อุตสาหกรรมน้ำมันและการผลิตพลังงานจะเปลี่ยนผ่านและปรับตัวสู่อนาคตที่ทั่วโลกต้องการความยั่งยืนยิ่งกว่าครั้งไหนอย่างไร หนึ่งในคำตอบคือการนำนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence เข้ามาใช้พัฒนาธุรกิจนั่นเอง ตาม InnoHub มาสำรวจกันดูเลยว่าเทคโนโลยีนี้มีศักยภาพและประโยชน์ล้ำ ๆ ต่ออุตสาหกรรมพลังงานแบบไหนได้บ้าง
ภาพรวมของอุตสาหกรรมพลังงานทั่วโลก
การขุดเจาะน้ำมันและการผลิตพลังงานเป็นธุรกิจสำคัญที่คอยขับเคลื่อนทุกภาาคส่วนและผู้คนทั่วโลกให้สามารถประกอบอาชีพและดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างราบรื่น ดังนั้นจึงมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในอนาคต โดยคาดการณ์ว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนหมุนเวียนจากประมาณ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐสู่ 2 – 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2567 นับเป็นตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้นกว่า 35 – 120 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การพัฒนาเทคโนโลยีผลิตพลังงานที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประเภทต่าง ๆ ลง
สาเหตุที่อุตสาหกรรมพลังงานจำเป็นต้องใส่ใจเรื่องความยั่งยืนนั้นเป็นเพราะวิกฤตภาวะโลกร้อน หรือ Climate Change ที่กำลังทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น โดยรายงานจากสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม หรือ The Energy Institute (EI) เผยว่าเมื่อปี 2565 การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้น 0.8% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และโลกของเราจะยังคงต้องการน้ำมันดิบและถ่านหินเป็นหลักไปอีกอย่างน้อยจนถึงปี 2588 นอกจากความท้าทายด้านนี้แล้ว ธุรกิจพลังงานยังต้องแบกรับต้นทุนการดำเนินธุรกิจให้เปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน หรือ Energy Transition รวมถึงความเสี่ยงหลายประการในกระบวนการผลิตที่หากผิดพลาดอาจรุนแรงจนถึงสูญเสียชีวิตได้ เช่น การขุดเจาะน้ำมัน การขนส่งเคลื่อนย้ายเชื้อเพลิง หรือการบริหารดูแลโรงผลิตไฟฟ้า เป็นต้น
การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ยกระดับธุรกิจพลังงาน
แม้ว่าผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมพลังงานจะต้องเผชิญกับความท้าทายหลายข้อ และต้องเร่งปรับตัวให้ธุรกิจมีความยั่งยืนสอดคล้องกับแนวทาง Environment, Social, และ Governance (ESG) แต่ข่าวดีคือเทคโนโลยียุคใหม่อย่างปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence สามารถเข้ามาช่วยพัฒนาการดำเนินงานและยกระดับธุรกิจให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นได้ดังต่อไปนี้
- ลดต้นทุนการดำเนินงาน : ผู้ประกอบการสามารถประยุกต์ใช้นวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์มาพลิกโฉมขั้นตอนการทำงานต่าง ๆ ให้ซับซ้อนน้อยลง และดำเนินไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนของธุรกิจได้หลากหลายมิติทั้งเม็ดเงิน เวลา และทรัพยากร ยกตัวอย่าง เช่น การใช้ซอฟต์แวร์บริหารจัดการโปรเจกต์ การใช้ระบบ AI ปรับให้งานที่ปกติต้องทำซ้ำ ๆ เป็นประจำทุกวันสามารถเสร็จสิ้นได้โดยอัตโนมัติ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Grid Monitoring) การพัฒนา Predictive Maintenance Model ที่ฝึก AI ให้คาดการณ์ว่าอุปกรณ์ในกระบวนการผลิตพลังงานไฟฟ้าเริ่มเสื่อมสภาพหรือไม่ จึงซ่อมบำรุงรักษาอย่างทันท่วงทีและดำเนินการผลิตได้ต่อเนื่องนั่นเอง
- ผลิตพลังงานสะอาดและบรรเทาภาวะโลกร้อน : ปัญญาประดิษฐ์ยังช่วยให้อุตสาหกรรมนี้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้นอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการนำ AI มาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก เช่น สภาพอากาศ หรือ ภาพจากดาวเทียม จนคาดการณ์ปริมาณพลังงานหมุนเวียนที่สามารถผลิตได้ พร้อมระบุสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับตั้งโรงงานพลิตไฟฟ้าพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ นอกจากนี้ ยังสามารถประยุกต์ใช้ AI เพื่อยกระดับเทคโนโลยีการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากสถานที่ผลิตพลังงานไฟฟ้าซึ่งจะช่วยต่อกรกับภาวะโลกร้อนและเพิ่มความยั่งยืนให้กับธุรกิจได้อีกด้วย
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Palo Verde Generating Station ในรัฐ Arizona ประเทศอเมริกา
- เพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการผลิตไฟฟ้า : อุตสาหกรรมพลังงานและการผลิตไฟฟ้านั้นเป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยทักษะความเชี่ยวชาญเชิงเทคนิคในหลายด้าน ดังนั้นจึงอาจนำนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์เข้ามาพัฒนา Reservoir Modeling ทำให้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สามารถสร้างแบบจำลองของแหล่งกักเก็บน้ำมัน ทั้งยังสามารถลดความเสี่ยงของการขุดเจาะ รวมถึงคาดการณ์ปริมาณเชื้อเพลิงที่อาจผลิตได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น อีกหนึ่งตัวอย่างคือการใช้เทคโนโลยี AI เพื่อวิเคราะห์ติดตามข้อมูลในโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แบบเรียลไทม์ซึ่งจะช่วยเพิ่มระดับของการเฝ้าระวังความปลอดภัยได้นั่นเอง