ขึ้นปีใหม่แบบนี้เป็นเวลาดีที่จะเตรียมวางแผนและอัปเดตความรู้ใหม่ ๆ เพื่อนำไปพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพ FinTech ของตัวเองให้เติบโตอย่างมั่นคงในอนาคต มาดูกันเลยว่ากลยุทธ์สำคัญทั้ง 4 ข้อที่จะเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จให้บริษัทยุคดิจิทัลมีอะไรบ้าง
อุตสาหกรรม FinTech มีแนวโน้มอย่างไรในอนาคต
ธุรกิจการเงินหรือ FinTech นับเป็นหัวใจสำคัญหลักที่คอยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอื่น ๆ และเศรษฐกิจของโลกให้เดินต่อไปอย่างมั่นคงได้ ดังนั้นจึงยังคงมีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อเนื่องในอนาคตในอัตรารายปี (CAGR) สูงถึงประมาณ 16% ระหว่างปี 2024 – 2032 นอกจากนี้ มูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมการเงินทั่วโลกก็อาจพุ่งไปแตะ 9.17 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในอีกราว 10 ปีข้างหน้าอีกด้วย แม้จะเจาะลึกลงไปมองถึงสตาร์ทอัพแล้วก็ยังนับว่ามีอนาคตที่สดใสเช่นกัน เพราะจำนวนผู้เล่นรายย่อยเหล่านี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนในปีช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีมากกว่า 4,500 บริษัทในแถบเอเชีย เช่น Ant Financial สตาร์ทอัพ FinTech เจ้ายักษ์ของประเทศจีน และในประเทศสหรัฐอเมริกาก็มีมากกว่า 8,500 บริษัทแล้ว เช่น Stripe ผู้พัฒนาบริการรับชำระเงินออนไลน์ คู่แข่ง PayPal บริษัทการเงินชื่อดังที่หลายคนอาจเคยได้ยินมาก่อน
สตาร์ทอัพ FinTech ในประเทศไทยเองก็เติบโตได้อย่างต่อเนื่องเช่นกันโดยปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มขึ้นเกือบ 300 แห่ง กระจายตัวกันไปยกระดับนวัตกรรมตามภาคส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบการชำระเงินและกระเป๋าตังค์ดิจิทัล เช่น TrueMoney บริการประกันภัยออนไลน์ เช่น Sunday และ Roojai ธุรกิจการลงทุน เช่น Finnomena เป็นต้น ด้านผู้บริโภคชาวไทยเองก็ตอบรับและปรับตัวเท่าทันเทคโนโลยียุคใหม่ ๆ ได้อย่างน่าประทับใจ โดยสังเกตได้จากการที่มีคนลงทะเบียนใช้งานบริการทำธุรกรรม PromptPay ด้วยหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนสูงถึง 39.47 ล้านราย แล้วในปี 2022 นับเป็นสัญญาณอันดีที่สะท้อนให้เห็นเส้นทางที่สดใสของอุตสาหกรรม FinTech ในปี 2024 และอนาคตข้างหน้า
4 เทรนด์การปั้นธุรกิจสตาร์ทอัพ FinTech ให้สำเร็จในปี 2024
แม้ว่าศักยภาพและความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมการเงินข้างต้นจะปูทางให้สตาร์ทอัพ FinTech มีโอกาสพัฒนาธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้ง่ายมากยิ่งขึ้น แต่ทีม InnoHub ขอแนะนำว่ายังมีปัจจัยภายในรวมถึงเคล็ดลับแสนสำคัญอีกหลายข้อที่ผู้ประกอบการควรให้ความสนใจพร้อมนำมาปรับใช้กับธุรกิจด้านเทคโนโลยีการเงินของตัวเอง จะมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย
- เข้าใจความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า
ข้อแรกที่สตาร์ทอัพ FinTech ควรคำนึงถึงหากต้องการพัฒนาธุรกิจการเงินที่มีคุณภาพ คือ การศึกษาทำความเข้าใจความต้องการที่แตกต่างกันออกไปของลูกค้าแต่ละกลุ่ม แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้วางแผนออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้งานและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ให้ตอบโจทย์มากที่สุด โดยผู้ประกอบการอาจใช้วิธีการต่าง ๆ เช่น กำหนดกลุ่มลูกค้าที่ต้องการให้ชัดเจน ทำวิจัยการตลาดเพื่อสำรวจปัญหาและพฤติกรรมของพวกเขา รวมถึงนำผลิตภัณฑ์ดิจิทัลที่ออกแบบให้ลูกค้าเหล่านั้นทดลองใช้งานก่อนจะเก็บข้อเสนอแนะมาปรับปรุงต่อไป
ยกตัวอย่าง เช่น แอปพลิเคชันชื่อว่า Fisdom ที่นำเสนอบริการลงทุนหลากหลายรูปแบบให้ชาวอินเดียในกลุ่มที่ยังขาดทักษะและความรู้ด้านการเงิน ดังนั้นผู้พัฒนาจึงคิดค้นขั้นตอนการเริ่มต้นลงทุนให้แตกต่างไปจากแบบดั้งเดิมอย่างสิ้นเชิง โดย Fisdom จะให้ลูกค้าตั้งเป้าหมายก่อนว่าต้องการเก็บเงินกี่บาทภายในเวลาเท่าไหร่ จากนั้นแอปพลิเคชันจึงใช้ข้อมูลเชิงลึกและ Machine Learning แนะนำผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมให้ เช่น หุ้น กองทุน หรือตราสารอนุพันธ์ ซึ่งช่วยให้ลูกค้ามือใหม่เข้าถึงการลงทุนได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องใช้เวลาศึกษาหรือตัดสินใจซับซ้อนจนสุดท้ายอาจถอดใจเลิกใช้แอปพลิเคชันไปเสียก่อน
Fisdom เป็นสตาร์ทอัพ FinTech อันดับต้น ๆ ของอินเดีย บริษัทเพิ่งฉลองครบรอบ 7 ปี เมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา โดยมีจำนวนผู้ใช้งานแล้วมากกว่า 1,000,000 ราย
- ร่วมมือกับพันธมิตรทุกภาคส่วน
สตาร์ทอัพ FinTech สามารถเพิ่มขีดความสามารถและโอกาสในการเติบโตของตัวเองได้ด้วยการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจและร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ ในอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเอกชนหรือสถาบันการเงิน ที่อาจมีข้อมูลเชิงลึก กลยุทธ์เคล็ดลับ และ เคยสะสมฐานลูกค้ามาก่อนเป็นเวลานาน รวมถึงหน่วยงานภาครัฐหลากหลายแห่งในแวดวงการเงินที่พร้อมช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการสตาร์ทอัพใหม่ ๆ ให้เข้ามาพัฒนานวัตกรรมดิจิทัล เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) นอกจากนี้ ยังมี Venture Capital ซึ่งเป็นบริษัทที่สามารถมอบทั้งเงินทุนและคำแนะนำต่าง ๆ ให้สตาร์ทอัพพัฒนาธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
- สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ยืดหยุ่นและโอบรับความหลากหลาย
เศรษฐกิจ เทคโนโลยี รวมถึงความต้องการของผู้บริโภคในยุคดิจิทัลนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นสตาร์ทอัพที่จะประสบความสำเร็จได้จึงต้องมีความยืดหยุ่น พร้อมปรับตัวไปตามสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างเท่าทันอยู่เสมอ นอกจากนี้ องค์กรยังควรเคารพความแตกต่างและความคิดเห็นของพนักงานทุกระดับชั้นที่หลากหลายในทุกมิติ เพราะจะช่วยขับเคลื่อนการเกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ รวมถึงเสริมความคิดสร้างสรรค์อีกด้วย โดยงานวิจัยพบว่าองค์กรที่เต็มไปด้วยความหลากหลายนั้นมีแนวโน้มที่จะดึงดูดคนเก่ง ๆ มาร่วมงาน เพิ่มยอดขายได้มากกว่า 15% แถมยังตัดสินใจอย่างเฉียบแหลมได้เร็วกว่าถึง 2 เท่า!
- ส่งเสริมการพัฒนาบนพื้นฐานความยั่งยืน
แนวทางการปั้นธุรกิจ FinTech ข้อสุดท้ายคือการคำนึงถึงความยั่งยืนในหลากหลายมิติตามหลัก ESG หรือ Environment Social และ Governance นั่นเอง โดยไม่เพียงแต่มุ่งเน้นเรื่องของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก การใช้พลังงานถ่านหิน หรือลดการใช้กระดาษเท่านั้น แต่ธุรกิจ FinTech ควรใส่ใจถึงด้านสังคมและธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการองค์กรด้วย ตัวอย่างเช่น การวางมาตรการตรวจสอบทุจริตในองค์กรอย่างเข้มงวด การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับภาษีหรืองบการเงินของบริษัทเพื่อความโปร่งใส่ และให้ค่าตอบแทนและสวัสดิการที่สมเหตุสมผลกับพนักงาน ทั้งนี้ ความยั่งยืนเป็นปัจจัยสำคัญที่นอกจะช่วยดึงดูดนักลงทุนแล้ว ยังสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าได้เป็นอย่างยิ่งอีกด้วย