ทำงาน และกลัวที่จะถูกตัดสินอย่างรุนแรง หากลองทำอะไรใหม่ ๆ แล้วผิดพลาด ดังนั้น การจัดคอร์สฝึกฝนทักษะให้กับพนักงานหญิงจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เพื่อเปิดโอกาสให้พวกเขาได้พัฒนาตนเอง และก้าวหน้าในหน้าที่การงานได้ทัดเทียมกับผู้ชาย
- ให้เวลาทำงานที่ยืดหยุ่นได้
มาตรการทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) ที่เกิดขึ้นในยุคโควิด เป็นประโยชน์อย่างมากต่อพนักงานที่อยู่ในองค์กร โดยเฉพาะกับพนักงานที่เป็นผู้หญิง เนื่องจากทำให้พนักงานสามารถเลือกเวลาทำงานที่เหมาะสมกับตนเองที่สุด และมีเวลาที่จะไปจัดการกับปัญหาอื่น ๆ ในชีวิต ส่งผลให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น บริษัทต่าง ๆ จึงควรพิจารณาใช้มาตรการนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานให้แก่พนักงานหญิง
แม้จะมีความท้าทายมากมาย แต่การก้าวหน้าของเทคโนโลยีก็นำมาซึ่งโอกาสให้แก่ผู้หญิงเช่นกัน โดยผลสำรวจจากเว็บไซต์ Accenture ได้พบว่า ผู้หญิงในสหราชอาณาจักรกว่า 75% มีความสนใจใน GenAI นี่จึงอาจเป็นโอกาสที่ดีที่จะเปลี่ยนแปลงวงการเทคโนโลยีให้ผู้หญิงได้มีบทบาทมากขึ้น แต่ความเท่าเทียมทางเพศที่แท้จริงก็จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากบริษัทต่าง ๆ ไม่เอาจริงเอาจังที่จะเปลี่ยนแปลงวงการนี้ไปสู่ความหลากหลายทางเพศ ด้วยการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้เข้ามามีบทบาท ร่วมสร้างนวัตกรรมที่ยุติธรรม และเท่าเทียม