อุตสาหกรรมสุขภาพในไทยจะเติบโตอย่างเต็มศักยภาพได้อย่างไร
วงการการแพทย์และสุขภาพของประเทศไทยกำลังตื่นตัวและมีศักยภาพที่แข็งแกร่ง เห็นได้จากกราฟที่ลดลงของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 นับเป็นการแสดงให้เห็นถึงการทำงานที่ยอดเยี่ยมและสะท้อนให้เห็นว่าอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพมีบทบาทสำคัญอย่างมากในความสำเร็จครั้งนี้
ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประเทศไทยได้ครองส่วนแบ่งตลาดการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์สูงเกือบ 90% ในภูมิภาคเอเชีย ยิ่งในปัจจุบันที่ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศได้ กลายเป็นตัวเร่งสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ชั้นนำระดับโลกตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้อุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพของประเทศไทยจะสามารถเข้าถึงศักยภาพอย่างเต็มที่นั้น ต้องเริ่มจากการจัดการปัญหาสำคัญที่อยู่ในระบบ เช่น ระยะเวลารอคอยในการรับการรักษา ซึ่งยังคงเป็นปัญหาหลักสำหรับคนไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องขั้นตอนการจ่ายยาที่อาจจะมีความยุ่งยาก โดยปัญหาเหล่านี้มักมีสาเหตุมาจากการขาดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในองค์กร เช่นเดียวกับระบบการดูแลสุขภาพของประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก
ก้าวเข้าสู่สตาร์ทอัพด้าน HealthTech
สตาร์ทอัพด้าน HealthTech ของไทยจำนวนมาก ได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามา เพื่อปรับปรุงคุณภาพและการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ในประเทศ โดยมีการนำเทคโนโลยีบางอย่างเข้ามาใช้ อย่างเช่นการโอนถ่ายข้อมูล การประชุมทางไกล การเก็บข้อมูลแบบอัตโนมัติ เทคโนโลยี IoT และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ช่วยให้ธุรกิจสตาร์ทอัพสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่เหมาะสม และตอบสนองต่อความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของแพทย์และผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น
Arincare ให้บริการสั่งจ่ายยาในรูปแบบดิจิทัลที่ช่วยให้แพทย์สามารถสั่งจ่ายยาให้คนไข้ในระบบออนไลน์ได้อย่างปลอดภัยโดยไม่ต้องไปถึงโรงพยาบาล ซึ่งการให้บริการนี้ช่วยปรับปรุงการเข้าถึงยารักษาโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนไข้ในพื้นที่ชนบท และยังช่วยลดระยะเวลาและความยุ่งยากในการจัดการคลังยาของโรงพยาบาลและคลินิกได้เป็นอย่างอย่างดี
Diamate เป็นแอปพลิเคชันที่ช่วยในการควบคุมดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยเก็บรวบรวมข้อมูลระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยจัดอันดับคุณภาพอาหารและประเมินภาวะโภชนาการ และแจ้งให้ผู้ป่วยปรับปริมาณยาเมื่อจำเป็น นอกจากนี้ยังเป็นช่องทางให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานสามารถปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพได้อย่างใกล้ชิด และเชื่อมต่อกับชุมชนผู้ใช้แอปพลิเคชันด้วยกันได้อีกด้วย
Chiiwii แอปพลิเคชันที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถขอรับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญผ่านทางออนไลน์ ซึ่งผู้ป่วยสามารถนัดหมายกับผู้เชี่ยวชาญได้อย่างง่ายดาย โดยปรึกษาได้ทั้งในด้านสุขภาพเด็ก สุขภาพสตรี สุขภาพจิต โรคผิวหนัง กระดูกและข้อ รวมถึงเภสัชกรรม และอื่น ๆ
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางส่วนของสตาร์ทอัพเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพที่น่าสนใจของประเทศไทย ซึ่งนี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของหนทางไปสู่ความก้าวหน้าของวงการแพทย์และสุขภาพไทยให้เติบโตไปอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการที่ลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ แสดงถึงความมุ่งมั่นของพวกเขาต่อความสำเร็จที่ยิงใหญ่พร้อมกับการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้คน ซึ่งหนทางข้างหน้าอาจไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป
ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายกลุ่ม และหลักการ 3P
ความท้าทายของสตาร์ทอัพในวงการเทคโนโลยีสุขภาพนั้นมีมากกว่าในวงการอื่น ๆ เพราะด้วยตัวเทคโนโลยีเองนั้นก็มีความซับซ้อนมากอยู่แล้ว ต่างจากภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ที่มีแนวทางดำเนินงาน ในการมอบสินค้าและบริการที่ตรงใจให้แก่ผู้ใช้งานเท่านั้น ในขณะที่วงการสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีสุขภาพนั้น จำเป็นจะต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนส่วนเสียหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น หน่วยงานภาครัฐ ผู้บริหารโรงพยาบาล แพทย์ คนไข้ และบริษัทประกันต่าง ๆ ว่าจะพึงพอใจกับบริการของพวกเขาด้วย ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งท้าทายที่จะทำให้ทุกฝ่ายพึงพอใจ
ในการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จบนเส้นทางที่ยากลำบากเช่นนี้ มีคำแนะนำสำหรับสตาร์ทอัพในวงการเทคโนโลยีสุขภาพจากหนังสือ The Third Wave ที่เขียนโดย สตีฟ เคส ซึ่งมีคำแนะนำจากผู้ก่อตั้ง AOL ว่า สตาร์ทอัพควรดำเนินธุรกิจตามหลัก 3 P ได้แก่ Policy, Partnership และ Perserverance
Policy จะต้องมาเป็นอันดับแรก เนื่องจากการดำเนินธุรกิจให้เป็นไปตามกฎระเบียบของรัฐบาลนั้นคือสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะนั่นหมายถึงการได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจได้นั้นเอง
Partnership คือการรับฟังผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลและการร่วมมือกันระหว่างสตาร์ทอัพในวงการเทคโนโลยีสุขภาพรายอื่น ๆ ซึ่งบริการด้านเทคโนโลยีสุขภาพนั้นเป็นบริการที่เฉพาะกลุ่มและเจาะจง ดังนั้นการร่วมมือกันจะก่อให้เกิดประโยชน์มากกว่าการแข่งกันเอง
สุดท้าย Perseverance คือ การทำงานอย่างมุ่งมั่นและมีความอดทน เพื่อสร้างโมเดลธุรกิจที่สามารถขยายตัวได้ และอาจต้องใช้เวลาในการพัฒนาหลายปี ซึ่งผลสำเร็จที่ได้รับนั้น ถือว่าคุ้มค่ามากพอกับความทุ่มเท เพราะไม่ใช่แค่เพียงความสำเร็จในทางธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นการช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คนทอีกด้วย