เบื้องหลังความสำเร็จของสตาร์ทอัพไม่ว่าจะขนาดเล็ก หรือแม้กระทั่งขนาดใหญ่ระดับยูนิคอร์น ไม่ได้มีแค่เรื่องราวที่สวยงามเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้พวกเขาต้องผ่านความล้มเหลวมาก่อน ผู้ประกอบการยุคใหม่จึงควรศึกษาข้อมูลและเรียนรู้จากความผิดพลาดเหล่านี้ เพื่อที่จะได้ก้าวไปในเส้นทางการทำธุรกิจที่ถูกต้อง โดยที่ไม่ต้องลองผิดลองถูกด้วยตนเอง
สถิติจากเว็บไซต์ Review 42 แสดงให้เห็นว่า มีสตาร์ทอัพเกิดใหม่เพียงครึ่งเดียวที่อยู่รอดไปได้ถึงห้าปี และเพียง 40% เท่านั้น ที่สามารถทำกำไรได้ ในแวดวงไอที ความสำเร็จและความล้มเหลวนั้นอยู่ใกล้กันมาก และการก้าวพลาดเพียงครั้งเดียวอาจทำให้เกิดความเสียหายที่ไม่อาจกู้อะไรคืนกลับมาได้เลย
การผิดพลาดที่พบได้บ่อยของสตาร์ทอัพมีดังนี้
1. แผนการตลาดที่ไม่มีประสิทธิภาพ
การทำให้คนรู้จักธุรกิจของคุณเป็นเรื่องสำคัญ เพราะไม่ว่าคุณมีสินค้าและบริการที่ยอดเยี่ยมขนาดไหน แต่ถ้าลูกค้ากลุ่มเป้าหมายไม่รู้จัก ธุรกิจของคุณก็จะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ความเชื่อมั่นของลูกค้าเป็นอีกสิ่งที่สำคัญ หากสินค้านั้นหาได้ง่าย เช่น เสื้อยืดหรือน้ำส้มคั้น ลูกค้าอาจเปลี่ยนไปทดลองแบรนด์ใหม่ได้ตลอดเวลา แต่สำหรับสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ลูกค้ามีแนวโน้มจะยอมจ่ายแพงขึ้นเพื่อซื้อสินค้าที่น่าเชื่อถือ ดังนั้นบริษัทจึงต้องสร้างและรักษาชื่อเสียงอยู่เสมอหากคุณไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าได้ ลูกค้าก็จะเลือกเลือกใช้แบรนด์ที่คุ้นเคยเท่านั้น ดังนั้น คุณจึงควรกำหนดกลุ่มลูกค้าและหาวิธีหาวิธีเข้าถึงพวกเขา และชี้ให้เห็นว่าสินค้าและบริการของคุณเหมาะสมกับความต้องการของพวกเขาอย่างไร
2. คาดคะเนไปเอง
หลายครั้ง สตาร์ทอัพประสบปัญหาจากการไม่สามารถปรับตัวได้เร็วพอ เช่น จากการระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้หลายบริษัทต้องประสบปัญหาที่ไม่คาดคิดมาก่อน เนื่องจากได้คาดการณ์ไว้แล้วว่าปี 2020 ก็จะเหมือนกับปี 2019 และสิ่งที่เคยใช้ได้ดีในปี 2019 ก็จะยังคงดีอยู่ในปี 2020 โดยไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยที่อาจเข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกิจทั้งคู่แข่งรายใหม่ เทคโนโลยีใหม่ กฎระเบียบใหม่ของทางภาครัฐ จนถึงการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทาน หรือการทำงานจากที่บ้านและการช้อปปิ้งออนไลน์ ล้วนแล้วแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ที่จริงแล้วสตาร์ทอัพได้เปรียบกว่าบริษัทใหญ่ตรงที่สามารถปรับตัวได้ง่ายกว่าเมื่อเกิดเหตุจำเป็น แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า ผู้นำขององค์กรจะต้องมองเห็นเรื่องนี้ได้ทันเวลา และไม่ยึดมั่นถือมั่นอยู่กับกลยุทธ์ สินค้า หรือรูปแบบการทำธุรกิจแบบเดิม
3. แผนธุรกิจที่ไม่มีประสิทธิภาพ
สิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพมีเหมือนกันคือไอเดียสินค้าและบริการที่ยอดเยี่ยม แต่หลายคนล้มเหลวจากการขาดประสบการณ์ในการวางแผนและลงมือสร้างธุรกิจ สิ่งสำคัญคือการมีเป้าหมายที่ชัดเจนและคอยติดตามความก้าวหน้าของเครื่องมือที่ใช้วัดผลการดำเนินงาน หรือ KPI ซึ่งการที่จะทำแบบนั้นได้ ผู้ประกอบการจะต้องวางแผนธุรกิจอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ง่ายต่อการวัดผลและควบคุมให้งานเป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยอาจเริ่มจากการตั้งเป้าหมายทางธุรกิจตามเทคนิค SMART ซึ่งประกอบไปด้วย
Specific – เฉพาะเจาะจง
Measurable – ตรวจสอบและวัดผลได้
Achievable – บรรลุเป้าหมายได้
Relevant – สอดคล้องกับเป้าหมาย
Time-bound – มีช่วงเวลาที่ชัดเจน
หากวางแผนงานได้ตามนี้ สตาร์ทอัพก็จะสามารถเดินไปสู่เป้าหมายและจัดการกับปัญหาได้รวมถึงการบริหารจัดการสภาพคล่องทางด้านการเงินซึ่งเป็นอีกหนึ่งเรื่องหลักสำคัญอันเป็นปัจจัยที่จะส่งผลให้สตาร์ทอัพไปต่อได้หรือต้องตัดสินใจหยุดดำเนินธุรกิจ
4. ขาดความมั่นใจ
ไอเดียบางอย่างของสตาร์ทอัพนั้นก็ดูเกินจริงจนแทบจะเป็นไปไม่ได้ จนอาจขาดความมั่นใจที่จะลองเสี่ยงทำสิ่งใหม่ ๆ หากไอเดียของคุณยังคงดูเป็นไปได้หลังจากผ่านการวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ จากผู้มีประสบการณ์ คุณควรเก็บคำแนะนำต่าง ๆ เพื่อพัฒนาไอเดียให้ดียิ่งขึ้น และอย่าเพิ่งถอดใจ
ไผท ผดุงถิ่น ซีอีโอแห่ง Builk Asia และ Builk One Group พบว่าความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเขาเรียนรู้ที่จะมองข้ามเสียงวิพากษ์วิจารณ์และคำถามมากมายไปเสีย
การลงมือทำสำคัญที่สุด
กุญแจสู่ความสำเร็จของยูนิคอร์นที่ทำกำไรได้หลายพันล้านคือ การทำงานให้หนัก ความอดทนและพลังในการต่อสู้และปรับตัว การมีไอเดียที่ใช่เพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอที่จะนำพาสตาร์ทอัพสู่ความสำเร็จ แต่ต้องมีการตัดสินใจที่ถูกต้องและเป็นเหตุเป็นผล เพราะหากขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไป คุณก็อาจประสบกับความล้มเหลว และในวันที่คุณประสบความสำเร็จแล้ว คุณก็จะสามารถแบ่งปันประสบการณ์และข้อควรระวังให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่ต่อไปได้