7 FinTech trends 2018

October 10, 2018

7 FinTech trends 2018 

           ปี 2018  เป็นปีที่ Financial Technology มีพัฒนาการที่ชัดเจน มีสตาร์ทอัพใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมายและมีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของเราเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  7 FinTech ที่ Bangkok Bank InnoHub ยกมาเล่าในวันนี้ คือเครื่องยืนยันเป็นอย่างดีว่า นวัตกรรมใหม่ ๆ เกี่ยวกับธุรกิจและการเงินนั้นช่วยให้ชีวิตเราง่ายขึ้นแค่ไหน

           ย้อนกลับไปสัก 5-10 ปี การเริ่มต้นลงทุนในตลาดหุ้นไม่ใช่เรื่องที่จะตัดสินใจได้ง่าย และไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าถึงบริการให้คำปรึกษาด้านการลงทุนโดยโบรกเกอร์ได้ เทคโนโลยีทางการเงินที่เรียกกันว่า Robo Advisors จึงถูกนำมาใช้เพื่อช่วยให้การตัดสินใจที่จะลงทุนง่ายขึ้น เพราะเป็นเครื่องมืออันชาญฉลาด ที่ช่วยวางแผนการลงทุนให้คนทั่วไปเข้าถึงได้ โดยตั้งต้นจากข้อมูลของผู้ลงทุนเองเช่น มีรายได้ต่อปีอยู่ที่เท่าไหร่ มีเป้าหมายในการลงทุนอย่างไร สามารถรองรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน แล้วระบบจะคอยช่วยติดตามการลงทุน ช่วยวิเคราะห์หุ้นให้ ซึ่งแม้ Robo Advisors จะยังไม่สามารถทดแทนการให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญในด้านการลงทุนได้ทั้งหมดแต่ก็ถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้ผู้บริโภคที่ต้องการจะเริ่มต้นลงทุนสามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมในงบประมาณที่ไม่มากเกินไปนัก
           ทุกครั้งที่เราใช้งานเว็บไซต์ ทุกครั้งที่เราชมซีรี่ส์ ทุกครั้งที่เราซื้อสินค้าออนไลน์ ทุกครั้งที่เราใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์ค ข้อมูลการใช้งานจะถูกรวมในคลังข้อมูลที่เรียกว่า Big Data ส่วน Big Data Analytics คือกระบวนการที่นักการตลาดและนักวิเคราะห์จะนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์และกลั่นกรองในเชิงลึกเพื่อที่จะนำไปวางแผนการตลาดรวมถึงปรับปรุงสินค้าและบริการของตนให้เข้าใจผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น เช่น แอปสตรีมมิ่งอย่าง Spotify และ Netflix  จะเลือกนำเสนอเพลงหรือทำเพลย์ลิสต์โดยประเมินจากประวัติการฟังเพลงที่ผ่านมาของผู้บริโภคแต่ละคน หรือเทคสตาร์ทอัพสัญชาติแอฟริกาที่ชื่อ InVenture ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะช่วยให้ผู้บริโภคที่ไม่เคยขอสินเชื่อกับสถาบันทางการเงินและไม่มีข้อมูลในระบบสามารถกู้ยืมได้ ก็ใช้โทรศัพท์มือถือเป็นช่องทางให้ผู้ใช้งานส่งข้อมูลการใช้จ่าย แล้วใช้ Big Data Analytic ประเมิน Credit Scoring ให้กับผู้ใช้งานแทน เทคโนโลยีนี้เรียกได้ว่าเป็นประโยชน์ทั้งกับผู้ประกอบการและผู้บริโภค เพราะเราจะได้รับบริการที่เหมาะสม และได้รับความพึงพอใจจากสินค้าและบริการต่าง ๆ อย่างสูงสุดนั่นเอง
           หลาย ๆ คน อาจจะรู้จัก Blockchain ในบทบาทของเทคโนโลยีที่ทำให้การซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลมีความปลอดภัยมากขึ้น แต่แท้จริงแล้ว Blockchain ถือเป็นรูปแบบการเก็บข้อมูลประเภทหนึ่งซึ่งทำให้ทุกคนที่อยู่ในระบบมีข้อมูลชุดเดียวกันและตรวจสอบกันได้จึงมีความพยายามที่จะนำเทคโนโลยี Blockchain ไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ ด้วย เช่นด้านลิขสิทธิ์ ก่อนหน้านี้ Digital Art ที่ทำขึ้นมาชิ้นเดียวสามารถส่งต่อได้ไม่จำกัด จึงมีปัญหาในการยืนยันว่าใครเป็นเจ้าของผลงานตัวจริง แต่ถ้านำเทคโนโลยี Blockchain เข้ามาใช้ในการบันทึกข้อมูลลิขสิทธิ์ทุกคนในระบบก็จะตรวจสอบได้ การซื้อขายผลงาน Digital Art ก็จะโปร่งใสมากขึ้น เป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้สร้างงานที่จะได้ค่าตอบแทนที่เหมาะสมและผู้บริโภคที่จะได้ซื้อสินค้าจากผู้สร้างงานตัวจริงอีกด้วย
           51% ของ E-Commerce ในประเทศไทยเกิดขึ้นผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียหรือเรียกกันว่า Social Commerce รูปแบบการซื้อขายลักษณะนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากเนื่องจากผู้ซื้อได้รับประสบการณ์ที่ดีกว่าจากการซื้อสินค้าพร้อม ๆ กับพูดคุยกับผู้ขายโดยตรง ยิ่ง Social Commerce ได้รับความนิยมจากผู้ใช้งานมากขึ้นเท่าไหร่ เทคโนโลยีที่ใช้ในการซื้อขายผ่านโซเชียลมีเดียก็ยิ่งจะถูกพัฒนามากขึ้นเพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัย เช่น เทคโนโลยีการชำระเงินผ่านระบบ Messenger หรือ ฟีเจอร์เพิ่มเติมที่ช่วยให้ลูกค้าเลือกซื้อของได้ง่ายขึ้น เช่น Facebook shop หรือ Instagram Product tag เป็นต้น
           Chatbot ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเอาไว้สื่อสารโดยการสนทนากับมนุษย์ เช่น คอยตอบปัญหาเกี่ยวการใช้งานและให้คำแนะนำต่าง ๆ แต่เดิม Chatbot จะทำงานโดย Based on rules คือ มนุษย์ตั้งกฎไว้ให้ครอบคลุมที่สุด เพื่อให้ Chatbot นำไปใช้ในการสนทนาได้ แต่ในปัจจุบันมักเป็นแบบ AI คือถูกพัฒนาด้วยการนำ Natural Language Processing (NLP) และ Natural Language Understanding (NLU) มาใช้ให้เรียนรู้ได้ดีขึ้น ทำให้  Chatbot เข้าใจภาษาและรูปประโยคที่ซับซ้อนได้มากขึ้น เพื่อให้สื่อสารกับมนุษย์ได้อย่างแม่นยำ ตัวอย่าง  Chatbot ที่หลาย ๆ คน อาจจะคุ้นเคยกันดี ก็เช่น Google Assistant  ซึ่งปัจจุบันพัฒนาไปจนถึงจุดที่สามารถสนทนาแทนผู้ใช้ได้เหมือนกับคนจริง ๆ
           ในอดีตระบบประมวลผลทำงานตามที่โปรแกรมเมอร์วางคำสั่งไว้ให้ แต่ในปัจจุบันข้อมูลถูกสร้างขึ้นอย่างรวดเร็วและเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ เทคโนโลยี Machine learning จึงถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้ระบบคิดได้เอง โดยเรียนรู้จากข้อมูลที่เกิดขึ้นและการทำซ้ำของผู้ใช้งาน ซึ่งในภาคธุรกิจนั้น เทคโนโลยี Machine learning นี้ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างหลากหลาย เช่น ในธุรกิจ Streaming Machine learning จะถูกนำมาใช้ประเมินและคัดสรรว่าควรนำเสนอข้อมูลแบบไหนให้ตรงกับความต้องการกับผู้บริโภคแต่ละคน  หรือในธุรกิจ Data Security มีรายงานจาก Kaspersky Lab ว่าในจำนวน malware ราว 325,000ไฟล์ ที่พวกเขาพบในแต่วัน ส่วนมากจะมี Code ที่ต่างจาก versions ก่อน ๆ แค่ 2-10% เท่านั้น Machine learning จึงสามารถตรวจจับ malware ได้แม่นยำเพราะความสามารถในการคัดกรองข้อมูลนั่นเอง
           ในโลกยุคดิจิทัลที่ผู้บริโภคแทบจะเรียกได้ว่าฝากชีวิตไว้บนระบบออนไลน์  ไม่ว่าจะเป็นการซื้อสินค้าผ่าน Social Commerce หรือทำธุรกรรมทางการเงินผ่านผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ ระบบรักษาความปลอดภัยเพื่อป้องกันอาชญากรรมทางไซเบอร์จึงเป็นเรื่องจำเป็น มีการนำเทคโนโลยีไบโอเมทริกซ์ เช่น การจดจำใบหน้า สแกนม่านตา สแกนลายนิ้วมือ เข้ามาใช้เพื่อเพิ่มระดับความปลอดภัยในการใช้งาน ล่าสุด Covr Security สตาร์ทอัพสัญชาติสวีเดนได้พัฒนาระบบการยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือของผู้ใช้เองโดยไม่ต้องใช้รหัสผ่านเลย           เพราะนวัตกรรมด้านการเงินทั่วโลกยังก้าวหน้าขนาดนี้ มนุษย์ที่เป็นทั้งผู้ประดิษฐ์คิดค้นและผู้ใช้งานย่อมจะล้าหลังไม่ได้ Bangkok Bank InnoHub พร้อมเป็นสื่อกลางที่จะนำเสนอข้อมูลข่าวสารด้าน Fintech  เพื่อประโยชน์ของผู้อ่านทุกท่าน เพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมและเทคโนโลยีในอนาคต

Share this article

Subscribe to InnoHub!

Stay updated and inspired

เรานำข้อมูลมาใช้เพื่อการส่งมอบคอนเทนต์และบริการอย่างเหมาะสม เราจะปกป้องความเป็นส่วนตัวของคุณ คุณสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Privacy Policy และคลิกสมัครเพื่อดำเนินการต่อ