มองไกลไปสู่ความยั่งยืนของสตาร์ทอัพ
ตลอดปีที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์สำคัญต่างๆ มากมายทั่วโลก และประเด็นปัญหาเหล่านั้นเป็นที่น่าจับตามองว่ายังมีแนวโน้มดำเนินต่อไปไม่หยุดยั้ง เช่น เรื่องการระบาดของโรคโควิด-19 และผลกระทบที่เกิดกับสภาพความเป็นอยู่ของคนทั่วโลก รวมถึงสถานการณ์การประท้วงในหลาย ๆ พื้นที่ ด้วยสถานการณ์มากมายที่เกิดขึ้น อาจนำพาเราไปสู่การหลงลืมประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ที่เรียกได้ว่าเป็น ‘ข่าวนิ่ง (slow news)’
คำว่า ‘ข่าวนิ่ง’ หมายถึงประเด็นที่เกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลานานแล้ว แต่อาจไม่ได้เป็นที่น่าจับตามอง หรืออยู่ในกระแสมากนัก เป็นเหตุการณ์ที่มีความสำคัญไม่ด้อยไปกว่ากัน แต่อาจเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว ตัวอย่าง ของข่าวนิ่งที่เด่นๆ เช่น เรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อภาวะโลกร้อน เป็นต้น
ท่ามกลางการต่อสู้กับโรคโควิด-19 ทำให้หลายประเทศทั่วโลกเกิดความร่วมมือและพยายามอย่างหนักเพื่อจะจำกัดการแพร่ระบาดของไวรัสชนิดนี้ ความร่วมมือระดับนานาชาติเช่นนี้เป็นสิ่งที่ควรเกิดกับการแก้ไขปัญหาเรื่องอื่นๆ ด้วยเช่นกัน อย่างเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเช่นกัน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของประเทศส่วนใหญ่กลับมีดำเนินการและร่วมมือกันช้าเหลือเกิน และนี่อาจคือโอกาสทองของบริษัทเอกชนและสตาร์ทอัพที่เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมที่จะมีบทบาทขึ้นมา
สิ่งที่น่ากังวลยิ่งกว่า
ในทศวรรษที่ผ่านมา ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเด่นชัดมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ที่จริงแล้ว เหตุการณ์ยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เมื่อพื้นที่หลายส่วนของประเทศออสเตรเลียมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเนื่องจากเกิดไฟป่ารุนแรงจนไม่อาจควบคุมเพลิงไว้ได้ ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา
ราวหนึ่งเดือนก่อน อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change – UNFCCC) เปิดเผยว่า ระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รายวันพุ่งขึ้นถึงระดับสูงสุดที่ 418.12 ppm ตัวเลขนีนับเป็นเรื่องน่าตกใจ เพราะชี้ให้เห็นว่าระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้โลกของเราอยู่ในระหว่างของการเว้นระยะห่างทางสังคมและการล็อกดาวน์ก็ตาม
มีการคาดการณ์ว่าการชะลอตัวของภาคธุรกิจที่ผลพวงมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดนั้น จะส่งผลให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงประมาณ 8% ซึ่งแม้ว่าการลดลงดังกล่าวอาจช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อนลงได้ในระดับนึง แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นก็ยังเป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้ามได้ และต้องอาศัยความพยายามอย่างมากในการฟื้นตัว ผู้เชี่ยวชาญบางคนมีความกังวลว่า การพยายามมุ่งฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างหนักของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ นั้นอาจทำให้หลายประเทศ ยอมสละเป้าหมายระยะยาวในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมไป
ความช่วยเหลือจากสตาร์ทอัพ
สตาร์ทอัพมักเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการนำเทคโนโลยีมาใช้จัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก เช่นเดียวกับที่ธุรกิจอย่าง Grab และ Uber ที่สร้างการเปลี่ยนแปลง และปฏิวัติวงการการเดินทางและการขนส่งมาแล้ว
SensorFlow สตาร์ทอัพจากประเทศสิงคโปร์ ใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาประสิทธิภาพของห้องพักในโรงแรม โดยใช้ข้อมูลผู้เข้าพักเพื่อลดการสิ้นเปลืองพลังงานจากการใช้เครื่องปรับอากาศและระบบอื่น ๆ Third Wave Power สตาร์ทอัพอีกแห่งจากประเทศสิงคโปร์ ใช้วิธีการที่คล้ายกันนี้ พวกเขาส่งเสริม Smart City Solution รวมถึงระบบพลังงานแบบ Off-Grid ซึ่งหมายถึงไฟฟ้าที่ผลิตโดยบริษัทเอกชนและเป็นอิสระจากระบบส่วนกลาง
นอกจากนี้ยังมี CarbiCrete กรีนสตาร์ทอัพที่มุ่งสร้างความสะอาดให้ภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก อุตสาหกรรมการก่อสร้างนั้นพึ่งพาการใช้ซีเมนต์อย่างมหาศาล ซึ่งนับเป็น 8% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก CarbiCrete ผลิตคอนกรีตที่ไม่มีส่วนผสมของซีเมนต์และคาร์บอน โดยใช้ของเสียจากการทำเหมืองแร่และคาร์บอนไดออกไซด์เป็นวัตถุดิบ
บริษัทเหล่านี้ และอีกหลายบริษัทเทคโนโลยีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังมุ่งมั่นอย่างมากในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ เพื่อเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ในด้านต่าง ๆ ให้ดีขึ้น ทั้งในทางตรงและทางอ้อม
ขยายขอบเขตธุรกิจ
สตาร์ทอัพเหล่านี้เป็นกุญแจสำคัญไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนของเรา แต่หนทางของพวกเขามักต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างมายในช่วงแรกของการเติบโต เช่น ข้อจำกัดทางการเงินตั้งแต่ตอนตั้งต้นในช่วงที่พยายามดึงดูดนักลงทุน
ขั้นตอนการหาเงินทุนนั้นอาจทำให้ความสนใจในเรื่องการดำเนินงานหลักและโมเดลทางธุรกิจถูกลดลงไป และเป็นอีกครั้งที่จุดมุ่งหมายระยะยาว (‘ข่าวนิ่ง’ ของโลกธุรกิจ) นั้น บางครั้งก็ถูกลดความสำคัญลงไปด้วยเมื่อต้องเผชิญกับความกดดันจากการหาเงินทุน
เพราะฉะนั้น การหานักลงทุนที่ใช่จึงเป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน และบทความก่อนหน้านี้เองของเราเคยพูดถึงเรื่องนี้เอาไว้แล้วว่า กรีนสตาร์ทอัพจะประสบความสำเร็จได้ต้องอาศัยการมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนแม่นยำร่วมกับการสนับสนุนจากภายนอก ด้วยแนวทางนี้จะช่วยให้กรีนสตาร์ทอัพสามารถหาเงินทุนเพื่อใช้ในการขยายธุรกิจ และเป็นโอกาสที่ดีในการส่งมอบความยั่งยืนให้กับสังคมตามวิสัยทัศน์ที่วางไว้ด้วย