4 บทเรียนจากคดีดังของ เอลิซาเบธ โฮล์มส เจ้าของ Theranos สตาร์ทอัพที่หลอกลวงคนทั่วโลก
ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2557 ได้เกิดคดีความที่ตกอยู่ในความสนใจของผู้คนทั่วทั้งโลก นั่นก็คือ คดีฉ้อโกงของ เอลิซาเบธ โฮล์มส ประธานบริษัทเทรานอส (Theranos) สตาร์ทอัพเทคโนโลยีด้านสุขภาพ สัญชาติอเมริกัน ที่ครั้งหนึ่งเคยมีมูลค่าสูงหลายแสนล้านบาท และประสบความสำเร็จอันดับต้น ๆ ของวงการแพทย์ เพราะครอบครองลิขสิทธิ์ของนวัตกรรมเปลี่ยนโลก “เอดิสัน”
เทคโนโลยีที่ว่านี้ คือ เครื่องเจาะเลือดเพื่อตรวจสุขภาพสมัยใหม่ โดยใช้เลือดที่ถูกเจาะจากปลายนิ้วเพียงเล็กน้อย ก็เทียบเท่ากับการเก็บตัวอย่างเลือดในปริมาณหลายมิลลิลิตร และใช้เวลาไม่นานก็สามารถรู้ผลได้ด้วยตัวเอง เทรานอสอ้างว่า อุปกรณ์ดังกล่าวสามารถพลิกโฉมอุตสาหกรรมการแพทย์ในปัจจุบันได้อย่างสิ้นเชิง จากที่เคยต้องเสียเวลาและเงินจำนวนมากเพื่อเดินทางไปโรงพยาบาล ผู้ป่วยสามารถใช้เอดิสันตรวจสุขภาพได้อย่างสะดวกและรวดเร็วในเวลาเพียงไม่กี่นาที
ด้วยภาพลักษณ์ของ CEO เอลิซาเบธ โฮล์มส ที่เป็นนักธุรกิจหญิงหน้าใหม่ไฟแรง และนิตยสารชื่อดังอย่างฟอร์บส (Forbes) ยังจัดอันดับให้เธอเป็นผู้หญิงอายุน้อยที่สุด ที่สร้างตัวจนสามารถกลายเป็นมหาเศรษฐีได้ ผนวกกับท่าทางและคำพูดที่เต็มไปด้วยความมั่นใจ ผู้คนมากมายจึงให้ความสนใจและเข้ามาลงทุนในเทคโนโลยี “เอดิสัน” นี้กันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง
บริษัทเทรานอสที่เคยเป็นเพียงสตาร์ทอัพไร้เงินทุนกลับกลายเป็นหนึ่งในบริษัทแถวหน้าใน Silicon Valley เพียงชั่วข้ามคืน นักธุรกิจหน้าใหม่หลายคนต่างก็เห็น เอลิซาเบธ โฮล์มส เป็นต้นแบบของความสำเร็จ ทุกอย่างดูเหมือนจะสมบูรณ์แบบ
แต่แท้จริงแล้ว เทรานอสกลับมีความลับซ่อนอยู่ เพราะความจริงแล้วบริษัทนี้ไม่เคยสร้างเทคโนโลยีใด ๆ ได้เป็นผลสำเร็จ เพียงแต่ใช้อุปกรณ์ของบริษัทอื่นเพื่อตรวจผลบังหน้า และสุดท้าย เรื่องราวทั้งหมดก็ถูกเปิดเผยว่า “เอดิสัน” เป็นเพียงผลิตภัณฑ์ที่อวดสรรพคุณเกินจริงจากคำลวงของเอลิซาเบธ จนถูกศาลสหรัฐฯ ตั้งข้อหาว่าหลอกเงินทุนจากนักลงทุนและผู้บริโภคทั่วโลก
การหลอกลวงของเอลิซาเบธ โฮล์มส สร้างความเสียหายอย่างมหาศาล อ้างอิงจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา พบว่า บริษัทเทรานอสฉ้อโกงเงินคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณสองหมื่นล้านบาท) ด้วยการโฆษณาผลิตภัณฑ์ปลอมมากถึง 12 คดี
คดีอื้อฉาวครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับสตาร์ทอัพ วันนี้ InnoHub จึงขอสรุปข้อคิด 4 ข้อที่ควรเรียนรู้จากกรณีของ เอลิซาเบธ โฮล์มส เพื่อที่จะไม่เดินตามรอยบริษัทเทรานอส และพาสตาร์ทอัพของคุณให้ก้าวสู่ความสำเร็จได้อย่างที่ตั้งใจ
- อย่าพูดเกินจริงและให้สัญญากับผู้บริโภคในสิ่งทำไม่ได้
ผู้ประกอบการหน้าใหม่ทุกคนต่างมีความทะเยอทะยาน กระตือรือร้น และมักมองว่าบริษัทของตัวเองยอดเยี่ยมที่สุด ซึ่งแม้จะถือเป็นเรื่องดีที่ผู้ประกอบการมีความมุ่งมั่นตั้งใจเต็มเปี่ยม แต่บางครั้งก็อาจส่งผลเสียได้เช่นกัน หากเป็นการบิดเบือนความจริงและส่งผลกระทบกับบุคคลอื่น
ผู้ประกอบการควรพึงระลึกอยู่เสมอว่าไม่ควรให้คำมั่นสัญญากับผู้บริโภคในสิ่งที่ทำไม่ได้ เพราะหากได้เอ่ยออกไปแล้ว ลูกค้าก็ย่อมคาดหวังผลลัพธ์ตามที่กล่าวไว้ ซึ่งกลายเป็นแรงกดดันภายในองค์กรที่ต้องส่งมอบสินค้าหรือบริการที่จริงๆแล้วบริษัทยังไม่มีทรัพยากรมากพอที่จะทำได้สำเร็จ
นอกจากนี้ เมื่อสินค้าหรือบริการดังกล่าวถึงมือผู้บริโภคแล้วก็ย่อมสร้างความผิดหวังเพราะไม่ตรงตามความต้องการ อีกทั้งยังส่งผลเสียไปถึงชื่อเสียงของบริษัทด้วยเช่นกัน จากงานวิจัยพบว่าโดยเฉลี่ยแล้วผู้บริโภคที่ไม่พึงพอใจในสินค้าและบริการมีแนวโน้มที่จะบอกต่อแก่บุคคลใกล้ชิดเกี่ยวกับประสบการณ์ที่ไม่ดี มากกว่าประสบการณ์ที่ตัวเองพึงพอใจ
- แม้จะดูน่าเชื่อถือแต่ต้องตรวจสอบได้
ใคร ๆ ก็พร้อมที่จะลงทุนกับบริษัทที่โด่งดังและคาดว่าจะเป็นดาวรุ่ง เทรานอสถือเป็นบริษัทเนื้อหอมของผู้มีชื่อเสียงทั่วโลก ทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เจมส์ แมททิส และอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ เฮนรี คิสซิงเจอร์ รวมไปถึงนักการเมืองอเมริกันที่มีชื่อเสียงมากมาย ต่างเข้ามาลงทุนกับอนาคตใหม่ของเทรานอส แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่าพวกเขาเหล่านั้นได้ตรวจสอบประวัติการเงินและข้อมูลบริษัทอย่างถี่ถ้วนแล้วหรือไม่
นักลงทุนที่ดีควรค้นหาข้อมูลเชิงลึกของหุ้นส่วนที่จะร่วมลงทุน พยายามอ่านเอกสาร ข้อมูล พร้อมถามคำถามหรือทดสอบเพื่อที่จะยืนยันว่าคุณได้ลงทุนหรือทำงานในบริษัทที่มีผลิตภัณฑ์จริง ถึงแม้อาจจะดูยุ่งยากสักหน่อยแต่เป็นสิ่งที่คุ้มค่ากับเวลาที่เสียไปอย่างแน่นอน
- เงินทุนจำนวนมากไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป
การล่มสลายของบริษัทเทรานอสเป็นอีกหนึ่งคำเตือนสำหรับผู้ประกอบการหน้าใหม่ให้ระวังการระดมทุนในจำนวนที่มากเกินไป บริษัทเทรานอสได้ระดมทุนผ่านทาง VC หรือ Venture Capital หลายต่อหลายครั้ง โดยได้รับเงินระดมทุนรวมกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
และเนื่องจากเทรานอสถือเป็นบริษัทที่ได้รับเงินทุนมหาศาล จากนักลงทุนทั้งรายเล็กและรายใหญ่ นั่นจึงกลายเป็นความกดดันมากขึ้นที่ต้องพิสูจน์ให้นักลงทุนเห็นว่าเงินเหล่านั้นจะถูกนำไปใช้ในการพัฒนานวัตกรรมเปลี่ยนโลกและสร้างผลตอบแทนที่ดีให้นักลงทุนได้
ผู้ประกอบการจึงควรกำหนดจำนวนเงินที่ต้องการระดมทุนอย่างชัดเจน ให้สอดคล้องกับแผนการใช้เงินในอนาคต และพิจารณาว่าภายหลังการระดมทุนแล้วบริษัทจะมีเงินทุนรวมเท่าไร โดยปกติแล้วการระดมทุนควรอยู่ที่ประมาณร้อยละ 15-30 จากมูลค่าโดยรวมของบริษัท เฉพาะในช่วงแรกเริ่มทำธุรกิจไม่ควรระดมทุนเกินกว่าร้อยละ 30 เพราะบริษัทที่ได้รับเงินลงทุนจำนวนมากจากนักลงทุน ย่อมต้องแบกรับความคาดหวัง และเป้าหมายที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน ผู้ประกอบการจึงควรระดมทุนจากภายนอกองค์กรในระดับที่เหมาะสม
- การมองต่างมุมเป็นสิ่งสำคัญ
หากเจ้าของกิจการรู้สึกหงุดหงิดใจ เวลาที่คนอื่น ๆ ในบริษัทโต้เถียงและไม่เห็นด้วยกับความคิดของตัวเอง นี่อาจเป็นหนึ่งสัญญาณที่ต้องพึงระวัง การเป็นผู้นำรวบอำนาจเชิงเบ็ดเสร็จสามารถสร้างความเสียหายกับบริษัทได้ในระยะยาว เพราะบรรยากาศบริษัทที่เอื้อต่อการทำงานควรเป็นสถานที่ที่เปิดกว้างในการแสดงความคิดเห็นและยอมรับการเปลี่ยนแปลง และรับฟังทัศนคติใหม่ ๆ และหลากหลายจากคนทุกกลุ่ม
การมีเพื่อนร่วมงานที่คอยตักเตือน มองต่างมุม และพร้อมจะโต้แย้งหากมีเรื่องไม่ชอบมาพากลจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะนี่ถือเป็นการตรวจสอบและถ่วงดุลภายในองค์กร และเป็นการขจัดการคิดแบบเหมารวมที่อาจนำไปสู่ความผิดพลาดแบบที่เกิดขึ้นกับเทรานอส เนื่องจากไม่มีใครสามารถออกความคิดเห็นได้นอกจากประธานบริษัท และเดินทางไปสู่ความล้มเหลวพร้อมกันโดยไม่มีใครกล้าโต้แย้ง
กรณีศึกษาของ เอลิซาเบธ โฮล์มส และ บริษัทเทรานอส ครั้งนี้ฉายภาพให้เราเห็นว่าภายในแวดวงสตาร์ทอัพนั้นไม่ได้มีแต่เพียงความสำเร็จอันสวยหรู แต่ยังมีด้านมืดที่เกิดจากความประมาทและไม่มีจรรยาบรรณทางธุรกิจด้วยเช่นกัน ไม่ว่าบริษัทไหนก็ล้วนต้องการที่จะประสบความสำเร็จ แต่หากความสำเร็จนั้นเกิดมาจากความหลอกลวง สุดท้ายแล้วก็ย่อมนำไปสู่หายนะในที่สุด