Low-Code คืออะไร เปิด 5 ข้อดีทำไมธุรกิจยุคใหม่ควรหันมาใช้เทคโนโลยีนี้
มาทำความรู้จักกับเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่าง Low-Code ที่พร้อมเข้ามาตอบโจทย์ธุรกิจที่ต้องเผชิญความท้าทายในยุคดิจิทัล และแก้ปัญหาการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ล่าช้าและมีต้นทุนสูง ตาม InnoHub มาสำรวจกันดีกว่าว่านวัตกรรมนี้คืออะไร ทำไมจึงมีประโยชน์และข้อดีมากมายสำหรับองค์กรในปัจจุบัน
Low-Code คืออะไร เหตุใดหลายองค์กรจึงเลือกใช้
นอกจากค่าใช้จ่ายสำหรับการพัฒนาซอฟต์แวร์ทั่วไปจะมีราคาสูงและใช้ระยะเวลาค่อนข้างนานแล้ว อีกหนึ่งปัญหาที่หลาย ๆ องค์กรมักพบเจอเมื่อจ้างบริษัท Outsource มาดูแลด้านเทคโนโลยี นั่นคือ ซอฟต์แวร์ที่ทุ่มเททรัพยากรพัฒนาขึ้นมากลับไม่สามารถตอบโจทย์และช่วยแก้ไขปัญหาทางธุรกิจได้อย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม เมื่อโลกเริ่มเข้าสู่ยุคดิจิทัล ศาสตร์ด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ก็เติบโตอย่างก้าวกระโดดด้วยเช่นกันจนเกิดเทคโนโลยี “Low-Code” หรือเครื่องมือออกแบบซอฟต์แวร์ที่อาศัยทักษะการเขียนโปรแกรมเพียงเล็กน้อยในการใช้งานเท่านั้น ไม่ต้องสร้างโค้ดขึ้นมาหลายร้อยบรรทัดเหมือนสมัยก่อนอีกต่อไป
แพลตฟอร์มสร้างซอฟต์แวร์แบบ Low-Code นี้มีชุดคำสั่ง รูปภาพสวย ๆ หรือ Template สำเร็จรูป และฟีเจอร์มากมาย เช่น การ Drag & Drop หรือแค่คลิกเมาส์ลากเครื่องมือที่ต้องการมาเชื่อมโยงกัน เป็นต้น นวัตกรรมนี้จึงช่วยประหยัดเวลาให้ Developer ทำงานได้รวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ผู้ที่ยังไม่เชี่ยวชาญด้านการเขียนโค้ดมากนักก็ยังสามารถใช้ Low-Code สร้างแอปพลิเคชันเองได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้นด้วย
เทคโนโลยี Low-Code เติบโตมากขนาดไหน
การใช้งานเทคโนโลยี Low-Code ยิ่งเติบโตสูงขึ้นอย่างรวดเร็วหลังเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาเนื่องจากทุก ๆ ธุรกิจต่างหันมาทำการตลาดออนไลน์และเร่งเครื่องพัฒนาขีดความสามารถด้านนวัตกรรมของบริษัทให้สอดคล้องกับโลกสมัยใหม่ โดยเมื่อปี 2021 ที่ผ่านมาคาดการณ์ว่า ธุรกิจแพลตฟอร์มผู้ให้บริการ Low-Code ทั่วโลกนั้นเติบโตมากถึง 23% เลยทีเดียว
สำหรับในอนาคตข้างหน้า Gartner บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยี คาดการณ์ว่า ภายในปี 2024 นวัตกรรม Low-Code นี้จะเข้ามามีบทบาทในการช่วยพัฒนาแอปพลิเคชันและซอฟต์แวร์ทั่วโลกมากกว่า 64% ยิ่งกว่านั้น มูลค่าตลาดของธุรกิจ Low-Code ยังมีแนวโน้มเติบโตสูงถึง 190,792 ดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2030 อีกด้วย
5 ข้อดีของการนำเทคโนโลยี Low-Code มาใช้ในองค์กร
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแนวโน้มการเติบโตของ Low-Code ในตลาดโลกจะสดใส แต่ผลสำรวจของ OutSystems แพลตฟอร์ม Low-Code ชื่อดังระดับโลก กลับพบว่า มีองค์กรในประเทศไทยเพียงแค่ 19% เท่านั้นที่เริ่มประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีนี้แล้ว เพราะส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักเครื่องมือ Low-Code นั่นเอง
ดังนั้นวันนี้ InnoHub ขอชวนผู้ประกอบการชาวไทยทุกคนมาดูกันว่า Low-Code มีประโยชน์ต่อการพัฒนาองค์กรอย่างไร ทำไมภาคธุรกิจทั่วโลกต่างก็น้อมรับนำเทคโนโลยีนี้มาพลิกโฉมธุรกิจของตัวเองให้ตอบรับกับความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด
1.ช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่าย
เทคโนโลยี Low-Code มีราคาไม่แพงโดยเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 800 บาท สำหรับแพลตฟอร์มเล็ก ๆ ไปจนถึงเดือนละ 160,000 บาทสำหรับซอฟต์แวร์ระดับสูงขององค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งเมื่อนำมาเทียบกับการลงทุนว่าจ้างบริษัท IT จากข้างนอก หรือแย่งชิงโปรแกรมเมอร์เก่ง ๆ และค่าตัวสูง ๆ มาทำงานเป็นพนักงาน Full-Time แล้วนับว่าเป็นอีกทางเลือกที่คุ้มค่ากับการลงทุน
ค่าใช้จ่ายอีกหนึ่งประการที่เทคโนโลยี Low-Code สามารถช่วยแบ่งเบาได้เป็นอย่างยิ่ง คือ การสรรหาและว่าจ้างพนักงานด้านไอทีที่ปัจจุบันนอกจากจะมีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการในตลาดแรงงานแล้ว หลายบริษัทต่างก็แย่งชิงตัวคนเก่ง หรือ Talents กันอย่างดุเดือด และเงินเดือนของพวกเขาก็ค่อนข้างสูงกว่าตำแหน่งงานในสายอาชีพอื่น ๆ อีกด้วย
2.ประหยัดเวลา
การใช้ Low-Code ช่วยให้องค์กรสามารถสร้างแอปพลิเคชันได้เร็วขึ้นกว่าเดิมถึง 10 เท่า และยังช่วยลดขั้นตอนต่าง ๆ ในกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ลงจาก 16 ขั้นตอนเหลือเพียง 7 ขั้นตอนเท่านั้น นอกจากนี้ พนักงานในบริษัทยังเรียนรู้การใช้งานแพลตฟอร์ม Low-Code ได้ภายในไม่กี่สัปดาห์ เมื่อเทียบกับการเรียนรู้วิธีเขียนโปรแกรมภาษาต่าง ๆ ที่กว่าจะเชี่ยวชาญก็อาจต้องใช้เวลานานหลายปี
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของประโยชน์ข้อนี้ คือ บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการพลังงานระดับโลก Schneider Electric โดยหลังจากใช้งานแพลตฟอร์ม Low-Code ชื่อดังอย่าง OutSystems แล้ว ทำให้สามารถพัฒนาแอปพลิเคชันได้มากถึง 60 แอปพลิเคชัน ภายในระยะเวลาเพียง 20 เดือน และแอปพลิเคชันที่พัฒนาได้เร็วสุด ใช้เวลาเพียง 10 สัปดาห์เท่านั้น คิดเป็นการประหยัดวันทำงานได้สูงถึง 650 วัน (เกือบ 2 ปี)
Credit: pressfoto
3.ใช้งานง่าย มือใหม่ด้านการเขียนโค้ดก็ใช้ได้
แพลตฟอร์ม Low-Code ผ่านการออกแบบมาให้มีเครื่องมือสำเร็จรูปต่าง ๆ มากมายซึ่งใช้ง่ายเพียง Drag and Drop ไม่ว่าจะเป็นชุดคำสั่งการเขียนโค้ด รวมถึงกราฟิกและ Template หลากหลายรูปแบบ ดังนั้นแม้แต่มือใหม่ที่เพิ่งเริ่มเขียนโค้ดก็สามารถสร้างซอฟต์แวร์ด้วย Low-Code ได้อย่างสะดวกสบาย
4.ยืดหยุ่นและคล่องตัว
ไม่ว่าจะเป็นบริษัทสตาร์ทอัพหรือองค์กรที่ก่อตั้งมานานแล้ว ก็สามารถใช้เทคโนโลยี Low-Code ที่ติดตั้งง่ายและเต็มไปด้วยความคล่องตัวมาขับเคลื่อนธุรกิจได้อย่างทันท่วงที และปรับตัวให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ความต้องการของผู้บริโภคล้วนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งยังต้องเผชิญกับความท้าทายของการแข่งขันที่ดุเดือดในตลาดอีกด้วย
ยกตัวอย่างเช่น หากคุณกับเพื่อน ๆ ร่วมทีมต้องการก่อตั้งสตาร์ทอัพวันนี้ ก็สามารถสร้างเว็บไซต์เป็นของตัวเองได้ง่าย ๆ ด้วยแพลตฟอร์ม Low-Code อย่าง WordPress หรือ Wix เพียงไม่กี่วัน จากนั้นหากต้องการระบบซื้อขายออนไลน์ (eCommerce) ก็ยังสามารถเชื่อมต่อและติดตั้ง (Integration) ซอฟต์แวร์อื่นกับเว็บได้เลย เช่น Shopify ในเวลาไม่กี่นาทีพร้อมราคาสุดประหยัด
Template เว็บไซต์สำเร็จรูปใน Wix แพลตฟอร์ม Low-Code สำหรับการสร้างเว็บไซต์
5.มีประสิทธิภาพและทันสมัยกว่า
สำหรับองค์กรที่ก่อตั้งมานานหลายปีแล้วโดยเฉพาะก่อนยุคดิจิทัล การหันมาใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่อย่าง Low-Code ยังช่วยประหยัดต้นทุนเพราะซอฟต์แวร์ระบบเก่า หรือที่เรียกกันว่า Legacy System ที่สร้างขึ้นด้วยการเขียนโค้ดหลายหมื่นบรรทัดในสมัยก่อนนั้นสร้างภาระค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาให้กับองค์กรอย่างมหาศาลแทนที่จะได้นำเงินทุนเหล่านั้นไปคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ
ตัวอย่างเช่น 75% ของงบด้าน IT ของรัฐบาลสหรัฐฯ ต้องหมดไปกับการบำรุงรักษาระบบคอมพิวเตอร์ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ 25 ปีที่แล้ว ซึ่งมักไม่รองรับการทำงานร่วมกับเทคโนโลยีทันสมัยในปัจจุบัน เช่น ระบบคลาวด์ เป็นต้น ดังนั้นองค์กรที่ต้องการเติบโตและปรับตัวให้เข้ากับโลกอนาคตได้อย่างรวดเร็วจึงต้องนำ Low-Code เข้ามาปรับใช้นั่นเอง
จะเห็นได้ว่าการใช้เทคโนโลยี Low-Code มีประโยชน์มากมายหลายประการ และช่วยยกระดับการพัฒนาซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันต่าง ๆ ให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในราคาต้นทุนที่ต่ำกว่าเดิม นับเป็นโอกาสอันดีของสตาร์ทอัพและองค์กรต่าง ๆ ในไทยที่จะนำนวัตกรรม Low-Code นี้ไปพัฒนาธุรกิจและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตเท่าทันโลกอนาคตต่อไป