พัฒนาธุรกิจด้วยเทคโนโลยีอวกาศ ผ่าน Spatial Data

พฤศจิกายน 6, 2018

พัฒนาธุรกิจด้วยเทคโนโลยีอวกาศ ผ่าน Spatial Data

           ในโลกของ Big Data ทุกสิ่งรอบตัวได้กลายเป็นแหล่งข้อมูลใหม่ ตั้งแต่ของที่อยู่ใกล้ตัวอย่างสมาร์ทโฟน อุปกรณ์ที่มองไม่เห็นเช่นเซ็นเซอร์ หรือสิ่งที่อยู่ไกลไปถึงบนอวกาศอย่างดาวเทียม ที่ทำหน้าที่เป็นอุปกรณ์ชั้นดีในการจัดเก็บข้อมูลภาพถ่ายลักษณะภูมิประเทศและสถานที่ตั้งที่เรียกว่า Spatial Data ซึ่งมีการประยุกต์ใช้ในธุรกิจมากขึ้นเรื่อยๆ

           โดยส่วนสำคัญที่สุดอย่างข้อมูลพื้นผิวนั้นจะถูกจัดเก็บโดยดาวเทียมที่โคจรอยู่รอบโลก ทำหน้าที่คอยรับสัญญาณคลื่นแม่เหล็กที่ถูกสะท้อนออกมาจากพื้นผิว ทำให้นักวิเคราะห์สามารถบอกได้ว่าพื้นผิวนั้นมีสมบัติทางกายภาพ ทางเคมี และมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร โดยจะนำข้อมูลสัญญาณนี้ไปรวมกับภาพถ่ายทางอากาศและข้อมูลตำแหน่งที่อยู่อื่นๆ เพื่อทำการจำลองแผนที่ของแต่ละพื้นที่ขึ้นและนำไปใช้ต่อไปนั่นเอง

           การประยุกต์ใช้ Spatial Data อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะข้อมูลเหล่านี้ได้ถูกใช้ในงานต่างๆ ของรัฐบาลและงานวิชาการ เช่น การพยากรณ์อากาศ การสำรวจพื้นที่ หรือการตรวจสอบสถานการณ์ผู้อพยพ แต่ด้วยธุรกิจด้านอวกาศที่เกิดใหม่มากขึ้นในปัจจุบัน ผู้คนและธุรกิจจึงสามารถเข้าใช้งานดาวเทียมในการเก็บข้อมูลได้ง่ายขึ้นโดยมีค่าใช้จ่ายต่ำลง

           ปัจจุบันพบว่า 35% ของดาวเทียมที่โคจรบนห้วงอวกาศเป็นดาวเทียมเชิงพาณิชย์ เราจึงได้เริ่มเห็นการสร้างสรรค์นำข้อมูลนี้ไปใช้ในหลายองค์กร เช่น การสร้างระบบการเกษตรที่ ”ฉลาด”ขึ้น ทำให้เกษตรกรทราบข้อมูลปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิต (เช่น ความแปรปรวนของสภาพอากาศ สภาพของเมฆและการแสงแดด หรือการเคลื่อนตัวของฝูงศัตรูพืช เป็นต้น) หรือการนำ Spatial Data ไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อคำนวณถึงความเสี่ยงทางธรรมชาติและทำนายปริมาณวัตถุดิบ หรือในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ในการวิเคราะห์ตำแหน่งที่เหมาะสมในการก่อสร้างและลงทุน หรือทางการแพทย์เพื่อศึกษาการแพร่กระจายของโรคระบาดและวางแผนการรักษา และในอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกมากมาย

           ตัวอย่างเช่น บริษัท GSK ต้องการทำนายการระบาดของไข้หวัดในอินโดนีเซีย โดยใช้ Spatial Data ร่วมกับข้อมูลจาก Social Media ที่มีผู้คนร้องเรียนเรื่องการป่วยเป็นไข้หวัด, ข้อมูลสภาพอากาศท้องถิ่น และข้อมูลใบสั่งยาของ GSK และของรัฐ เพื่อสร้างแบบจำลองข้อมูลเชิงพื้นที่โดยมี AI มาช่วยสนับสนุน โดยสามารถคาดการณ์การแพร่ระบาดของไข้หวัดได้อย่างแม่นยำล่วงหน้าก่อนทางการจะประกาศ 4-5 วัน

           ภาครัฐและแวดวงวิชาการใช้งาน Spatial Data กันมายาวนานแล้ว ยุคนี้จึงเป็นยุคของธุรกิจบ้างแล้วที่จะใช้ข้อมูลเหล่านี้มาสร้างสรรค์กระบวนการทำงานและบริการใหม่ๆ ออกสู่สายตาผู้บริโภค ทั้งเป็นการเปิดมุมมองใหม่ให้ธุรกิจไปพร้อมๆ กับเปิดโอกาสให้พัฒนาเทคโนโลยีอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่ง Bangkok Bank InnoHub เชื่อว่าจะนำมาซึ่งนวัตกรรมอันน่าตื่นเต้นในอนาคตเร็วๆ นี้แน่นอน

#BangkokBank #BangkokBankInnoHubSeason2 #InspiringChange #SpatialData #UnleashthePotential

Share this article

กดติดตาม InnoHub

เพื่อรับข้อมูลข่าวสารและแรงบันดาลใจด้านนวัตกรรมใหม่ ๆ

เรานำข้อมูลมาใช้เพื่อการส่งมอบคอนเทนต์และบริการอย่างเหมาะสม เราจะปกป้องความเป็นส่วนตัวของคุณ คุณสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Privacy Policy และคลิกสมัครเพื่อดำเนินการต่อ