5 บริษัทสตาร์ทอัพ (Startup) จากประเทศไทยที่น่าจับตามองมากที่สุด
บทความจาก InnoHub ชิ้นนี้ขอพาทุกคนไปทำความรู้จัก 5 บริษัทสตาร์ทอัพของคนไทยที่สามารถฝ่าฟันวิกฤตโควิด-19 และปั้นธุรกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาที่ยากลำบาก พวกเขาดำเนินกิจการแบบไหนหรือใช้กลยุทธ์อะไรบ้าง ไปหาคำตอบกันได้เลย
1. GIZTIX Express
หลังเกิดวิกฤตโควิด-19 การค้าขายทางออนไลน์และการขนส่งสินค้า eCommerce ก็ได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นเป็นทวีคูณ บริษัทสตาร์ทอัพรายแรกที่ InnoHub แนะนำให้รู้จักวันนี้จึงเป็นธุรกิจด้านโลจิสติกส์ (Logistics) ชื่อว่า GIZTIX Express ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลที่รับหน้าที่เป็นตลาดกลางสำหรับการซื้อขายบริการด้านโลจิสติกส์และก่อตั้งขึ้นโดยคุณสิทธิศักดิ์ วงศ์สมนึก ผู้มีความรู้และประสบการณ์ตรงจากธุรกิจของครอบครัว
GIZTIX Express นั้นแตกต่างออกไปจากบริษัทโลจิสติกส์ส่วนใหญ่ เพราะเลือกหันไปเน้นดำเนินธุรกิจในตลาด B2B หรือ Business to Business ที่ยังมีผู้เล่นไม่มากนัก โดยสร้างซอฟต์แวร์ที่ช่วยจับคู่เชื่อมโยงระหว่างบริษัทขนส่งสินค้า (Transporter) และองค์กรที่ต้องการขนส่งสินค้า (Shipper) เข้าด้วยกัน
Transporter สามารถจดทะเบียนบริการขนส่งของตัวเองลงบนแพลตฟอร์มดิจิทัลนี้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดส่งสินค้าด้วยรถยนต์ประเภทต่าง ๆ ตั้งแต่ 4 ล้อไปจนถึง 22 ล้อ ส่วนทาง Shipper ก็สามารถเข้ามาค้นหาบริษัทโลจิสติกส์ที่สอดคล้องกับความต้องการได้อย่างสะดวกสบายทางออนไลน์ รวดเร็วกว่าการโทรศัพท์หรือส่งอีเมลเพื่อติดต่อสอบถามข้อมูลและราคาแบบเดิม ๆ หลายเท่าตัว แถมยังตรวจสอบสถานะการจัดส่งสินค้าได้
นับจากเริ่มก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 2015 GIZTIX Express ก็ประสบความสำเร็จอย่างงดงามเพราะสามารถเติบโตโดยเฉลี่ยเดือนละ 30% ในช่วงสองปีแรก นอกจากนี้ ในการระดมทุน Series B ก็ยังได้รับเงินทุนสนับสนุนเป็นมูลค่ากว่า 1.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ผลประกอบการระหว่างปี 2563-2564 ท่ามกลางโควิด-19 สามารถเพิ่มกำไรได้ถึง 420% และมีจำนวนเที่ยวขนส่งบนแพลตฟอร์มกว่า 500,000 เที่ยวต่อปี ในอนาคตเราคงได้เห็นสตาร์ทอัพรายนี้ยกระดับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของไทยให้เติบโตต่อไปอย่างแน่นอน
2. Pomelo
สตาร์ทอัพสายแฟชั่นขวัญใจวัยรุ่น Pomelo ก่อตั้งขึ้นในประเทศไทยขึ้นโดยฝีมือของคุณเดวิด โจว และ คุณเคซี่ เหลียง เมื่อปี พ.ศ. 2556 โดยสามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดดผ่านวิกฤตโควิด-19 มาได้ด้วยการปั้นโมเดลทางธุรกิจอย่างชาญฉลาดให้เป็น Omnichannel หรือมีหลากหลายช่องทาง รวมทั้งพัฒนาเทคโนโลยีให้ทันสมัยอยู่เสมอ
สำหรับกลยุทธ์ข้อแรก Pomelo นั้นมีทั้งแพลตฟอร์มดิจิทัลในรูปแบบแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือและเว็บไซต์ที่ลูกค้าสามารถเข้ามาใช้บริการเลือกซื้อเสื้อผ้าและเครื่องประดับสวย ๆ ได้อย่างสะดวกสบาย และหากต้องการลองสวมใส่ก่อนตัดสินใจซื้อ ลูกค้าก็สามารถกดจอง (Tap.Try.Buy.) ทางออนไลน์แล้วเดินทางไปยังหน้าร้านของ Pomelo ในห้างสรรพสินค้าชั้นนำเพื่อดูสินค้าจริงได้อีกด้วย
นอกจากนี้ Pomelo ยังเสริมความแข็งแกร่งในโมเดลธุรกิจของตัวเองด้วยการเปิดให้แบรนด์แฟชั่นอื่น ๆ สามารถขายสินค้าบนแพลตฟอร์มได้เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่ต่างก็อยากเลือกซื้อเครื่องแต่งกายสวย ๆ หลากหลายสไตล์ง่าย ๆ ในที่เดียว
สำหรับด้านเทคโนโลยีนั้น Pomelo ก็ใช้ระบบอัลกอริทึม (algorithm) ที่วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกและพฤติกรรมของลูกค้าแล้วสามารถนำเสนอเสื้อผ้าเครื่องประดับบนหน้าแพลตฟอร์มที่เหมาะสมและตรงใจกับลูกค้าแต่ละรายได้อย่างแม่นยำ หรือที่เรียกกันว่าการสร้างประสบการณ์แบบ Personalized ให้ผู้บริโภคนั่นเอง นอกจากนี้ แพลตฟอร์มของ Pomelo ยังมีระบบ Machine Learning ที่เรียนรู้ได้ว่าควรลดราคาสินค้าชิ้นไหนในราคากี่บาทอีกด้วย
3. aCommerce
สตาร์ทอัพสัญชาติไทยที่น่าจับตามองอีกราย คือ aCommerce ซึ่งเป็นธุรกิจการให้บริการค้าขายออนไลน์ หรือ eCommerce แบบครบวงจรที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2559 โดยสามพี่น้องตระกูลศรีวรกุล ได้แก่ คุณพอล คุณทอม และ คุณจอร์น ที่มีประสบการณ์ปั้นธุรกิจจนประสบความสำเร็จมาแล้วมากมาย
ความโดดเด่นของบริษัท aCommerce คือ การพัฒนาซอฟต์แวร์ขึ้นมาเป็นของตัวเองโดยเรียกว่า EcommerceIQ ที่สามารถรองรับการขายสินค้าออนไลน์ของบริษัทตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ระดับโลกได้อย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บรวบรวมวิเคราะห์ข้อมูล บริหารคลังสินค้า จัดส่งผ่านทางบริษัทโลจิสติกส์ การทำการตลาดออนไลน์ ฯลฯ
ทั้งหมดนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่ aCommerce สามารถเติบโตอย่างต่อเนื่องจนทำกำไรในไตรมาส 4/2564 ถึง 45.9 ล้านบาท ล่าสุด ทาง aCommerce ยังประกาศจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในกลุ่มเทคโนโลยีอีกด้วย คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าสตาร์ทอัพของไทยแห่งนี้จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างไรต่อไปในอนาคต
4. FreshKet
โควิด-19 ทำให้ผู้คนและเจ้าของร้านอาหารลำบากใจที่จะเดินทางไปเลือกซื้อวัตถุดิบถึงในตลาดสดที่แสนแออัด สตาร์ทอัพไทยอย่าง FreshKet จึงตอบโจทย์และแก้ปัญหานี้ได้อย่างตรงจุด บริษัทนี้ก่อตั้งขึ้นโดยคุณพงษ์ลดา พะเนียงเวทย์ และคุณตวงพลอย จิวาลักษณางกูร โดยให้บริการแพลตฟอร์มที่รวบรวมวัตถุดิบประเภทต่าง ๆ เช่น ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ เครื่องดื่ม และของแห้ง จากเกษตรกรมาจัดจำหน่ายให้กับผู้บริโภคทั่วไปและธุรกิจร้านอาหาร
หลังจากได้รับรายการสั่งซื้อวัตถุดิบคุณภาพดีที่ปัจจุบันมีมากกว่า 4,000 รายการบนแพลตฟอร์มแล้ว FreshKet จะช่วยจัดส่งสินค้าต่าง ๆ ให้ถึงมือลูกค้าเองอีกด้วย โดยให้บริการตลอด 365 วัน ไม่มีวันหยุด แถมยังสามารถส่งสินค้าให้ภายในเช้าวันรุ่งขึ้นหากสั่งภายในเวลา 3 ทุ่ม พร้อมอนุญาตให้ลูกค้าเลือกกำหนดชำระเงินได้ตามรอบบิลที่ตกลงกัน
ด้วยโมเดลธุรกิจที่เป็นมิตรต่อทั้งเกษตรกร ผู้บริโภค และธุรกิจร้านอาหารแล้ว FreshKet จึงเติบโตสวนทางวิกฤตโควิด-19 โดยสามารถสร้างรายได้ถึง 46 ล้านบาทเมื่อปี 2561 และเพิ่มขึ้นเป็น 310 ล้านบาทเมื่อปี 2563 ในอนาคตเราคงได้เห็น FreshKet พัฒนาต่อเนื่องและกลายเป็นสตาร์ทอัพที่ช่วยยกระดับอุตสาหกรรมอาหารของประเทศอย่างแน่นอน
5. Eatigo
สตาร์ทอัพสัญชาติไทยรายสุดท้ายที่ InnoHub นำมาเล่าให้ฟังวันนี้ คือ Eatigo บริษัทผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจองร้านอาหารออนไลน์ที่ร่วมก่อตั้งโดยคุณภูมินทร์ ยุวจรัสสกุล เมื่อปี พ.ศ. 2556 โดยมีโมเดลธุรกิจที่แปลกใหม่น่าสนใจ คือ Eatigo จะช่วยโปรโมทร้านอาหารด้วยส่วนลดพิเศษสูงสุดถึง 50% ทางแอปพลิเคชัน โดยลูกค้าไม่จำเป็นต้องชำระเงินทันทีหลังกดจองโต๊ะแต่อย่างใด
เมื่อลูกค้าได้เดินทางไปทานอาหารที่ร้านตามเวลานัดหมายแล้ว ทาง Eatigo จึงค่อยเรียกเก็บค่าบริการจากร้านอาหารเองในภายหลัง คล้าย ๆ กับระบบคอมมิชชั่น (Commission) ของอาชีพพนักงานขายหรือ Sales นั่นเอง
นอกจากโมเดลธุรกิจสุดล้ำที่ Win-Win กับทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นตัวบริษัทเอง ผู้บริโภคที่ได้ทานของอร่อยในราคาพิเศษ และร้านอาหารที่สามารถทำกำไรจากโต๊ะว่าง (โดยเฉพาะช่วง 11.00 น. และ 15.00 น. หรือ 20.00-21.00 น.) ได้เพิ่มกว่า 8 – 19% แล้ว Eatigo ยังเติบโตได้ต่อเนื่องท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 เพราะเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างแอปพลิเคชันที่เข้าถึงง่ายและการวิเคราะห์ข้อมูล Big Data ในแพลตฟอร์มอีกด้วย
บริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติไทยทั้ง 5 แห่งที่เรานำมาฝากในวันนี้สามารถก้าวผ่านมรสุมทางเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 มาได้ด้วยการผนวกความคิดสร้างสรรค์เข้ากับการเร่งพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีดิจิทัลให้ทันสมัย InnoHub หวังว่าผู้ประกอบการไทยจะได้รับแรงบันดาลใจและไอเดียดี ๆ จากบทความนี้ไปปั้นธุรกิจของตัวเองให้สำเร็จดั่งฝัน อย่าลืมติดตามข่าวสารเทคโนโลยีจากเราได้ใหม่ในบทความหน้า