ในช่วงปีที่ผ่านมาได้เกิดเหตุการณ์มากมายที่ส่งผลกระทบต่อตลาดคริปโทเคอร์เรนซี ไม่ว่าจะเป็นความผันผวนที่ฉุดให้ราคาเหรียญดิ่งลงอย่างกะทันหัน หรือการฉ้อโกงของโปรเจกต์ต่าง ๆ จนกลายเป็นตัวกระตุ้นให้หน่วยงานรัฐของไทยต้องเร่งยกระดับมาตรการควบคุมธุรกิจดังกล่าว
มาอัปเดตข่าวสารในแวดวงนี้ไปด้วยกันกับ InnoHub ดีกว่าว่าปัจจุบันมีกฎระเบียบข้อบังคับใหม่อะไรที่ผู้ประกอบการธุรกิจด้านสกุลเงินดิจิทัลต้องนำไปปฏิบัติตาม และจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซีต่อไปอย่างไรบ้าง
หลักเกณฑ์ใหม่ของธุรกิจคริปโทเคอร์เรนซีมีเนื้อหาอย่างไร
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ประกาศบังคับใช้หลักเกณฑ์ข้อใหม่สำหรับให้บริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการลงทุนซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลหรือคริปโทเคอร์เรนซีนำไปปฏิบัติตามเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคอย่างครอบคลุมยิ่งขึ้นกว่าเดิม โดยสามารถแบ่งออกเป็นทั้งหมด 2 ประเด็นหลัก ได้แก่
1. เปิดเผยคำเตือนความเสี่ยงของการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี
ก.ล.ต. กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจด้านการลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีจำเป็นต้องแสดงคำเตือนอย่างชัดเจนให้ลูกค้าได้รับข้อมูลและเข้าใจถึงความเสี่ยงของการซื้อขายและเก็งกำไรจากคริปโทเคอร์เรนซีอย่างเพียงพอ โดยระบุข้อความว่า “คริปโทเคอร์เรนซีมีความเสี่ยงสูง โปรดศึกษาและทำความเข้าใจความเสี่ยงของคริปโทเคอร์เรนซีอย่างรอบด้านเพราะท่านอาจสูญเสียเงินลงทุนได้ทั้งจำนวน” ให้ลูกค้าสังเกตเห็นได้ง่ายไม่ว่าจะบนแพลตฟอร์มการลงทุนหรือในช่องทางการสื่อสารของบริษัท เช่น เว็บไซต์ หรือ โซเชียลมีเดีย เป็นต้น
นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังกำหนดให้บริษัทที่ทำธุรกิจด้านนี้จำเป็นต้องให้ลูกค้าทำแบบประเมินความเหมาะสมในการลงทุน และแจ้งผลลัพธ์ของการจัดสรรและกำหนดสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสม หรือ Basic Asset Allocation เพื่อให้ลูกค้าทราบก่อนตัดสินใจลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีสกุลต่าง ๆ อีกด้วย โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2566
2. การห้ามให้บริการ Deposit Taking & Lending
ใจความสำคัญของหลักเกณฑ์อีกหนึ่งประเด็น คือ การที่ ก.ล.ต. กำหนดห้ามไม่ให้ธุรกิจซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีนำเสนอบริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล และนำสินทรัพย์นั้นของลูกค้าไปปล่อยให้กู้ยืมหรือลงทุนต่อเพื่อหากำไรเพิ่มเติมมาจ่ายเป็นผลตอบแทนกลับคืนให้แก่ลูกค้า หรือที่เรียกว่า Deposit Taking & Lending รวมถึงห้ามโฆษณาชักชวนผู้อื่นในเชิงสนับสนุนบริการดังกล่าวอีกด้วย โดยมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2566
ที่มาและเหตุผลเบื้องหลังของหลักเกณฑ์นี้คืออะไร
สาเหตุที่ส่งผลให้ ก.ล.ต. ตัดสินใจออกกฎเกณฑ์ข้อบังคับข้างต้นนั้นมีอยู่ด้วยกัน 2 ปัจจัยหลัก ประการแรก คือ เหตุการณ์การล่มสลายครั้งใหญ่ของหนึ่งในเหรียญคริปโทเคอร์เรนซียอดนิยมอย่าง Terra Luna เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565 ที่เกิดแรงเทขาย Terra Luna อย่างกะทันหัน จนราคาเหรียญลดลงอย่างรวดเร็วจาก 2,300 บาท เหลือเพียงประมาณ 1 สตางค์ภายในเวลาไม่กี่วันเท่านั้น สร้างความเสียหายให้แก่นักลงทุนไทยกว่า 3 แสนคน รวมมูลค่ากว่า 980 ล้านบาท ซึ่งตอกย้ำถึงความผันผวนรุนแรงของการลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัจจัย คือ ก.ล.ต. ต้องการยกระดับกฎระเบียบการควบคุมดูแลและคุ้มครองนักลงทุนไทยให้มีความทันสมัยและได้มาตรฐานสากล สอดคล้องกับชาติอื่น ๆ ที่เป็นผู้นำในด้านธุรกิจคริปโทเคอร์เรนซี เช่น ประเทศเบลารุสในทวีปยุโรปที่รับรองให้เทคโนโลยี Blockchain และกิจกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซีเป็นสิ่งถูกกฎหมายที่แรกของโลก รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างสิงคโปร์ที่มีธนาคารกลางสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore) เป็นหน่วยงานรัฐที่เร่งปรึกษาหารือและเตรียมยกระดับความเข้มงวดของกฎระเบียบเพื่อช่วยคุ้มครองนักลงทุนหลังเกิดเหตุการณ์ล่มสลายของ Terra Luna เช่นกัน
ผลกระทบต่อธุรกิจคริปโทเคอร์เรนซี
แม้ว่ากฎระเบียบข้อบังคับใหม่ดังกล่าวจาก ก.ล.ต. จะเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายผู้บริโภคเพราะช่วยให้นักลงทุนเข้าใจถึงความเสี่ยงของการเก็งกำไรจากการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีสกุลต่าง ๆ และสามารถบริหารความเสี่ยงรวมถึงระมัดระวังเวลาตัดสินใจลงทุนได้ดียิ่งขึ้น แต่สำหรับฝั่งผู้ดำเนินธุรกิจซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีแล้วอาจเป็นความท้าทายครั้งสำคัญที่ต้องวางแผนเตรียมรับมือให้เพียงพอ
เนื่องจากหลักเกณฑ์ข้อแรกอาจทำให้นักลงทุนเกิดความลังเลใจได้ง่ายกว่าเดิม และไม่กล้าแบกรับความเสี่ยงที่จะนำเงินมาซื้อขายเหรียญต่าง ๆ และใช้บริการผลิตภัณฑ์ด้านคริปโทเคอร์เรนซีของบริษัท นอกจากนี้ หลักเกณฑ์ข้อสองยังกระทบต่อหนึ่งในวิธีการสร้างรายได้หลักให้กับธุรกิจอีกด้วย เพราะไม่สามารถให้บริการ Deposit Taking & Lending หรือคือการนำคริปโทเคอร์เรนซีของลูกค้าไปลงทุนต่อเพื่อหากำไรมาจ่ายกลับคืนเป็นผลตอบแทนให้ทั้งลูกค้าและบริษัทของตนนั่นเอง
นับเป็นความท้าทายครั้งใหม่สำหรับผู้ประกอบการด้านคริปโทเคอร์เรนซีที่ต้องศึกษาหลักเกณฑ์ข้างต้นให้ชัดเจนเพื่อนำไปปรับใช้กับธุรกิจอย่างรอบคอบรัดกุม และสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์รวมถึงมอบบริการที่ทั้งปลอดภัย ตอบโจทย์กับนักลงทุน และสามารถสร้างรายได้ให้บริษัทได้อย่างยั่งยืน