AI นักสืบ… จับโกหก ตรวจคนเข้าเมืองได้จริงหรือ?!
แน่นอนว่า ไม่มีใครชอบเรื่องโกหก แต่เราจะมีวิธีรู้ได้อย่างไร? การจับโกหกใครก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ไม่เป็นไร ตอนนี้มีระบบอัจฉริยะที่สามารถอ่านล้วงลึกเข้าถึงถ้อยคำและท่าทีแห่งการโกหกของมนุษย์ เพื่อตั้งรับคำโกหกที่มาคุกคามความปลอดภัยในระดับรัฐหรือประเทศได้เลยทีเดียว!
หนึ่งในพื้นที่ที่การจับโกหกคนกลายเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย คือ ด่านตรวจคนเข้าเมือง โดยสหภาพยุโรปได้พัฒนาระบบที่เรียกว่า iBorderCtrl ซึ่งเป้าหมายคือเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบคนกว่า 700 ล้านคนที่เดินทางเข้ามาในยุโรปแต่ละปี โดยระบบจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน ขั้นตอนแรกจะเกิดขึ้นบนคอมพิวเตอร์ ก่อนออกเดินทางไปยังสนามบิน เป็นการสัมภาษณ์ระหว่างผู้ประสงค์เข้าเมือง โดย AI จะมีเซ็ตคำถามที่ปรับเปลี่ยนไปตามเพศ ภาษา และเชื้อชาติของผู้ถูกสัมภาษณ์ โดยระบบจะทำการวิเคราะห์ทั้งภาษา โทนเสียง และการแสดงสีหน้า (Non-Verbal Micro Expressions) ของผู้ถูกสัมภาษณ์ เพื่อวิเคราะห์คาดการณ์ถึงความสัตย์จริงในแต่ละคำตอบ ออกมาเป็นคะแนนที่เรียกว่า Risk Score
หลังจากผ่านขั้นตอนแรกจึงเข้าสู่ขั้นตอนที่ 2 ซึ่งเกิดขึ้นที่สนามบิน เป็นกระบวนการทั่วไปในการตรวจสอบเอกสาร และลายนิ้วมือ ซึ่งผู้ต้องสงสัยจากการตรวจขั้นตอนแรก จะถูกตรวจสอบเข้มเป็นพิเศษ หรืออาจถูกสัมภาษณ์รายบุคคลอีกรอบทำให้ประหยัดเวลากับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองและผู้เดินทาง
แม้ว่าขณะนี้ระบบ iBorderCtrl ยังอยู่ในขั้นตอนการทดลอง ซึ่งเมื่อปลายปี 2018 ระบบถูกทดลองใช้จริงในสนามบินประเทศกรีซ ฮังการี และลัตเวีย แล้ว เพื่อทดสอบความแม่นยำของระบบ AI นี้โดยเฉพาะ ผลคือเครื่องมีความแม่นยำประมาณ 75% ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าพึงพอใจ อย่างไรก็ตาม ระบบยังต้องมีการพัฒนาต่อไปหากต้องการนำ iBorderCtrl ไปใช้จริงในประเทศสหภาพยุโรป นอกจากนั้นระบบยังต้องคำนึงถึงเรื่องความรู้สึกของคน ไม่ทำให้ผู้ถูกสัมภาษณ์รู้สึกเหมือนกำลังโดนไต่สวนโดย AI ซึ่งสหภาพยุโรปก็กำลังหาวิธีแก้ไขอยู่ ซึ่งหากระบบใช้ได้ผลจริง สหภาพยุโรปอาจเป็นกลุ่มประเทศนำร่องสู่ Smart Border ที่จะทำให้การเดินทางของคุณง่ายและปลอดภัยขึ้นก็เป็นได้
สำหรับในประเทศไทยแล้ว สถิติคนต่างชาติเดินทางมายังประเทศไทยปี 2561 จำนวนกว่า 38 ล้านคน ถือว่ามากทีเดียว ถ้าระบบนี้ใช้งานได้จริงเมื่อไหร่ คงช่วยลดภาระการตรวจคนเข้าเมืองของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองลงไปได้มาก
Read More >> ส่องกล้องมอง AI ในภาคอุตสาหกรรม ปี 2019