หากพูดถึงชีวิตในกรุงเทพมหานคร ประเด็นเรื่องการเผชิญความท้าทายบนท้องถนนและความไม่สะดวกสบายของบริการรถโดยสารสาธารณะคงถูกหยิบยกขึ้นมาอย่างเลี่ยงไม่ได้
ไม่ว่าจะเป็นปัญหารถเมล์ขาดระยะ การวิ่งไม่ตรงเวลา สภาพรถเก่า ความไม่ปลอดภัย รวมถึงมลภาวะ ต่างก็เป็นปัญหาที่ประชาชนผู้ใช้บริการคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี และได้รับผลกระทบกันไปไม่น้อยจนหลาย ๆ คนเลือกหันมาใช้รถยนต์ส่วนตัว ซึ่งการเพิ่มจำนวนรถยนต์ส่วนตัวนั้นส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด ปัญหามลพิษทางอากาศ และภาระค่าใช้จ่ายตามมา ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาปัญหาเรื้อรังเหล่านี้ ภาครัฐจึงเริ่มพัฒนาแผนการเปลี่ยนรถเมล์ในกรุงเทพมหานครให้เป็นรถเมล์ไฟฟ้า (EV Bus)
ในบทความนี้ InnoHub ขอมาแนะนำรถเมล์ EV ที่จะมาช่วยลดปัญหาบนท้องถนนของประเทศไทย มาดูกันว่ารถเมล์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจะสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนไทยได้อย่างไรบ้าง
ประโยชน์จากการใช้รถเมล์ EV แทนรถเครื่องยนต์ดีเซลหรือรถ NGV
กรมข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษระบุว่า ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลนั้นมีแหล่งกำเนิดมาจากการขนส่งทางถนนถึง 72.5% การเผาไหม้เชื้อเพลิงดีเซลและก๊าซธรรมชาติทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และไนโตรเจนออกไซด์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพของอากาศและเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ ในทางกลับกัน รถเมล์ EV ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ รถประเภทนี้ไม่มีการเผาเชื้อเพลิงและไม่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการเปลี่ยนจากรถเครื่องยนต์ดีเซลหรือรถ NGV แบบเดิมมาเป็นรถเมล์ EV จะช่วยลดมลพิษเหล่านี้ลง
ข้อดีอีกประการหนึ่งของรถเมล์ EV คือบริการที่มีมาตรฐาน ปลอดภัย ตรวจสอบได้ และครอบคลุมผู้โดยสารทุกกลุ่มรวมถึงผู้พิการ ผู้สูงอายุ และผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ หน่วยงานผู้รับผิดชอบสามารถเก็บข้อมูลการเดินทาง ความหนาแน่นของผู้โดยสาร และข้อมูลอื่น ๆ เพื่อนำมาปรับปรุงบริการในอนาคตได้ นอกจากนี้รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังสามารถพัฒนารถเมล์ EV ให้เชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนอื่น เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนและจูงใจให้คนหันมาใช้บริการรถโดยสารสาธารณะแทนการใช้รถยนต์ส่วนตัวกันมากขึ้นได้อีกด้วย
รถเมล์ EV ของไทยในปัจจุบันรถเมล์ EV ที่วิ่งอยู่ในปัจจุบันนั้นเป็นของบริษัท ไทย สมายล์ บัส (TSB) ซึ่งเริ่มออกวิ่งตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2564 และเพิ่มจำนวนจนถึง 1,250 คันในปี 2565 โดยรถเมล์ EV ดังกล่าวมีการติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการทุกคน ทางขึ้นลงถูกออกแบบให้เป็นแบบชานต่ำ มีทางลาดเพื่อให้ผู้ใช้รถเข็นสามารถใช้บริการได้สะดวกขึ้น มีจุดชาร์จ (USB Charger) ระบบการชำระค่าโดยสารที่รองรับการสแกนจ่ายด้วย QR Code บัตรเดบิต หรือบัตรเครดิต และมีการติดตั้งกล้อง CCTV ภายในรถเพื่อสอดส่องความปลอดภัย ไม่เท่านั้นยังมีแอปพลิเคชันติดตามรถเมล์ด้วยระบบจีพีเอส สำหรับใช้ติดตามพิกัดรถ ระบุจำนวนผู้โดยสารบนรถและจำนวนที่นั่งว่าง เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถวางแผนการเดินทางได้อีกด้วย
นอกจากไทย สมายล์ บัส แล้ว ทีมวิจัย สวทช. และภาคีเครือข่ายพัฒนาอุตสาหกรรมรถโดยสารไฟฟ้าไทยยังได้พัฒนาต้นแบบรถเมล์ EV ออกมาจำนวนสี่แบบ โดยดัดแปลงจากรถเมล์เก่าขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่ใช้งานมาแล้วนับ 20 ปีให้เป็นรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าที่ปลอดภัย มีต้นทุนต่ำ ลดค่าใช้จ่ายจากการนำเข้าหรือผลิตรถเมล์ EV ใหม่ได้ราว ๆ 7 ล้านบาทต่อคัน เพราะมีการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศมากกว่า 40% ทั้งนี้ ต้นแบบรถเมล์ EV ทั้งสี่แบบได้ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพ รวมถึงทดสอบการใช้งานในพื้นที่น้ำท่วมขัง อีกทั้งยังผ่านการทดลองให้บริการบนเส้นทางให้บริการจริงของขสมก. เป็นระยะเวลา 3 เดือนอีกด้วย
ที่มา: https://www.nstda.or.th/home/news_post/article-ev-bus/
อย่างไรก็ตาม แม้จะได้รับความร่วมมือจากบริษัทเอกชนในการจัดหารถเมล์ไฟฟ้าสำหรับให้บริการ แต่ปริมาณของรถเมล์ที่วิ่งในปัจจุบันนั้นยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ผู้โดยสารยังคงประสบปัญหารอรถนาน ทางบริษัทเอกชนและขสมก. จึงมีแผนการเพิ่มจำนวนรถและสายการเดินรถต่อไป
เป้าหมายในอนาคต
สำหรับกรุงเทพมหานคร กระทรวงคมนาคมตั้งเป้าว่าจะเพิ่มจำนวนรถเมล์ EV รวมเป็น 8,000 คันภายในปี 2567 ในขณะที่ขสมก.เองก็มีแผนจัดหารถเมล์ EV จำนวน 3,000 คันในช่วงปี 2566 และ 2567 นอกจากนี้ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ยังได้เสนอร่าง “กฎหมายรถเมล์อนาคต” ซึ่งเป็นข้อบัญญัติให้รถเมล์ใหม่ที่จะให้บริการในกรุงเทพมหานครทุกคันเป็นรถเมล์ไฟฟ้า และภายในเจ็ดปี รถเมล์ในกรุงเทพมหานครต้องเป็นรถเมล์ EV ทั้งหมด โดยล่าสุดร่างข้อบัญญัติดังกล่าวก็ได้ผ่านสภากรุงเทพมหานครวาระที่หนึ่งเป็นที่เรียบร้อย
ส่วนในระดับประเทศนั้น ในปัจจุบันประเทศไทยมีรถเมล์ที่จดทะเบียนแล้วกว่า 151,550 คัน และ 40,000 คันในจำนวนนี้จะถูกเปลี่ยนให้เป็นรถเมล์ EV ภายในสิบปีทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจัดเป็นอันดับ 11 ของโลก โดยในปี 2564 มูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมยานยนต์มีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 10 ของ GDP ของประเทศไทยเลยทีเดียว ยิ่งไปกว่านั้น อุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานใหม่ยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และหากเป้าหมายการใช้รถเมล์ EV สำเร็จ ประเทศไทยจะไม่เพียงแก้ปัญหาการจราจรติดขัดและปัญหามลภาวะเท่านั้น แต่ยังสามารถสร้างกระตุ้นการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมการผลิตได้อีกด้วย