การรักษากระแสเงินสดทางรอดสำหรับสตาร์ทอัพในยุคโควิด-19
ในช่วงเวลาที่กำลังเกิดวิกฤติเช่นนี้ กระแสเงินสดอาจเป็นตัวตัดสินว่าธุรกิจไหนจะรอดหรือร่วง โดยเฉพาะบริษัทสตาร์ทอัพที่อาจยังไม่มีเงินสดมากพอสำหรับความเสี่ยงในการจะพัฒนาโมเดลธุรกิจที่สามารถขยายหรือลดขนาดได้
อย่างไรก็ตาม มีหนทางมากมายสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพที่จะรักษากระแสเงินสดไว้ หรือแม้แต่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในช่วงเวลาวิกฤติเช่นนี้
ทำงานที่ไหนก็ได้
การระบาดของโคโรนาไวรัสในครั้งนี้ทำให้เราต้องมองวิธีการทำงานในแบบใหม่ หลายธุรกิจกำลังเรียนรู้ว่าการมีพื้นที่ออฟฟิศอาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นอีกต่อไป เพราะการที่พนักงานทำงานจากที่บ้าน จะสามารถช่วยประหยัดเงินและนำไปสู่ข้อได้เปรียบหลายอย่าง
จากการวิเคราะห์พบว่า ระดับมีความพึงพอใจในการทำงานของพนักงานสูงขึ้นและพนักงานทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อทำงานจากที่บ้าน
Matt Mullenweg ผู้ก่อตั้ง Automattic ธุรกิจสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นที่ให้บริการแพลตฟอร์ม Publishing ที่โด่งดังอย่าง WordPress และ Tumblr มักจะตอกย้ำเรื่องการทำงานจากที่ไหนก็ได้อยู่เสมอ โดยเขาเรียกมันว่า “การทำงานแบบกระจายตัว” เพราะสำหรับบริษัทที่นำการทำงานแบบกระจายตัวมาปรับใช้ จะสามารถจ้างพนักงานที่มีความแตกต่างในเขตเวลาของแต่ละประเทศได้และยังทำให้พวกเขาสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดเวลา ในขณะที่องค์กรที่ยังต้องเข้าออฟฟิศไม่สามารถทำแบบนี้ได้
ในขณะที่บริษัทเก่า ๆ ทั้งหลายอาจใช้เงินจำนวนมหาศาลในการซื้อออฟฟิศในพื้นที่ที่มีมูลค่าสูงลิ่ว แต่ธุรกิจสตาร์ทอัพกลับสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ออฟฟิศที่เล็กกว่า และสามารถปรับตัวก้าวแบบก้าวกระโดดและทำงานแบบกระจายตัวได้เกือบทันที
ใช้ประโยชน์จากสินเชื่อและการลดหย่อนภาษี
ตอนนี้ธนาคารหลายแห่งกำลังเสนอสินเชื่อพิเศษพร้อมอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงเพื่อช่วยให้ธุรกิจต่าง ๆ ฝ่าวิกฤติโควิด-19 ไปได้ นอกจากนี้ ผู้ให้สินเชื่อฟินเทคยังทำงานร่วมกับธนาคาร เพื่อช่วยจัดหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมอีกด้วย
ในขณะนี่ รัฐบาลไทยยังมีมาตรการการลดหย่อนภาษีและการขยายเวลาพักชำระหนี้ในระดับที่มีนัยสำคัญสำหรับ SMEsธุรกิจสตาร์ทอัพควรสำรวจสิทธิเหล่านี้อย่างรอบคอบ เพราะความสามารถในการรักษากระแสเงินสดที่มี และการได้มาซึ่งแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่จะชี้ชะตาทางรอดของธุรกิจท่ามกลางวิกฤตนี้
เรียกเก็บเงินจากลูกค้า
แม้ว่านี่คือช่วงวิกฤตทางเศรษฐกิจที่ท้าทายสำหรับทุกคน และรวมถึงลูกค้าของคุณด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ยังมีกลยุทธ์ ที่คุณสามารถจูงใจให้ลูกค้าจ่ายหนี้ที่ค้างชำระอยู่ได้ นั่นคือ การทำโปรแกรมให้รางวัล (Rewards Programs) และการมอบส่วนลดสำหรับผู้ที่ชำระเงินก่อนกำหนด วิธีนี้จะทำให้ลูกค้ารู้สึกดีและช่วยให้บริษัทเก็บเงินได้เร็วมากขึ้น แม้จะไม่ได้เงินเต็มจำนวน แต่การมีเงินสดอยู่ในมือย่อมดีกว่าการมีแต่หนี้ที่ยังเรียกเก็บไม่ได้
จ้างคนนอกมาทำงาน
เจ้าของสตาร์ทอัพมักจะเป็นคนที่มุ่งมั่น กล้าหาญ และพึ่งพาตัวเองได้ แต่คุณสมบัติที่ดีเหล่านี้อาจเป็นกับดักที่ทำให้พวกเขาพยายามทำอะไรหลาย ๆ อย่างด้วยตัวเองมากเกินไป การจ้างให้คนนอกมาทำงานบางประเภท เช่น การเงิน การตลาด การบริหารทรัพยากรบุคคล อาจช่วยให้ได้งานที่มีประสิทธิภาพมากกว่า ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า และยังทำให้เจ้าของธุรกิจได้มีสมาธิอยู่กับการทำงานที่ช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับลูกค้าได้ ซึ่งนับว่าเป็นวิธีที่ดีและใช้ได้ผลอยู่เสมอในการเพิ่มจำนวนลูกค้าผู้เข้ามาใช้บริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ ณ ตอนนี้
ข้อได้เปรียบของสตาร์ทอัพ
แนวความคิดที่ได้แนะนำไปไม่มีหลักเกณฑ์ที่ตายตัวว่าจะต้องนำไปใช้กับธุรกิจสตาร์ทอัพเท่านั้น บริษัทที่ใหญ่และอยู่มานานก็สามารถนำไอเดียเหล่านี้ไปใช้ได้เช่นกัน แต่สตาร์ทอัพมักมีความได้เปรียบกว่า ตรงที่สามารถปรับเปลี่ยนสิ่งต่าง ๆ ในบริษัทได้ง่าย เนื่องจากไม่มีลำดับชั้นการทำงานหลายขั้นตอน รวมถึงไม่ได้มีขนาดออฟฟิศที่ใหญ่มากนัก ในขณะเดียวกัน แม้ว่านักลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพเองจะให้ความสำคัญกับการเติบโตและสร้างผลตอบแทนของธุรกิจอย่างจริงจัง แต่การแบกรับภาระจากความต้องการในการเติบโตในธุรกิจของสตาร์ทอัพนั้น ยังไม่หนักหนาเท่าบริษัทที่มีขนาดใหญ่
การวางแผนกระแสเงินสดที่ดีและการปรับกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว ไม่ได้แค่ช่วยประคองให้สตาร์ทอัพอยู่ได้เท่านั้น แต่ยังเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย