AI VS Digital Ethics สองสิ่งนี้จะไปด้วยกันได้หรือไม่?
นอกจากกฎหมายแล้ว ก็มีจริยธรรมที่ช่วยสร้างกฎเกณฑ์ให้ผู้คนสามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้ อย่างไม่มีปัญหา…
เราอยู่ในยุคที่แลกเปลี่ยนความรู้ เชื่อมโยง และผสานเข้าด้วยกันโดยเทคโนโลยีสารสนเทศ จนทำให้เทคโนโลยีกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน และเรากลายไปเป็นพลเมืองดิจิทัล (Digital Citizenship) ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับคำว่าพลเมืองดิจิทัลกันก่อน คือบุคคลที่มีทักษะและความรู้ที่หลากหลายในการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์และช่องทางการสื่อสารประเภทต่างๆ เช่น Social Network (Facebook, Twitter, Instagram, Line) และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รูปแบบใหม่ (แท็บเล็ต และสมาร์ทโฟน) โดยบุคคลผู้นั้นจะต้องใช้เทคโนโลยีที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อบุคคลอื่นและสังคม ซึ่งสรุปโดยย่อได้ว่าคุณลักษณะที่ดีของพลเมืองดิจิทัล ควรเป็นดังนี้
พลเมืองดิจิทัลที่ดี
- การตระหนักถึงความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศของผู้อื่น พลเมืองดิจิทัลที่ดีไม่ควรเลือกปฏิบัติและดูหมิ่นบุคคลผู้ขาดทักษะการใช้เทคโนโลยี
- การเป็นผู้ประกอบการและผู้บริโภคที่มีจริยธรรม พลเมืองยุคดิจิทัลต้องมีความซื่อสัตย์และมีศีลธรรมในการทำนิติกรรมและธุรกรรมทุกประเภทบนโลกออนไลน์ เช่น ไม่ซื้อขายและทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย อย่างดาวน์โหลดสิ่งที่ขัดต่อกฎหมาย
- การเป็นผู้ส่งสารและรับสารที่มีมรรยาท พลเมืองดิจิทัลที่ดีต้องมีมรรยาทและความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนในโลกออนไลน์ หรือ (Digital Etiquette) ที่จะเป็นเครื่องมือในการย้ำเตือนสติ
- การเคารพต่อกฎหมายและกฎระเบียบ ปัจจุบันการทำธุรกรรมและนิติกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายและกฎระเบียบว่าด้วยการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการป้องกันและปราบปรามการละเมิดในรูปแบบต่างๆ เช่น ลักขโมยและจารกรรมข้อมูลทางธุรกิจและข้อมูลส่วนบุคคล
- การใช้เทคโนโลยีให้มีความเหมาะสมและไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ป้องกันมิให้เกิดการเสพติดจนเกิดผลเสียต่อสุขภาพ
- เรียนรู้วิธีการเสริมสร้างความปลอดภัยในการใช้เทคโนโลยี เช่น การติดตั้งระบบป้องกันการจารกรรมและการทำลายข้อมูลให้กับอุปกรณ์การสื่อสารทุกประเภท
แต่ก็อย่างที่ทราบ เมื่อเราอยู่ในสังคมไม่ใช่ทุกคนที่จะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ หลายคนที่เลือกแหกกฎ ซึ่งมาในรูปแบบของ “การกลั่นแกล้ง” (Bullying) ที่เราคุ้นเคยกันก็น่าจะเป็น กรณีการเหยียดผิว, ชนชั้น หรือศาสนา เพื่อสร้างความอับอายต่อสาธารณะ ตัวอย่างเหตุการณ์ที่เห็นได้ชัด ก็คือ “เหตุการณ์สังหารหมู่ในโรงเรียนไฮสคูลโคลัมเบีย เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2542 เกิดจากนักเรียน 2 คน ชื่อ อีริก แฮร์ริส และไดแลน เคลโบลด์ ที่ตกเป็นเป้าหมายของการกลั่นแกล้งในโรงเรียนบ่อยครั้ง เพียงเพราะพวกเขาชื่นชอบในเกมคอมพิวเตอร์ Doom เป็นชีวิตจิตใจ จึงเลือกเล่มเกมในเวลาเลิกเรียนมากกว่าไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนๆ จึงโดนเพื่อนร่วมห้องล้อเลียน วันหนึ่งเขาพบปืนอัตโนมัติหลายกระบอกแขวนอยู่ที่บ้าน จึงนำไปโรงเรียนและกราดยิงใส่นักเรียนและอาจารย์อย่างไม่เลือกหน้า ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไป 13 ราย และบาดเจ็บกว่า 24 คน ก่อนที่ทั้งคู่จะยิงตัวตาย
เราที่อยู่ในยุคขับเคลื่อนด้วยอินเทอร์เน็ต การกลั่นแกล้งขยายวงกว้างกลายเป็น Cyberbullying “การกลั่นแกล้งผ่านโลกไซเบอร์” มีตั้งแต่การใส่ร้ายป้ายสี การใช้ถ้อยคำหยาบคายต่อว่าผู้อื่น การส่งต่อข้อมูลลับในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ฝ่ายที่ถูกกระทำรู้สึกอับอายและเจ็บปวดทางจิตใจ
Cyberbullying แบ่งออกเป็น 7 ประเภท โดยเว็บไซต์ (nobully.com) คือ
- Gossip โดยการส่งข้อความนินทาเพื่อน ทำให้เพื่อนเสียหาย
- Exclusion การไล่บางคนออกจากกลุ่มออนไลน์ เช่น กลุ่ม Line หรือกลุ่ม Facebook
- Nation คือการแอบเข้าไปใน log in ของคนอื่นและโพสต์ข้อความให้เจ้าของ account ดูไม่ดี เสียหาย ทำให้คนรอบตัวเข้าใจผิด เช่น คุณลืม log out facebook ไว้ที่ร้านเกมแล้วมีคนมาเล่นคอมพิวเตอร์ต่อแล้วโพสต์ว่าคุณเสียหาย
- Harassment เป็นการว่ากล่าว ด่า ด้วยถ้อยคำหยาบคาย ตอกย้ำปมด้อย ทำให้เสียความมั่นใจ เช่น คนบนโลกอินเทอร์เน็ตที่นึกสนุกพิมพ์ว่าคนหน้าตาไม่ดีที่ถูกโจรข่มขืนว่าสงสารโจรจังเลย เป็นต้น
- Cyber stalking การส่งข้อความ รูป วิดีโอ หรืออะไรก็ตามที่ทำให้คนอื่นอับอายบนอินเทอร์เน็ต รวมถึงข่มขู่ เช่น เหตุการณ์ในเดือนกันยายน 2553 ไทเลอร์ ครีเมนต์ วัย 18 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัย Rutgers ในสหรัฐอเมริกา มีคืนหนึ่งเขาได้ขอรูมเมตว่าต้องการใช้ห้อง ด้วยความที่รูมเมตสงสัย เลยแอบเปิดโน้ตบุ๊กทิ้งไว้ในห้อง แล้วไปดูเว็บแคมจากที่อื่น แล้วเห็นว่าไทเลอร์พาเพื่อนผู้ชายมาที่ห้อง รูมเมตเห็นจึงทวีตข้อความว่า ไทเลอร์เป็นชายรักร่วมเพศ เขาเชิญชวนชาวเน็ตมาดูไทเลอร์ผ่านเว็บแคม หลังจากคืนนั้นไทเลอร์เครียด ขาดความมั่นใจและจิตตก สุดท้ายตัดสินใจกระโดดน้ำฆ่าตัวตาย
- Outing and trickery การหยอกล้อ ยั่วโมโหจนอีกฝ่ายเผยความลับที่น่าอายของตัวเองบนโลกออนไลน์
- Cyber threat เห็นการกลั่นแกล้ง รังแกกันบนโลกออนไลน์แล้วเข้าไปร่วม
จริยธรรมและความเป็นส่วนตัวบนโลกดิจิทัล (Digital Ethics And Privacy)
ยิ่งในยุคดิจิทัลแบบปัจจุบัน ที่เราต้องใช้ชีวิตร่วมกันกับเทคโนโลยีต่างๆ และเหล่าปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทำให้ประเด็นเรื่องจริยธรรมและความเป็นส่วนตัวบนโลกดิจิทัล (Digital Ethics And Privacy) ได้ถูกนำมาเป็นที่พูดถึงมากยิ่งขึ้น ทั้งในระดับบุคคล ไปจนถึงภาครัฐ ซึ่งแต่ละฝั่งให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่าองค์กรและภาครัฐได้ออกมาดำเนินนโยบายเชิงรุกเพื่อป้องกันกรณีปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่รอให้เกิดขึ้นแล้วมาตามแก้ไขภายหลัง เช่น การจัด World Ethic Forum โดยทำการคาดการณ์วิทยาการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และรองรับการป้องกันด้านจริยธรรม ไม่ให้วิทยาการมาสร้างปัญหาในอนาคต
โดย Google ได้เปิดตัวสภาที่ปรึกษาด้านจริยธรรม ปัญญาประดิษฐ์ เพื่อให้คำแนะนำและพิจารณาความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้จากการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ เพราะในปัจจุบันหลายๆ คนก็มีความกังวลว่าเราอาจจะไม่สามารถควบคุมระบบ AI ได้ในอนาคต เพราะในตอนนี้ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ให้มีความคล้ายคลึงกับมนุษย์มากยิ่งขึ้น ซึ่งเราสามารถเห็นได้จากเทคโนโลยีต่างๆ ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการตรวจรักษาโรค หรือแม้กระทั่งความสามารถในการขับรถของ AI
กฎหมายของหุ่นยนต์และ AI
หรือในกรณีที่มีการประชุม Technology Law Conference ของสมาคมเนติบัณฑิตระหว่างประเทศ (IBM) เมื่อวันที่ 18-19 พฤษภาคม 2560 ณ ประเทศบราซิล ได้มีการหยิบยกประเด็นเกี่ยวกับเทคโนโลยีกับกฎหมาย ซึ่งกรรมการกิจการกฎหมายแห่งรัฐสภายุโรป (European Parliament’s legal affairs committee) ได้วางแนวทางในประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับสถานะทางกฎหมายของหุ่นยนต์และ AI สำหรับประเทศสมาชิกว่าเป็นบุคคลอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Persons) นอกจากนี้ ยังกำหนดแนวทางของกฎหมายว่าด้วยหุ่นยนต์สำหรับประเทศสมาชิก ดังนี้
- หุ่นยนต์ทุกตัวควรมีปุ่มหยุดการทำงาน (emergency switch /kill switch) เพราะ AI ถูกสร้างขึ้นมาให้มีความสามารถในการพัฒนาตัวเองและมีความฉลาดมากขึ้นจนอาจเป็นอันตรายต่อมนุษย์ และจะต้องไม่ผลิตหุ่นยนต์เพื่อวัตถุประสงค์ในการทำร้ายมนุษย์ด้วยกันเอง
- ห้ามกำหนดเรื่องความรู้สึกให้กับหุ่นยนต์ ไม่ควรมีความรู้สึกด้านอารมณ์ความรักได้เหมือนกับมนุษย์
- ต้องมีการทำประกันสำหรับหุ่นยนต์ขนาดใหญ่ โดยผู้ที่อยู่ในบังคับที่จะต้องทำประกันคือผู้เป็นเจ้าของหุ่นยนต์และบริษัทผู้ผลิตหุ่นยนต์ ซึ่งบุคคลทั้งสองจะต้องรับผิดชอบกับทุกปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับกรณีชุดคำสั่งของตัวหุ่นยนต์เกิดขัดข้อง ในกรณียานยนต์ไร้คนขับก็ต้องถูกบังคับให้ต้องทำประกันด้วยเช่นเดียวกัน
- ต้องมีการกำหนดให้หุ่นยนต์มีสิทธิและหน้าที่บางประการเหมือนบุคคลทั่วไป เนื่องจากได้มีการกำหนดสถานะทางกฎหมายเป็นบุคคลอิเล็กทรอนิกส์เอาไว้แล้ว โดยในกรณีการกำหนดให้ต้องมีความรับผิด หุ่นยนต์จะต้องรับผิดร่วมกับเจ้าของและผู้พัฒนาหุ่นยนต์ รวมทั้งมีหน้าที่ต้องเสียภาษีด้วยซึ่งในประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมากในการวางแนวทางเกี่ยวกับหุ่นยนต์ของสหภาพยุโรป แต่ข้อเสนอเรื่องการเสียภาษีดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อลดผลกระทบทางสังคมจากการที่แรงงานคนถูกเลิกจ้างเพราะมีการนำหุ่นยนต์มาใช้ทำงานแทน รัฐสภายุโรปจึงเสนอว่าหุ่นยนต์ควรต้องจ่ายเงินสมทบประกันสังคม (Social Security Contribution) และเสียภาษีเช่นเดียวกับบุคคลธรรมดาด้วยเช่นกัน
นอกจากที่หลายๆ คนกังวลเรื่อง AI จะมาสร้างปัญหาแล้ว อีกประเด็นที่ถูกจับตามองและเป็นที่พูดถึงมากไม่แพ้กันก็คือ การที่ AI จะมาแทนที่งานของมนุษย์เรา ซึ่งเราสามารถเห็นได้ในหลายๆ กรณี ยกตัวอย่างเช่น โรงแรมในต่างประเทศ เริ่มมีการนำหุ่นยนต์เข้ามาดูแล และทำหน้าที่ต่างๆ แทนมนุษย์ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจ้างงานและเพิ่มประสบการณ์ที่แปลกใหม่ให้กับผู้เข้าพัก นอกจากนี้อาจจะมีหลายๆ อาชีพถูก AI แทนที่ไปตามกาลเวลาด้วยเช่นกัน
แทนที่เราจะมัวกังวลนั่งรอกฏหมายหรือข้อกำหนดเพื่อความควบคุม AI สิ่งหนึ่งที่เราสามารถทำได้ คือวางแนวทางในการใช้เทคโนโลยี AI ให้เกิดประโยชน์ภายในองค์กรจะดีกว่า เช่นที่สตาร์ทอัพ Vymo พัฒนาระบบผู้ช่วยส่วนตัวสำหรับพนักงานขายด้วยเทคโนโลยี AI เป็นต้น
อ่านเพิ่มเติม >> DeepFakes : เมื่อวิดีโอของปลอมเสมือนจริงจนเกินไป