Blockchain กับบทบาทในการจัดการข้อมูลในอนาคต
ถ้าจะต้องซื้อแหวนเพชรสักวงหนึ่งนั้น ผู้ซื้อย่อมต้องการการยืนยันว่าเพชรที่ได้มาเป็นของแท้หรือไม่ เพราะเราไม่อาจรู้ได้ว่าเพชรเม็ดนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร การออกใบ Certificate โดยผู้ค้าอาจสร้างความมั่นใจได้ในระดับหนึ่ง แต่จะดีกว่าไหมหากมีช่องทางออนไลน์ที่ผู้ซื้อสามารถตรวจสอบที่มาที่ไปของเพชรเม็ดนั้นได้ทันที และมั่นใจได้ว่าข้อมูลนั้นถูกต้องสามารถเชื่อถือได้ 100% ไม่มีการปลอมแปลงโดยร้านค้าหรือผู้ผลิต สิ่งนี้คือแนวคิดของ ระบบตรวจสอบอัญมณีที่มีเบื้องหลังเป็น Distributed Ledger Technology (DLT) ที่มีชื่อว่า Blockchain
เมื่อมีการแลกเปลี่ยนข้อมูล คอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องจะทำการบันทึกรายการธุรกรรมใหม่และธุรกรรมที่ผ่านมาและเข้ารหัสลงในสมุดของตน ก่อนจะแจ้งให้ผู้อื่นในเครือข่ายทราบ ซึ่งการเข้ารหัสรายการธุรกรรมย้อนหลังและการเก็บรายการในเครือข่ายจะช่วยยืนยันความถูกต้องของข้อมูลทั้งหมดและป้องกันการปลอมแปลงข้อมูลในระบบทั้งหมด
เทคโนโลยีนี้ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการทำงานของ Bitcoin สกุลเงินดิจิทัลที่สามารถส่งต่อจากผู้ใช้หนึ่งไปยังอีกผู้ใช้หนึ่งโดยไม่ผ่านตัวกลาง เทคโนโลยีดังกล่าวจุดประกายให้เกิดการพัฒนา DLT รูปแบบอื่นๆขึ้นอีกมากมาย ด้วยดีไซน์ที่ป้องกันการปลอมแปลงข้อมูลโดยธรรมชาติ และทำงานได้โดยปราศจากผู้ดูแลคนกลาง ทำให้เหมาะแก่การนำไปใช้พัฒนาระบบอื่นๆที่ต้องการเก็บข้อมูลที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เน้นความถูกต้องของข้อมูล และมีความโปร่งใสตรวจสอบได้โดยสมาชิกเครือข่าย
ในช่วงไม่กี่ปีให้หลังมานี้ เริ่มมีความสนใจในการนำเทคโนโลยี Blockchain และ Distributed Ledger อื่นๆไปใช้สร้างแอปพลิเคชันต่างๆ เช่น ธุรกิจสายการบิน ที่ใช้ Blockchain เป็นระบบเบื้องหลังของกระเป๋าสตางค์ดิจิทัลสำหรับใช้จ่ายคะแนนสะสมของสายการบิน, หรือ BBL เอง ก็ได้นำ Corda เทคโนโลยี Distributed Ledger รูปแบบหนึ่งมาพัฒนาแพลตฟอร์มสินเชื่อเพื่อการค้า (Trade Finance) ที่ช่วยให้การค้าระหว่างประเทศดำเนินได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยี DLT นั้นยังเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ถูกตั้งคำถามอยู่มาก เช่นในกรณีของ Blockchain ที่ก่อให้เกิดความกังวลถึงทรัพยากรที่ใช้และความท้าทายในด้านโครงสร้างของเครือข่าย เช่น หากจำนวนสมาชิกของเครือข่ายน้อยเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของระบบหรือความต้องการทรัพยากรคอมพิวเตอร์ในเครือข่ายที่สูงขึ้นตามปริมาณข้อมูล เป็นต้น ซึ่งแม้จะมีข้อจำกัดอยู่บ้างแต่ก็ยังมีความพยายามที่จะพัฒนาเทคโนโลยี DLT อย่างต่อเนื่องจากทั้งแวดวงธุรกิจและวิชาการ
จากตัวอย่างที่กล่าวไปแล้ว จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยี Blockchain และ เทคโนโลยี Distributed Ledger ในปัจจุบันนั้นไม่ได้จำกัดอยู่กับสกุลเงินดิจิทัลเท่านั้น เพราะเทคโนโลยีดังกล่าวมีศักยภาพที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงระบบที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจและชีวิตประจำวันได้อีกมากมายและถูกพัฒนาความสามารถอยู่ตลอดเวลา จึงเป็นที่น่าติดตามว่าเทคโนโลยีนี้จะไปได้ไกลแค่ไหน จะอยู่ในรูปแบบใดบ้างในอนาคต ซึ่งหากมีข่าวสารใดเกี่ยวกับ Blockchain หรือ DLT อื่นที่น่าสนใจ Bangkok Bank InnoHub ก็ไม่พลาดหยิบยกขึ้นมาเล่าให้ฟังอย่างแน่นอน
#BangkokBank #BangkokBankInnoHubSeason2 #InspiringChange