โควิด-19 เป็นตัวเร่งนวัตกรรมจริงหรือ
ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและรุนแรงแบบที่ไม่มีใครในโลกนี้ตั้งตัวทัน การปราศจากความพร้อมในการเตรียมตัวรับมือ ทำให้หลายประเทศประสบปัญหามากมาย ทั้งความล่าช้าในการตรวจหาผู้ติดเชื้อ หน้ากากอนามัยไม่เพียงพอ ความสับสนในนโยบายป้องกันส่วนบุคคล และการถกเถียงกันอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับความเหมาะสมของการล็อกดาวน์เศรษฐกิจ เฉพาะประเทศไทย มีการคาดการณ์แล้วว่าคนจำนวนหลายล้านคนต้องตกงานในช่วงเดือนแรก ๆ ของวิกฤติครั้งนี้ และการฟื้นฟูให้ทุกอย่างคืนกลับมาเป็นเหมือนเดิมนั้นต้องใช้เวลาและความพยายามอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการเกิดโรคระบาดใหญ่ครั้งก่อน ๆ และเหตุการณ์ประวัติศาสตร์อื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกันนี้ ส่งผลให้มีการสร้างระบบสังคมและเศรษฐกิจที่มั่นคงยิ่งขึ้น ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการปรับตัวที่จำเป็นต่อชีวิตในโลกที่มีความไม่แน่นอน หลักฐานบางอย่างชี้ให้เห็นว่าความก้าวหน้าที่ใกล้เคียงกันกำลังจะมาถึงอีกครั้งในการระบาดครั้งนี้
ทำงานได้ทุกที่ – ทำทุกที่ให้เป็นที่ทำงาน
ในขณะที่พนักงานเรียนรู้ที่จะทำงานที่บ้าน ธุรกิจต่าง ๆ ก็พากันต้องปรับตัวโดยปริยายในการเรียนรู้การติดตั้งระบบเพื่อรองรับการทำงานจากที่บ้านของพนักงานได้ และเริ่มที่จะเห็นประโยชน์ของการทำงานระยะไกล ที่ช่วยให้ธุรกิจประหยัดพื้นที่สำนักงานและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ในขณะที่พนักงานก็ไม่ต้องเดินทางและสามารถใช้เวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
แอปพลิเคชันการประชุมทางวิดีโอเช่น WebEx, BlueJeans และ Microsoft Teams ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในช่วงเหตุการณ์ที่ผ่านมา และเป็นบทเรียนที่สำคัญของหลายธุรกิจ กล่าวคือ การทำงานระยะไกลพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การทำงานไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมของออฟฟิศเสมอไป อันที่จริง ถ้าทำถูกวิธี การทำงานจากที่บ้านนั้นมีข้อได้เปรียบบางอย่างที่การทำงานในออฟฟิศไม่สามารถให้ได้
พนักงานสามารถทำงานได้ทุกที่บนโลกใบนี้ มากกว่าการนั่งอยู่ในพื้นที่อันจำกัดของออฟฟิศ และการทำงานร่วมกันไม่จำเป็นจะต้องทำทุกอย่างพร้อมกัน เราสามารถสื่อสารเรื่องสำคัญ ๆ ภายในองค์กรได้ด้วยการบันทึกข้อความหรือวิดีโอและเปิดให้ทุกคนได้ฟังเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องและตรงกัน บางการประชุมที่ “สามารถเขียนเป็นอีเมลได้” ก็ควรเป็นแค่อีเมลและวิธีทำงานที่ลดบรรยากาศของห้องประชุมนี้ ยังช่วยให้พนักงานที่มีบุคลิกค่อนข้างเก็บตัวและพูดน้อย กล้าแสดงความคิดเห็นออกมามากกว่าตอนที่ต้องนั่งประชุมร่วมกันหลาย ๆ คน
ห่วงโซ่อุปทานระดับโลก
โควิด-19 ทำให้หลายประเทศทั่วโลกต้องลดกำลังในการผลิตและการขนส่งลงโดยปริยาย ทำให้ธุรกิจต้องหาทางชดเชยด้วยการพัฒนาโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานทางเลือกใหม่ขึ้นมา โดยต้องใช้วิธีการที่มีความยืดหยุ่น และสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงได้มากขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีจะเข้ามาเป็นตัวช่วยอีกเช่นเคย
เทคโนโลยีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Internet of Things เครือข่าย 5G ที่มีความเสถียร หุ่นยนต์ในคลังสินค้า รถบรรทุกไร้คนขับ การทำธุรกรรมผ่านบล็อกเชน รวมถึงนวัตกรรมอื่น ๆ จะมีบทบาทสำคัญอย่างมากในภูมิทัศน์ห่วงโซ่อุปทานในอนาคต บริษัทที่คิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้ได้อย่างรวดเร็วจะกลายเป็นผู้ครองตลาดในภูมิภาคได้เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม
โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลสำหรับเมืองอัจฉริยะ
การวางแผนจากส่วนกลางมักมีความล่าช้าของระบบราชการเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่การแพร่ระบาดที่รวดเร็วของโรคโควิด-19 บังคับให้รัฐบาลในหลายประเทศต้องคิดมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างฉับไว เช่น ที่ประเทศจีน รัฐบาลใช้เวลาเพียง 10 วันในการสร้างโรงพยาบาลชั่วคราว ซึ่งมีพื้นที่ถึง 645,000 ตารางฟุต สามารถรองรับผู้ป่วยได้มากกว่า 1,000 เตียง ในขณะที่รัฐบาลเกาหลีใต้ก็สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลังจากที่ในช่วงแรกมีจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเกาหลีใต้ใช้วิธีการปูพรมตรวจหาผู้ติดเชื้อ ทำงานร่วมกับภาคเอกชน และใช้สมาร์ทโฟนเป็นสื่อกลางในการแจ้งเตือนประชาชน
เทคโนโลยีกลายมาเป็นตัวช่วยสำคัญในการต่อสู้กับการระบาดใหญ่ และบทเรียนที่สำคัญจากวิกฤตินี้ นั่นคือ ประโยชน์ของโครงสร้างพื้นฐาน “เมืองอัจฉริยะ” รัฐบาลที่ได้เห็นความจำเป็นของการทำงานที่รวดเร็ว การให้ข้อมูลที่ชัดเจน และการประสานงานกับประชาชนทั้งประเทศ มีแนวโน้มที่จะลงทุนในเทคโนโลยีที่ช่วยให้การทำงานดังกล่าวเกิดขึ้นได้จริง