ถอดบทเรียน 3 ข้อหลักจากแวดวงสตาร์ทอัพในประเทศญี่ปุ่น

October 10, 2022

เมื่อนึกถึงประเทศที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีอันดับต้น ๆ ของโลก แน่นอนว่า “ญี่ปุ่น” คงจะเป็นหนึ่งในคำตอบของใครหลายคนแน่นอน เพราะเต็มไปด้วยแบรนด์ชื่อดังมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าชื่อดังอย่าง Toshiba หรือรถยนต์ที่หลายบ้านเลือกใช้อย่าง Toyota

ทว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่อยู่แถวหน้าของเทคโนโลยีเหมือนกันอย่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษ หรือเกาหลีใต้แล้ว ระบบนิเวศของธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศญี่ปุ่นกลับยังไม่ค่อยเฟื่องฟูและอุดมสมบูรณ์เท่าที่ควร แต่เหตุผลเบื้องหลังคืออะไรกันแน่ บทความนี้จาก InnoHub จะพามาหาคำตอบไปพร้อมกัน!

ระบบนิเวศของสตาร์ทอัพในญี่ปุ่น

ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นเริ่มขึ้นในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงประมาณทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นไป โดยมีตัวเลขผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ (GDP) เฉลี่ยแล้วสูงถึง 3.89% ซึ่งนับว่ามากกว่าสหรัฐอเมริกาที่มี GDP ประมาณ 3.07% ยิ่งไปกว่านั้น ในปี 1989 ธุรกิจของญี่ปุ่นจำนวน 13 แห่ง ติดอันดับ 20 บริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก ส่วนธุรกิจสัญชาติอเมริกันติดอันดับเพียง 6 แห่งเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นต้องหยุดชะงักลงตั้งแต่ช่วงปี 1991 เพราะภาวะฟองสบู่จนได้รับการขนามนามว่าเป็น “ทศวรรษที่สาบสูญ”  หรือ The Lost Decade เลยทีเดียว แม้ปัจจุบันเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวขึ้นบ้าง (Nominal GDP อันดับที่ 3 ของโลกในปี 2022) แต่สำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพที่จะช่วยสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกลับยังเป็นรองประเทศพัฒนาแล้วในกลุ่มเดียวกันอยู่ค่อนข้างมาก

สถิติจาก CB Insights บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลด้านธุรกิจและการลงทุน พบว่าในเดือนกรกฎาคม ปี 2022 สตาร์ทอัพระดับ Unicorn ทั่วโลกมีจำนวนทั้งหมด 1,100 แห่ง 400 กว่าบริษัทในนั้นเป็นของอเมริกา แต่มีเพียง 6 บริษัทที่ก่อตั้งขึ้นในญี่ปุ่น นอกจากนี้ ในปี 2022 มูลค่าเงินลงทุนจาก Venture Capital (VC) ในอเมริกายังสูงถึง 166 พันล้านดอลลาร์ ส่วนในญี่ปุ่นนั้นคิดเป็น 1.5 พันล้านดอลลาร์เท่านั้น

หลัง WWII เศรษฐกิจของญี่ปุ่นเติบโตอย่างก้าวกระโดดจนได้รับการเรียกขานว่าเป็นยุค Japanese Economic Miracle (มหัศจรรย์ของเศรษฐกิจญี่ปุ่น)

3 เหตุผลทำไมธุรกิจสตาร์ทอัพในญี่ปุ่นไม่ค่อยเติบโต

ตัวเลขข้างต้นสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงระบบนิเวศของแวดวงสตาร์ทอัพในญี่ปุ่นที่ยังไม่แข็งแกร่งขึ้นตามเศรษฐกิจระดับมหภาค และเป็นรองประเทศอื่น ๆ หลายแห่งในกลุ่มอุตสาหกรรมชั้นนำเดียวกัน ซึ่งหลัก ๆ แล้วเป็นผลกระทบจากความท้าทายสำคัญ 3 ข้อต่อไปนี้นั่นเอง

1.มุ่งเจาะตลาดภายในประเทศเท่านั้น

สตาร์ทอัพจากประเทศญี่ปุ่นมักจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาเพื่อชาวญี่ปุ่นและเน้นทำการตลาดเฉพาะในประเทศเท่านั้น เพราะส่วนใหญ่มักต้องเผชิญกับความท้าทายด้านกำแพงภาษาและวัฒนธรรมที่ผู้คนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่ค่อยใช้งานภาษาอังกฤษ เสพคอนเทนต์ หรือชื่นชอบสินค้าบริการจากทางฝั่งตะวันตกเท่าไรนัก


Hogil Doh ผู้จัดการด้านการลงทุนจาก Rakuten Ventures บริษัทร่วมลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีใหม่ ๆ ของประเทศญี่ปุ่น ยกตัวอย่างให้สำนักข่าว CNBC ฟังว่า สตาร์ทอัพที่ให้บริการแพลตฟอร์มด้านการตลาดดิจิทัลชื่อ From Scratch จากญี่ปุ่นนั้นมีความคล้ายคลึงกับ Salseforce ซอฟต์แวร์การจัดการลูกค้าสัมพันธ์ (CRM) ชื่อดังของโลกอย่างมาก แต่ทาง From Scratch ได้เลือกออกแบบและปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ลูกค้าชาวญี่ปุ่นโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาพลักษณ์ ดีไซน์ และฟีเจอร์ต่าง ๆ

เว็บไซต์ของ b→dash แพลตฟอร์มด้านการตลาดดิจิทัลที่พัฒนาโดย From Scratch

แน่นอนว่าตลาดภายในประเทศญี่ปุ่นมีขนาดค่อนข้างใหญ่และมูลค่าสูง จนสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุน (From Scratch ได้รับ 28 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากนักลงทุนในประเทศ) พร้อมดำเนินธุรกิจอย่างราบรื่นต่อไปได้ แต่นี่ก็อาจเป็นกำแพงที่กักขังสตาร์ทอัพจากแดนอาทิตย์อุทัยให้ไม่สามารถขยายกิจการบุกตลาดต่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน กำแพงดังกล่าวก็ป้องกันไม่ให้นวัตกรรมใหม่ ๆ จากต่างประเทศได้ลองเข้ามาแข่งขันและแลกเปลี่ยนไอเดียทางธุรกิจด้วยเช่นกัน



2.ไม่กล้าเสี่ยงทำอะไรนอกกรอบ

ในสังคมและวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่น การออกมาริเริ่มเปิดบริษัทสตาร์ทอัพเป็นของตัวเอง หรือเรียนจบแล้วเข้ามาทำงานในบริษัทขนาดเล็กมักจะไม่ใช่ค่านิยมของผู้คนส่วนใหญ่ที่ต่างก็ถูกหล่อหลอมทั้งจากผู้ปกครองและคนใกล้ชิดถึงการตั้งใจเรียนเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย จากนั้นสมัครเป็นพนักงานขององค์กรขนาดใหญ่ มีชื่อเสียง และดูมั่นคง

นอกจากนี้ ความล้มเหลวและความผิดพลาดที่เกิดขึ้นก็ยังกลายเป็นเสมือนตราบาปที่มักจะโดนล้อเลียนหรือดูแคลนอีกด้วย ดังนั้นชาวญี่ปุ่นรวมถึงเด็กรุ่นใหม่หลายคในประเทศนจึงอาจไม่กล้าเสี่ยงเดินทางตามฝันของตัวเอง หรือพยายามปลุกปั้นสตาร์ทอัพเพื่อประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมและออกแบบบริการที่แปลกใหม่จากเดิมเท่าไรนัก

ทั้งนี้ ผลสำรวจชิ้นหนึ่งพบว่า ผู้ประกอบการชาวญี่ปุ่นจำนวนมากถึง 55% กลัวว่าตัวเองจะเผชิญกับความล้มเหลวหากลงมือก่อตั้งธุรกิจแม้ว่าจะมีแนวคิดและเล็งเห็นโอกาสก็ตาม ซึ่งนับว่าเป็นสถิติที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งโลกที่ประมาณ 40% และสูงกว่าประเทศผู้นำด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีอื่น ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา (30%) สิงคโปร์ (40%) และเยอรมนี (40%)

3.อัตราการเกิดของเด็กรุ่นใหม่ลดต่ำลง

อีกหนึ่งความท้าทายที่แม้จะเกิดขึ้นกับอีกหลายประเทศทั่วโลก แต่กลับค่อนข้างรุนแรงเป็นพิเศษกับประเทศญี่ปุ่น คือ เรื่องอัตราการเกิด หรือ Birth Rate ของเด็ก ๆ รุ่นใหม่ที่ลดต่ำลงเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา มีทารกเกิดใหม่เพียง 805,000 คนเท่านั้น ซึ่งน้อยลงกว่าปี 2020 ถึง 2.8% หรือ 840,832 คนเลยทีเดียว

อัตราการเกิดในญี่ปุ่นมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตัวเลขนี้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลกที่ 2.4 ในปี 2019

วิกฤต Fertility Crisis ดังกล่าวยิ่งตอกย้ำและส่งผลกระทบทั้งต่อความท้าทายในข้อแรกและข้อที่สอง เพราะขนาดของตลาดและมูลค่าเศรษฐกิจภายในประเทศญี่ปุ่นจะยิ่งลดน้อยลงเรื่อย ๆ ในอนาคต นอกจากนี้ อัตราการเกิดต่ำยังทำให้จำนวนแรงงานลดน้อยลง จนธุรกิจสตาร์ทอัพอาจเฟ้นหาพนักงานมากฝีมือโดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยี IT แขนงต่าง ๆ ได้อย่างยากลำบากมากขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย



ปัจจัยหลักทั้ง 3 ประการข้างต้นแม้จะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการในประเทศญี่ปุ่น แต่ก็ยังคงคล้ายคลึงกับความท้าทายในหลายประเทศ รวมถึงไทยเองด้วยเช่นกัน ดังนั้นหากเราศึกษาข้อผิดพลาดและเก็บมาเป็นบทเรียน อุตสาหกรรมสตาร์ทอัพของเราจะสามารถหาหนทางป้องกันและรับมือกับวิกฤตดังกล่าวได้อย่างทันท่วงที

Share this article

Subscribe to InnoHub!

Stay updated and inspired

เรานำข้อมูลมาใช้เพื่อการส่งมอบคอนเทนต์และบริการอย่างเหมาะสม เราจะปกป้องความเป็นส่วนตัวของคุณ คุณสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Privacy Policy และคลิกสมัครเพื่อดำเนินการต่อ