การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) คือการเปลี่ยนแปลงจากการใช้พลังงานฟอสซิลแบบดั้งเดิม เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ไปสู่พลังงานหมุนเวียนและแหล่งพลังงานที่สะอาดกว่า อย่างพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานน้ำ การเปลี่ยนแปลงนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาที่เผชิญกับความท้าทายหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนทรัพยากร การพึ่งพิงพลังงานฟอสซิล และโครงสร้างพื้นฐานที่ยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ แล้วประเทศที่กำลังพัฒนาจะรับมือกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานอย่างไร
อินเดีย
อินเดียเป็นหนึ่งในประเทศที่มุ่งเน้นการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่พลังงานหมุนเวียนอย่างจริงจัง ตัวอย่างที่เด่นชัดคือโครงการ Rewa Ultra Mega Solar Plant ในรัฐ Madhya Pradesh ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ที่สุดในอินเดียที่ตั้งอยู่ในจุดเดียว ครอบคลุมพื้นที่กว่า 1,500 เฮกตาร์ และมีกำลังการผลิตรวม 750 เมกะวัตต์ โครงการนี้ไม่เพียงเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศ แต่ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 1.3 ล้านตันต่อปี โครงการ Rewa ยังได้รับการยอมรับในระดับโลกและได้รับทุนสนับสนุนจาก World Bank’s Clean Technology Fund ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำสำหรับระยะเวลา 40 ปี โดยมีค่าไฟฟ้าลดเหลือเพียง 2.97 รูปีต่อหน่วย จาก 4.34 รูปีต่อหน่วย ถือเป็นโครงการแรกในอินเดียที่มีการจัดหาทุนในลักษณะนี้ ทำให้พลังงานหมุนเวียนสามารถแข่งขันกับพลังงานดั้งเดิมในแง่ของต้นทุนการผลิตได้สำเร็จ จนได้รับรางวัล World Bank Group President Award สำหรับความยอดเยี่ยมและการนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้
เคนยา
เคนยาได้พัฒนาทรัพยากรพลังงานความร้อนใต้พิภพในบริเวณหุบเขาเกรทริฟต์ (Great Rift Valley) เพื่อลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลและเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน ปัจจุบันเคนยามีโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพหลายแห่ง โดยโครงการที่สำคัญที่สุดคือ Olkaria Geothermal Project ซึ่งประกอบด้วยโรงไฟฟ้า 5 แห่งที่ผลิตไฟฟ้าได้รวมประมาณ 800 เมกะวัตต์ ทำให้เคนยากลายเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำในแอฟริกาในด้านการใช้พลังงานความร้อนใต้พิภพ กว่า 38% ของพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศมาจากแหล่งพลังงานนี้
การพัฒนาโครงการพลังงานความร้อนใต้พิภพของเคนยานับเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ ทำให้ประชากรสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ได้อย่างเต็มที่ เป็นการเพิ่มทางเลือกด้านการใช้พลังงาน ช่วยลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ฟิลิปปินส์
ฟิลิปปินส์ดำเนินการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานโดยมุ่งเน้นที่การปรับปรุงระบบพลังงานให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากขึ้น ระหว่างปี 2005 ถึง 2022 ฟิลิปปินส์ประสบความสำเร็จในการลดความเข้มข้นของพลังงานลง 30% นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์ยังได้ดำเนินโครงการเชื่อมโยงกริดพลังงานหลักสามแห่งของประเทศ ได้แก่ ลูซอน (Luzon) วิซายัส (Visayas) และมินดาเนา (Mindanao) เข้าเป็นกริดพลังงานแห่งชาติที่เชื่อมต่อกัน โดยมุ่งหวังที่จะเพิ่มความมั่นคงและเสถียรภาพของการจ่ายไฟฟ้าผ่านการโอนถ่ายพลังงานไฟฟ้าระหว่างภูมิภาค การรวมมาตรการความยืดหยุ่นด้านสภาพภูมิอากาศเข้ากับการวางแผนโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานนี้ยังช่วยให้ฟิลิปปินส์สามารถรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เนปาล
เนปาลมีศักยภาพในการผลิตพลังงานน้ำมากกว่า 72,000 เมกะวัตต์จากลุ่มแม่น้ำหลัก 10 สายและสาขาต่าง ๆ ที่แตกแขนงไป ทว่าในปี 2019 มีเพียง 46.5% ของประชากรที่สามารถเข้าถึงเชื้อเพลิงและเทคโนโลยีการปรุงอาหารที่สะอาดได้ ทำให้คนส่วนใหญ่ยังต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงและเทคโนโลยีการปรุงอาหารที่ก่อมลพิษ รัฐบาลเนปาลพยายามแก้ปัญหานี้ด้วยการเพิ่มการใช้งานเตาไฟฟ้าและการพัฒนาพลังงานน้ำ
เนปาลวางแผนที่จะเพิ่มการผลิตไฟฟ้าสะอาด 10 เท่า เพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นและรองรับการค้าพลังงานข้ามพรมแดน การพัฒนาโครงการพลังงานน้ำของเนปาลยังมีคุณสมบัติในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อลดผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลันที่อาจเกิดขึ้นจากการละลายของธารน้ำแข็ง เนื่องจากเนปาลเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาเกษตรกรรมอย่างมาก จึงมีความเปราะบางสูงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชากรได้ นอกจากนี้ยังมีแผนส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีการปรุงอาหารที่สะอาด โดยตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์ภายในปี 2050 เพื่อสร้างความยั่งยืนด้านพลังงานในระยะยาว
สะท้อนมุมมองประเทศไทย
ประเทศไทยเองก็กำลังเดินหน้าสู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน โดยปัจจุบันพลังงานสะอาดคิดเป็นประมาณ 25% ของกำลังการผลิตพลังงานทั้งหมด เรียกได้ว่าประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งในระดับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่และบนหลังคา ตัวอย่างที่สำคัญคือโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี
ด้านนโยบายพลังงานสะอาดของประเทศไทย เช่น แผนพลังงานทดแทน (Alternative Energy Development Plan – AEDP) มีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาดให้ถึง 50% และภายในปี 2040 การพัฒนาแบบไฮบริดนี้มีข้อดีในการลดต้นทุนการเชื่อมต่อสายส่งและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรที่เริ่มลดน้อยลงทุกวัน
การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในประเทศกำลังพัฒนามีบทเรียนสำคัญที่ประเทศอื่น ๆ รวมถึงประเทศไทยสามารถนำไปปรับใช้ได้ เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่ความยั่งยืนเป็นไปอย่างราบรื่น การพัฒนาแหล่งพลังงานหมุนเวียนและการเสริมสร้างความยืดหยุ่นของแหล่งพลังงานจะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและปลอดภัยด้านพลังงานทั่วโลก
การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในประเทศกำลังพัฒนามีบทเรียนสำคัญที่ประเทศอื่น ๆ รวมถึงประเทศไทยสามารถเรียนรู้และนำกลยุทธ์ต่าง ๆ มาปรับใช้ในการพัฒนาความมั่นคงทางพลังงานต่อไป ทั้งหมดนี้จะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและปลอดภัยด้านพลังงานทั่วโลก