น้อง ๆ นักเรียนนักศึกษาและเพื่อน ๆ วัยทำงานที่สนใจทำงานในสาย IT แต่อาจจะไม่ค่อยชอบการเขียนโปรแกรมเท่าไหร่ วันนี้ตาม InnoHub มาสำรวจกันดีกว่าว่า อาชีพสายเทคโนโลยี 5 ตำแหน่งที่แม้จะไม่เชี่ยวชาญด้านการเขียนโค้ดก็สามารถทำได้จะมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย
- Prompt Engineer
ปัจจุบันภาคธุรกิจทั่วโลกต่างเร่งพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเอง โดยมีการคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรม AI จะมีมูลค่าสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดจาก 8 หมื่น 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 ไปแตะ 4 แสน 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2027 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Generative AI ปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถสร้างสรรค์เนื้อหาใหม่ ๆ ขึ้นมาจากฐานข้อมูลเดิมที่มีอยู่ ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวเติบโตเฉลี่ยปีละ 27% (CAGR)
ด้วยเหตุนี้เอง อาชีพใหม่สุดล้ำอย่าง Prompt Engineer จึงถือกำเนิดขึ้นและเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานตามไปด้วย เพราะจะต้องเข้าใจโมเดลของ Generative AI ตัวนั้น ๆ และมีความเชี่ยวชาญในการสื่อสารกับ AI โดยป้อนข้อมูลหรือที่เรียกกว่า Prompt ให้ปัญญาประดิษฐ์ตอบคำถามหรือสร้างผลงานออกมาได้อย่างมีคุณภาพ ครบถ้วนถูกต้องตามความต้องการให้มากที่สุดนั่นเอง
ปัจจุบัน นิตยสารชื่อดังระดับโลกอย่าง Forbes ยกให้อาชีพ Prompt Engineer เป็น “Hot New Job” หรือตำแหน่งงานใหม่สุดร้อนแรงในปี 2023 ที่ต้องเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษเป็นหลัก แต่ไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาโปรแกรมมิ่งแต่อย่างใด โดยเงินเดือนที่ได้รับอาจสูงถึง 335,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 11 ล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว
- UX/UI Designer
อีกหนึ่งอาชีพในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเขียนโค้ดน้อยมาก คือ UX/UI Designer ผู้ต้องมีทักษะในการวิเคราะห์ทำความเข้าใจปัญหา แล้วออกแบบซอฟต์แวร์ประเภทต่าง ๆ ทั้งในรูปแบบแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ เว็บไซต์ ตู้คีออส (Kiosk) เช่น ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ฯลฯ ให้ตอบโจทย์ทั้งด้านความสวยงามสบายตาและช่วยให้ User (ผู้ใช้งานแอป) ได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดี
ตำแหน่งงานสาย UX/UI Designer เป็นที่ต้องการทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทยที่หลายบริษัทต่างกำลังเร่งพัฒนาและแข่งขันกันในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้เงินเดือนของอาชีพนี้ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับงานสายออกแบบภาพกราฟิกธรรมดา โดยนักศึกษาจบใหม่อาจเริ่มต้นที่ 30,000 บาท และเมื่อสะสมประสบการณ์และระดับความเชี่ยวชาญเป็นเวลาหลายปีก็อาจพุ่งไปแตะที่ประมาณ 200,000 บาทต่อเดือนได้เลยทีเดียว
- Product Owner
อาชีพต่อมาคือ Product Owner หรือผู้คอยดูแลและบริหารจัดการภาพรวมทั้งหมด รวมถึงทิศทางในอนาคตให้ผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์นั้น ๆ มีคุณภาพ ตอบโจทย์ผู้ใช้งาน และสามารถเติบโตออกสู่ตลาดได้อย่างราบรื่นและประสบความสำเร็จ ผู้ที่ทำงานในตำแหน่งนี้ควรมีทักษะการสื่อสารเป็นเลิศ เพราะต้องประสานงานร่วมกับแผนกต่าง ๆ มากมาย ตั้งแต่รับฟังข้อคิดเห็นจากลูกค้า สื่อสารกับทีม UX/UI Designer และโปรแกรมเมอร์เพื่อสร้างซอฟต์แวร์ รวมถึงฝั่งการตลาดและทีมพัฒนาธุรกิจด้วย
แม้ว่าอาชีพ Product Owner จะไม่จำเป็นต้องเขียนโค้ดเอง แต่ควรมีความรู้และความเข้าใจเชิงเทคนิค (Technical Knowleadge) เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังผลิตภัณฑ์นั้น ๆ เป็นอย่างดีเพื่อให้สามารถบริหารโปรเจกต์และพูดคุยกับนักพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับค่าตอบแทนของอาชีพ Product Owner มีโอกาสเริ่มตั้งแต่ประมาณ 40,000 – 145,000 บาทต่อเดือน
- Cybersecurity Analyst
อาชีพ Cybersecurity Analyst หรือ นักวิเคราะห์ความปลอดภัยทางไซเบอร์ อาจจะเป็นสายงานใหม่ที่ยังไม่ค่อยคุ้นหูผู้คนในวงกว้าง แต่ถือเป็นหนึ่งอาชีพสาย IT ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะในปัจจุบันที่อาชญากรรมทางไซเบอร์เกิดขึ้นบ่อยครั้งและมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการที่ Hacker เจาะเข้าระบบเข้าไปขโมยข้อมูลสำคัญของบริษัท หรือมิจฉาชีพที่ใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อหลอกผู้บริโภคจนสร้างความเสียหายแก่บริษัทตามไปด้วย เป็นต้น
คนที่อยู่ในตำแหน่ง Cybersecurity Analyst จึงมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะต้องวางกลยุทธ์ป้องกันและรับมืออาชญากรรมไซเบอร์รูปแบบต่าง ๆ ให้กับองค์กร เริ่มตั้งแต่การติดตามข่าวสารเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ บริหารจัดการและอัปเดตซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ให้ทันสมัยอยู่เสมอ คอยตรวจสอบระบบเครือข่ายของบริษัทว่ามีสิ่งผิดปกติหรือไม่ จัดทำและเก็บรวบรวมรายงานต่าง ๆ เกี่ยวกับการป้องกันภัยทางไซเบอร์ โดยเงินเดือนของอาชีพนี้อาจสูงถึงประมาณ 200,000 บาทต่อเดือนตามประสบการณ์
- Technical Support Specialist
อาชีพ Technical Support Specialist หรือที่หลาย ๆ คนรู้จักกันในชื่อ IT Support คือตำแหน่งงานที่จะต้องคอยช่วยเหลือ แก้ไขปัญหา และดูแลเพื่อนพนักงานในองค์กรหรือลูกค้าของบริษัท ให้สามารถใช้งานอุปกรณ์เทคโนโลยีต่าง ๆ ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ได้อย่างถูกต้องและราบรื่นมากที่สุด ซึ่งนับว่าเป็นตำแหน่งงานที่สำคัญต่อการพัฒนาธุรกิจในทุกอุตสาหกรรม
เนื้องานในแต่ละวันของ Technical Support Specialist จะไม่เกี่ยวข้องกับการเขียนโค้ด แต่ต้องอาศัย Soft Skill อย่างทักษะการสื่อสาร ความอดทน การวิเคราะห์เพื่อทางแก้ปัญหา และความรู้ความเข้าใจด้านเทคโนโลยี โดยข้อมูลจาก Glassdoor เว็บไซต์ชื่อดังด้านข้อมูลเกี่ยวกับการจ้างงาน เปิดเผยว่ารายได้ต่อเดือนของสายงานด้าน IT Support ในประเทศไทยจะอยู่ที่ประมาณ 27,000 บาท และสูงสุดถึงประมาณ 100,000 บาท
อย่างไรก็ตาม สำหรับใครที่ต้องการโอกาสก้าวหน้าในสายงาน IT ได้อย่างรวดเร็วเป็นพิเศษ InnoHub ขอแนะนำว่า ควรมีความรู้ด้านการเขียนโค้ดติดตัวไว้ หรือสามารถเข้าใจภาษาโปรแกรมมิ่งได้บ้าง รับรองว่าคุณจะกลายเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานและช่วยพัฒนานวัตกรรมสุดล้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นแน่นอน