Revenue Model 4 แบบที่เหมาะนำมาใช้สร้างรายได้และพัฒนาสตาร์ทอัพด้าน AI

August 25, 2023

ปัญญาประดิษฐ์หรือ Artificial Intelligence (AI) เป็นเทคโนโลยีที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดจนสร้างความตื่นตาตื่นใจให้ผู้คนทั่วโลก รวมถึงนักลงทุนและผู้นำในบริษัทต่าง ๆ ที่ต้องการยกระดับธุรกิจของตัวเองด้วยนวัตกรรมนี้ ส่งผลต่อเนื่องให้เกิดบริษัทสตาร์ทอัพด้าน AI ขึ้นมากมาย

วันนี้ InnoHub จึงนำ Revenue Model หรือรูปแบบการหารายได้ให้กับธุรกิจทั้งหมด 4 วิธีมาฝาก เพื่อให้สตาร์ทอัพไทยสามารถเพิ่มศักยภาพในการบริหารและหารายได้ให้กับธุรกิจ และพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ที่มีประสิทธิภาพระดับโลก จะมีวิธีไหนบ้าง ไปดูกันเลย

  1. การชำระเงินครั้งเดียว (One-time Payment)

Revenue Model รูปแบบนี้คือการที่สตาร์ทอัพให้ลูกค้าชำระเงินเพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้นก็สามารถใช้งานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ของบริษัทได้ทันที ซึ่งมีจุดเด่นคือลูกค้าไม่จำเป็นต้องรู้สึกว่ามีภาระค่าใช้จ่ายผูกพันในระยะยาว นอกจากนี้ ยังยืดหยุ่นและสะดวกสบายมากกว่า โดยเฉพาะสำหรับลูกค้าที่มีงบประมาณจำกัด รวมถึงยังช่วยให้บริษัทประเมินและคาดการณ์ง่ายขึ้นว่าจะมีรายได้เข้ามาจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งเป็นผลดีต่อการวางแผนและบริหารจัดการงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนหลัก ๆ ของ Revenue Model รูปแบบนี้คือผู้ประกอบการมีความเสี่ยงที่จะไม่สามารถสร้างรายได้มากพอเพื่อหล่อเลี้ยงบริษัทของตัวเอง ยิ่งไปกว่านั้น ยังขาดโอกาสที่จะสร้าง Customer Loyalty หรือ ความจงรักภักดีที่ลูกค้ามีต่อบริษัท ซึ่งสำคัญกับการขยับขยายธุรกิจและพัฒนาองค์กรให้เติบโตในระยะยาวอีกด้วย นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรระมัดระวังเรื่องกระแสเงินสดเป็นพิเศษหากใช้ Revenue Model นี้เพราะบริษัทไม่สามารถรู้ได้ว่าจะมีลูกค้ามาซื้อผลิตภัณฑ์กี่คนในอนาคต

  1. การเก็บค่าสมาชิก (Subscription)

Revenue Model แบบ Subscription เป็นหนึ่งในวิธีการหารายได้ที่พบบ่อยที่สุดในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ โดยจะให้ลูกค้าชำระเงินเพื่อซื้อผลิตภัณฑ์ตามกรอบระยะเวลานั้น ๆ เช่น รายสัปดาห์ รายเดือน หรือรายปี ซึ่งช่วยให้สตาร์ทอัพสามารถค่อย ๆ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีและความเชื่อใจกับลูกค้าให้ชื่นชอบผลิตภัณฑ์และบริการ AI ของบริษัท จนสร้างกระแสรายได้ที่ค่อนข้างมั่นคงในระยะยาวให้ธุรกิจนั่นเอง

จุดที่ผู้ประกอบการต้องระวังหากเลือกใช้ Revenue Model แบบ Subscription คือ ผู้คนมักพยายามหลีกเลี่ยงการมีภาระค่าใช้จ่ายผูกพันระยะยาวในอนาคต ดังนั้นสตาร์ทอัพจำเป็นต้องแสดงให้ลูกค้าเห็นว่าบริการของตัวเองนั้นคุ้มค่าและใช้งานได้จริง โดยอาจเสนอให้ทดลองใช้ฟรี 1 เดือน เป็นต้น  นอกจากนี้ บริษัทยังควรหมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ AI ของตัวเองให้มีคุณภาพและตอบโจทย์ความต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่องเพื่อลดความเสี่ยงที่ลูกค้าจะยกเลิกการสมัครสมาชิก

  1. การชำระเงินตามการใช้จริง (Usage-Based)

Revenue Model วิธีนี้จะคิดเงินตามปริมาณและระดับฟีเจอร์ที่ลูกค้าใช้งานผลิตภัณฑ์ AI ของบริษัท ยิ่งใช้มากก็ยิ่งราคาสูงขึ้นตามไปด้วย ยกตัวอย่าง เช่น สตาร์ทอัพอาจแบ่งราคาออกเป็น 3 ระดับ โดยแพงขึ้นตามจำนวนผู้ใช้งาน ปริมาณความจุของคลังข้อมูล หรือบริการพิเศษหลังการขายที่สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นต้น

ตัวอย่างการตั้งราคาด้วย Revenue Model แบบ Usage-Based

ข้อควรระวังของการหารายได้รูปแบบนี้ คือ ผู้ประกอบการอาจวางแผนงบประมาณและคาดการณ์กระแสการเงินต่าง ๆ ได้ค่อนข้างยาก เนื่องจาก Revenue Model นี้กำหนดราคาหลากหลายรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป และลูกค้ามีอิสระที่จะเลือกใช้หรือจะยกเลิกการใช้งานผลิตภัณฑ์ของเราเมื่อใดก็ได้ ซึ่งบริษัทสามารถลดความเสี่ยงนี้ด้วยการลงทุนในระบบ Data Analytics เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลเชิงลึกต่าง ๆ นั่นเอง

  1. การเก็บเงินจากยอดขายที่ทำได้ (Revenue Share)

Revenue Model รูปแบบสุดท้ายที่ InnoHub นำมาฝาก คือ Revenue Share ซึ่งหมายถึงการที่สตาร์ทอัพจะได้ส่วนแบ่งจากยอดขายที่ผู้ใช้งานแพลตฟอร์มของตัวเองเป็นคนทำได้ ยิ่งขายได้มากก็ยิ่งต้องชำระเงินค่าใช้บริการแพลตฟอร์มมากตามไปด้วย ยกตัวอย่าง เช่น เทคโนโลยี Chatbot หรือ AI ผู้ช่วยตอบคำถามและขายสินค้า โดยสตาร์อัพผู้พัฒนาแพลตฟอร์มอาจหักเงิน 10% จากยอดขายที่ลูกค้าทำได้เป็นค่าใช้บริการ

หนึ่งในข้อดีที่เด่นชัดที่สุดของ Revenue Model นี้คือสตาร์ทอัพจะสามารถกระจายความเสี่ยงด้านการเงินของตัวเอง เพราะรายได้และผลกำไรจะเติบโตหรือไม่ขึ้นอยู่กกับตัวลูกค้าที่ใช้งานแพลตฟอร์มของบริษัทด้วย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องระมัดระวังคือการลืมให้ความสำคัญกับเป้าหมายระยะยาวของธุรกิจเพราะมัวแต่สนใจที่จะสร้างกำไรให้ได้จำนวนมากในช่วงสั้น ๆ เท่านั้น

Revenue Model ทั้ง 4 รูปแบบด้านบนต่างมีข้อดีและข้อด้อยในตัวเอง ดังนั้น InnoHub ขอแนะนำให้สตาร์ทอัพไทยพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนเลือกใช้แต่ละวิธีเพื่อหารายได้ให้กับบริษัท โดยสามารถผสมผสานหรือประยุกต์ใช้ตามช่วงของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ก็ได้เช่นกัน เพื่อให้นวัตกรรม AI เติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนในอนาคต

Share this article

Subscribe to InnoHub!

Stay updated and inspired

เรานำข้อมูลมาใช้เพื่อการส่งมอบคอนเทนต์และบริการอย่างเหมาะสม เราจะปกป้องความเป็นส่วนตัวของคุณ คุณสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Privacy Policy และคลิกสมัครเพื่อดำเนินการต่อ