ความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมทั้งภาวะโลกร้อน (Climate Change) และทรัพยากรน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีอยู่อย่างจำกัด ทำให้พลังงานทางเลือกกลายเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่ทุกประเทศให้ความสำคัญอันดับต้น ๆ วันนี้มาดูกันดีกว่าว่าความก้าวหน้าในการพัฒนาพลังงานสีเขียวประเภทต่าง ๆ ของไทยเพื่อก้าวไปสู่อนาคตแห่งความยั่งยืนเป็นอย่างไรบ้าง และประสบความสำเร็จแล้วขนาดไหน
1. พลังงานแสงอาทิตย์
จุดเริ่มต้นของการหันมาให้ความสนใจและพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานแสงอาทิตย์ของประเทศไทยเกิดขึ้นเมื่อประมาณช่วงปี พ.ศ. 2510 หรือหลังช่วงทศวรรษ 1970 ที่องค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน หรือ Organization of Petroleum Exporting Countries (OPEC) เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คูเวต และ ซาอุดีอาระเบีย ได้ถือครองอำนาจในตลาดจนส่งผลกระทบให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งสูงขึ้นทั่วโลก โดยหนึ่งในหน่วยงานหลักผู้บุกเบิกนวัตกรรมด้านพลังงานแสงอาทิตย์ของไทย คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ทดลองใช้แผงโซลาร์เซลล์เพื่อใช้งานอุปกรณ์ธรรมดาทั่วไป เช่น วิทยุสื่อสาร หรือ หลอดไฟในที่พักของเจ้าหน้าที่ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรก ๆ นั้นเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ยังคงมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง การใช้งานจึงจำกัดอยู่เพียงแค่วงแคบ ๆ อย่างในส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจเท่านั้น จนกระทั่งเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2535 ประเทศไทยได้มีการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมรวมถึงแผนอนุรักษ์พลังงานไฟฟ้าขึ้นอย่างเป็นทางการ ประกอบกับนวัตกรรมแผงโซลาร์เซลล์จากประเทศจีนก้าวหน้าและราคาถูกลงกว่าเดิม จึงช่วยให้การผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะในภาคเอกชนที่มีหลายบริษัทเริ่มเข้ามาวิจัยพัฒนา ไปจนถึงผู้บริโภคทั่วประเทศเริ่มนิยมติดตั้งและใช้งานโซลาร์เซลล์เองตามครัวเรือน ปัจจุบัน ประเทศไทยสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ได้ในปริมาณที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเป็นตัวเลขสูงถึงประมาณ 3,000 เมกะวัตต์เมื่อปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมพลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2564 ได้ก่อตั้งโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร ในจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีขนาดประมาณ 70 สนามฟุตบอล นับว่าเป็นโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก โดยเริ่มผลิตพลังงานเชิงพาณิชย์ป้อนให้ผู้คนในประเทศแล้ว อีกทั้งยังสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึงประมาณ 47,000 ตันต่อปีอีกด้วย
โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี
2. พลังงานชีวภาพ (Bioenergy) และพลังงานชีวมวล (Biomass)
พลังงานสีเขียวอีกหนึ่งประเภทที่อาจจะยังไม่ค่อยคุ้นหูคนส่วนใหญ่เท่าไหร่นัก คือ พลังงานชีวภาพและพลังงานชีวมวล ซึ่งหมายถึงการผลิตพลังงานจากอินทรียวัตถุที่ได้จากพืชและสัตว์ เช่น เศษไม้ วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ขยะจากครัวเรือนและชุมชน หรือมูลสัตว์ โดยแบ่งผลิตภัณฑ์พลังงานออกได้หลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น เชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด (Biomass Pellets) เชื้อเพลิงเหลว (Biofuel) สำหรับยานยนต์ และ ก๊าซชีวภาพ (Biogas)
ปัจจุบัน พลังงานชีวภาพประเภทเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ดอาจยังไม่แพร่หลายเป็นวงกว้างในประเทศไทย เพราะส่วนใหญ่จะนำไปใช้งานเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น โรงงานสิ่งทอ และโรงงานผลิตอาหาร ส่วนเชื้อเพลิงอย่างแก๊สโซฮอล์ เชื้อเพลิงเอทานอล หรือไบโอดีเซล นั้นได้กลายเป็นแหล่งพลังงานทางเลือกใหม่ที่แสนสำคัญของไทยเรียบร้อยแล้ว โดยสถิติเมื่อปี พ.ศ. 2565 ประเทศเราสามารถผลิตไบโอดีเซลได้ 2,122 ล้านลิตร อีกทั้งยังส่งออกไปต่างประเทศเป็นมูลค่ามากกว่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เลยทีเดียว
3. ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid)
นวัตกรรมด้านพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างสุดท้ายที่ InnoHub หยิบมาเล่าให้ฟังในบทความนี้ คือ Smart Grid ซึ่งเป็นระบบที่นำเทคโนโลยีหลากหลายประเภทมาผนวกรวมกันตั้งแต่ขั้นตอนต้นน้ำอย่างการผลิตไฟฟ้าไปจนถึงการจ่ายไฟฟ้าไปสู่ผู้คนทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงลึก หรือ Big Data เกี่ยวกับการใช้พลังงานไฟฟ้าเพื่อนำไปวิเคราะห์และพัฒนาประสิทธิภาพให้คุ้มค่าสูงสุด เช่น ปรับสั่งการและควบคุมการใช้ไฟฟ้า หรือ ช่วยประหยัดค่าไฟให้กับผู้บริโภคได้ เป็นต้น
โครงการนำร่องวิจัยและพัฒนา Smart Grid จังหวัดแม่ฮ่องสอน
สำหรับประเทศไทย มีแผนการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะเป็นแผนแม่บทระหว่างช่วงปี พ.ศ. 2558-2579 ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มต้นพัฒนาแล้วที่ ผาบ่อง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยเป็นระบบโซลาร์เซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ ร่วมกับการกักเก็บไฟฟ้าด้วยแบตเตอรี่ ช่วยเสริมความมั่นคงให้กับสถานที่สำคัญอย่างโรงพยาบาล รวมถึงลดค่าไฟฟ้าของผู้คนในชุมชนได้ นอกจากนี้ การไฟฟ้านครหลวง (MEA) ยังริเริ่ม Smart Grid for Metropolis เพื่อยกระดับชีวิตของผู้คนเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ และ นนทบุรี โดยติดตั้งเครื่องมิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะที่แสดงข้อมูลได้ถูกต้องแม่นยำมากขึ้นแบบกึ่งเรียลไทม์แล้วเป็นจำนวนกว่า 30,000 เครื่อง พร้อมดำเนินการพัฒนานวัตกรรมอื่น ๆ มากมายต่อไปในอนาคต