ย่อวัตถุให้เล็กจิ๋วระดับนาโน ด้วย 3D Printing

February 11, 2019

ย่อวัตถุให้เล็กจิ๋วระดับนาโน ด้วย 3D Printing

           เมื่อช่วงปลายปี 2018 ที่ผ่านมา สถาบัน MIT ได้เผยถึงงานวิจัยเทคนิคการย่อส่วนวัตถุ 3 มิติลง 1000 เท่า
ที่ฟังดูน่าตื่นเต้นราวกับหลุดออกมาจากนิยายวิทยาศาสตร์ ซึ่งในอนาคตอาจนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาหุ่นยนต์ การแพทย์ การวิจัย และประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆได้มากมาย

           นักวิจัยจาก MIT ประสบความสำเร็จในการย่อส่วนวัตถุ 3 มิติลงได้ในสเกล 1 ต่อ 1000 ด้วยเทคนิคที่เรียกว่า Implosion Fabrication ซึ่งประกอบไปด้วยการใช้แสงเลเซอร์ กำหนดโครงสร้างวัตถุ 3 มิติลงไปในเจลชนิดพิเศษ และยิงแสงเลเซอร์เข้าไปเพื่อทำการเชื่อมโมเลกุลของวัตถุเข้ากับเจล จากนั้นเมื่อเติมกรดลงไปในเจลนี้ เจลจะหดตัวลง ทำให้วัตถุถูกย่อขนาดลงตามไปด้วยทั้งใน 3 มิติ กว้าง ยาว และสูง

           เทคนิค Implosion Fabrication นี้จะทำให้นักวิจัยสามารถสร้างวัตถุขนาดนาโนขึ้นได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นด้วยอุปกรณ์ที่ห้องแล็ปส่วนใหญ่มีอยู่แล้ว อีกทั้งยังใช้วัสดุได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นโลหะ ควอนตัมดอต DNA พลาสติกและพอลิเมอร์ก็ตาม ความสำเร็จในครั้งนี้นับว่าน่าตื่นเต้นมาก เพราะนั่นหมายความว่าการสร้างวัตถุขนาดจิ๋วจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปสำหรับนักวิจัยทั่วโลก

           แล้ววัตถุขนาดจิ๋วมีความสำคัญอย่างไร? คำตอบก็คือชิ้นส่วนขนาดเล็กนั้นเป็นที่ต้องการจากอุตสาหกรรมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นในการผลิตหุ่นยนต์ขนาดเล็กที่สามารถเดินทางเข้าไปในร่างกายของผู้คนเพื่อตรวจสอบปฏิกิริยาของยา สำรวจการทำงานของร่างกาย หรือแม้แต่เป็นผู้ช่วยผ่าตัด การสร้างยาที่มีความซับซ้อนยิ่งขึ้น เช่น ยาที่จะเริ่มทำงานเมื่อเข้าใกล้เซลล์มะเร็ง ด้วยโมเลกุลขนาดเล็กจิ๋วซึ่งเลียนแบบโครงสร้างของ DNA ไปจนถึงการสร้างชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก เช่นหน่วยประมวลผลและเลนส์ถ่ายภาพที่จะทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในมือเรานั้นทำงานได้ดีกว่าเดิม

           เจ้าของงานวิจัยผู้คิดค้นเทคนิคนี้เชื่อว่าเทคนิค Implosion Fabrication นี้จะสามารถสร้างนวัตกรรมขนาดจิ๋วขึ้นได้มากมาย และช่วยเปิดประตูไปสู่โลกที่เราจินตนาการไปไม่ถึงด้วยซ้ำ ซึ่งในอนาคตนั้นอาจกลายเป็นการย่อวัตถุที่พบเห็นได้ตามห้องแล็ป สถานศึกษา หรือแม้แต่ในบ้านเรือนทั่วไป ด้วยเทคนิคดังกล่าวที่ทั้งง่าย ใช้อุปกรณ์ไม่ซับซ้อน และมีความปลอดภัยจากสารพิษ เมื่อมีผู้คนสามารถเข้าถึงเทคนิคการย่อส่วนนี้ได้อย่างแพร่หลายแล้ว เราก็ย่อมจะได้เห็นนวัตกรรมขนาดจิ๋วเกิดขึ้นมากมายแบบที่เราอาจยังจินตนาการไปไม่ถึงเลยด้วยซ้ำ

อ่านเพิ่มเติม >> How smart are smart contracts : สัญญาอัจฉริยะแห่งโลกอนาคต

Share this article

Subscribe to InnoHub!

Stay updated and inspired

เรานำข้อมูลมาใช้เพื่อการส่งมอบคอนเทนต์และบริการอย่างเหมาะสม เราจะปกป้องความเป็นส่วนตัวของคุณ คุณสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Privacy Policy และคลิกสมัครเพื่อดำเนินการต่อ