Yield Farming สร้างรายได้จำนวนมหาศาล จากการปล่อยสินทรัพย์ดิจิทัลให้กู้ยืม
การลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลกำลังเฟื่องฟูอย่างมากในปัจจุบันโดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ เพราะถึงแม้ตลาดจะผันผวนและมีความเสี่ยงที่สูงมาก แต่ก็มีนักลงทุนจำนวนไม่น้อยที่กล้าเข้ามาหวังเก็บเกี่ยวผลตอบแทนสูง ๆ ติดไม้ติดมือกลับไป โดยหนึ่งในวิธียอดนิยมของการสร้างรายได้ด้วยวิธีดังกล่าว คือ การรับดอกเบี้ยจากการปล่อยกู้ยืมเหรียญคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) บนโลกออนไลน์ หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า Yield Farming
บทความจาก InnoHub วันนี้จะมาอธิบายให้ฟังว่า อาชีพนักลงทุนยุคใหม่นี้คืออะไรกันแน่ หลักการของ Yield Farming เป็นอย่างไร ยุ่งยากมากแค่ไหน ที่สำคัญคือสามารถสร้างกำไรจนรวยได้ง่าย ๆ จริงหรือ มีความเสี่ยงอะไรที่ต้องกังวลหรือเปล่า ติดตามหาคำตอบทั้งหมดนี้ไปพร้อมกันได้เลย
Yield Farming คืออะไร
Yield Farming เป็นการทำกำไรจากการนำสกุลเงินดิจิทัลประเภทต่าง ๆ ไปปล่อยให้คนอื่นกู้ยืมในแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) และมีลักษณะเป็น Decentralized Finance (DeFi) กล่าวคือ ไม่จำเป็นต้องทำธุรกรรมผ่านตัวกลางอย่างสถาบันการเงินเหมือนสมัยก่อน ขอเพียงแค่มีอินเตอร์เน็ตและกระเป๋าเงินออนไลน์เท่านั้นก็พอ
ดังนั้น หากลองสรุปสั้น ๆ แล้ว Yield Farming คือ การเก็บเกี่ยวดอกผลของเหรียญคริปโทเคอร์เรนซีที่เรานำไปปล่อยให้คนอื่นยืมบนระบบบล็อกเชน เราคือผู้สร้างสภาพคล่องให้ตลาด (Liquidity) หรืออีกชื่อหนึ่งคือ Liquidity Providers (LP) จึงได้รับรางวัลตอบแทนที่อาจสูงถึง 1,000% แต่ต้องคำนึงไว้เสมอว่าแค่เพียงชั่วคราวก็อาจตกลงไปเหลือ 50% ได้เหมือนกัน
Yield Farming ทำงานอย่างไร
ผู้ปล่อยกู้ต้องมีกระเป๋าเงินออนไลน์พร้อมคริปโทเคอร์เรนซีภายในนั้นเสียก่อน จากนั้นจึงค่อยนำไปเชื่อมต่อและฝากเหรียญเข้าไปใน Liquidity Pool หรือ คลังสินทรัพย์สกุลเงินดิจิทัล บนแพลตฟอร์มที่ทำงานด้วยระบบ DeFi ซึ่งมีหลากหลายแห่งให้เลือกใช้ ยกตัวอย่าง เช่น Uniswap และ PancakeSwap
แพลตฟอร์มปล่อยกู้ ซื้อขาย และแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลต่าง ๆ เหล่านี้จะได้กำไรจากการคิดค่าธรรมเนียมในการใช้งาน จากนั้นทุก ๆ ปี ก็จะนำปันผลส่วนหนึ่งมาตอบแทนให้กับเหล่า Yield Farmer ผู้ช่วยทำให้ตลาดของพวกเขามีสภาพคล่องมากขึ้นนั่นเอง
ปัจจุบัน ข้อมูลจาก Forbes รายงานว่าการทำ Yield Farming บนเทคโนโลยีล้ำสมัยอย่าง DeFi อาจให้ผลตอบแทนมากกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของสถาบันการเงินธรรมดาได้สูงถึง 100% นอกจากนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2562 ตลาดของธุรกิจการปล่อยสกุลเงินดิจิทัลให้กู้ยืมเช่นนี้มีมูลค่ามากถึง 2.5 แสนล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ความเสี่ยงของ Yield Farming
แม้ตัวเลขของผลตอบแทนอาจจะสูงมากขนาดไหน แต่ผู้ที่ต้องการสร้างรายได้ด้วยการทำ Yield Farming อาจจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่ปกตินั้นค่อนข้างขาดสภาพคล่องอยู่เป็นทุนเดิม
ความเสี่ยงอีกประการหนึ่ง คือ การสูญเสียเงินทุนชั่วคราว หรือ Impermanent Loss ซึ่งเกิดขึ้นได้บ่อยครั้งในการลงทุน เพราะมูลค่าของสินทรัพย์ดิจิทัลที่นำไปลงทุนไว้บนแพลตฟอร์มเปลี่ยนแปลงไปจากมูลค่าในตอนแรก
นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงในด้านความปลอดภัย เพราะถึงแม้ว่าระบบ DeFi ออกแบบมาให้มีความปลอดภัยสูงแต่ระบบนี้ก็ยังอยู่ภายใต้ข้อจำกัดและการควบคุมของข้อตกลงดิจิทัล (Smart Contract) และซอฟต์แวร์ของแพลตฟอร์มที่ทำงานด้วยระบบ DeFi บางแห่งไม่มีมาตรการป้องกันการจู่โจมทางไซเบอร์ที่เพียงพอ จึงตรวจจับแฮกเกอร์ที่ต้องการเข้ามาขโมยเงินดิจิทัลภายในแพลตฟอร์มหรือบัญชีของลูกค้าไม่ได้อย่างทันท่วงที ซึ่งหากโดนมือดีขโมยไปก็ไม่สามารถฟ้องร้องหรือแจ้งความได้อีกด้วย เพราะยังไม่มีกฎหมายมารองรับนั่นเอง
อีกทั้งตลาดการทำ Yield Farming นั้นมีการแข่งขันกันค่อนข้างสูงและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ผลตอบแทนสามารถผันผวนได้ทุกวินาที หากผู้ลงทุนเก็งกำไรสำเร็จด้วยวิธีเดิมเป็นเวลานาน คนอื่น ๆ ก็จะหันมาใช้กลยุทธ์เดียวกันตามไปด้วย จนผลตอบแทนก็อาจลดลงในที่สุด