Global Food Crisis วิกฤติอาหารโลกนับเป็นปัญหาที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และมีปัจจัยจากหลายสาเหตุ ซึ่งส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตอาหารโลกในทุกระดับ
หนึ่งในสาเหตุหลักคือความผิดปกติของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (Climate Change) ซึ่งมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงแบบสุดขั้ว ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม แนวโน้มอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรไม่ได้คุณภาพและปริมาณเท่าที่ควร อีกทั้งอุณหภูมิน้ำทะเลที่ร้อนจัดยังส่งผลกระทบต่อการประมงและแหล่งอาหารที่มาจากทะเลเช่นกัน ซึ่งสาเหตุที่กล่าวมานำไปสู่ปัญหาด้านวิกฤติอาหารทั่วทั้งโลก ผู้บริโภคต่างได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ปริมาณอาหารที่ไม่เพียงพอต่อการบริโภค ราคาอาหารที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น
ข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO เผยดัชนีราคาอาหารและผลิตภัณฑ์ในกลุ่มธัญพืช ผลิตภัณฑ์จากนม เนื้อสัตว์ น้ำมันพืช และน้ำตาล ในปี 2565 เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2564 เกือบ 30% แสดงให้เห็นถึงวิกฤตราคาอาหารที่สูงขึ้นทั่วโลก
แมลง แหล่งอาหารชั้นดีที่ไม่ควรมองข้าม
ในขณะที่เครือข่ายทั่วโลกกำลังพยายามส่งเสริมระบบการเกษตรและอาหารทางเลือกให้ยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อตอบโจทย์สังคมและสิ่งแวดล้อม แมลง จึงเริ่มเป็นที่สนใจจากชาวโลกว่าเป็นแหล่งอาหารชั้นดีที่ให้คุณค่าทางโภชนาการจนถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม Future Food หรือ “อาหารแห่งอนาคต”
ในปี 2564 ประเทศไทยมีปริมาณการส่งออกแมลงและอาหารแปรรูปจากแมลงเป็นมูลค่าประมาณ 53.3 ล้านบาท ซึ่งคาดการณ์ว่าตลาดของแหล่งอาหารจากแมลงในปี 2570 อาจมีมูลค่าสูงถึง 74,000 ล้านบาทก็เป็นได้
ข้อดีของการผลิตโปรตีนจากแมลงก็คือใช้ต้นทุนน้อยกว่าการผลิตโปรตีนจากสัตว์ประเภทอื่น โดยการผลิตโปรตีน 1 กิโลกรัมจากแมลงใช้พื้นที่เพียงแค่ 35 ตารางเมตร ในขณะที่การเลี้ยงปศุสัตว์มักจะใช้พื้นที่ถึง 200 ตารางเมตร อีกทั้งแมลงยังต้องการอาหารน้อยกว่าสัตว์ประเภทอื่น เช่น ตั๊กแตนที่ต้องการอาหารน้อยกว่าวัว 12 เท่า น้อยกว่าแกะ 4 เท่า และยังน้อยกว่าหมูกับไก่ถึงครึ่งหนึ่ง
นอกจากนี้ เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอาหารและการเลี้ยงปศุสัตว์เพื่อบริโภคในปัจจุบัน ซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณร้อยละ 45 ของอุตสาหกรรมทั้งหมด อุตสาหกรรมอาหารจากแมลงกลับสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ลงได้ถึง 35 เท่า เช่น เพื่อให้ได้
โปรตีน 1 กิโลกรัมเท่ากัน ตัวอ่อนของหนอนนก (Mealworm larva) ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพียง 14 กิโลกรัม ซึ่งน้อยกว่าเนื้อวัวที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 500 กิโลกรัมเลยทีเดียว
ด้วยจุดเด่นและข้อได้เปรียบเหล่านี้ อุตสาหกรรมอาหารจากแมลงจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับเกษตรกรและผู้ที่สนใจทำธุรกิจอาหารทางเลือกนี้ไม่ว่าจะรายใหญ่หรือรายย่อย
ตลาดแมลงกินได้ในประเทศไทย
ในประเทศไทย ธุรกิจแมลงเพื่อการบริโภคสามารถพบเห็นได้ทั่วไป โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งมีปริมาณการส่งออกแมลงสูงถึงประมาณ 575 ตันต่อปี ผลผลิตส่วนใหญ่ถูกส่งออกในรูปวัตถุดิบ เช่น แมลงแช่แข็ง แป้ง และผลผลิตแปรรูปในรูปแบบแมลงกระป๋อง จากแมลงประเภทต่าง ๆ เช่น จิ้งหรีด ตั๊กแตน แมงป่อง ดักแด้ หนอนรถด่วน ด้วง ฯลฯ
สิ่งที่ควรคำนึงถึงและให้ความสำคัญในธุรกิจการผลิตและแปรรูปแมลงคือ คุณภาพ ราคา คุณค่าทางสารอาหาร และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการบริโภค รวมไปถึงความปลอดภัยในกระบวนการผลิตและแปรรูป ซึ่งมีส่วนในการสร้างความน่าเชื่อถือในระดับมาตรฐานสากลให้กับผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ
การเปลี่ยนแปลงของตลาดแมลงในอนาคต
ในปี 2564 ทีมวิศวกรรมอวกาศไทย KEETA เป็น 1 ใน 10 ทีมที่ผ่านเข้ารอบแรกโครงการ ‘Deep Space Food Challenge’ ของ NASA ด้วยแนวคิดอาหารจากภูมิปัญญาไทยอย่าง “แมลงไทย” อาหารโปรตีนสูงที่เก็บรักษาง่ายและเก็บได้นาน อาจมีโอกาสถูกคัดเลือกให้เป็นอาหารสำหรับเหล่านักบินอวกาศที่เดินทางไปปฏิบัติภารกิจนอกโลก ถือเป็นการรับรองความน่าเชื่อถือของ “แมลงกินได้จากประเทศไทย” ในตลาดโลก
ด้วยนวัตกรรมที่ทันสมัยในปัจจุบัน ผู้ผลิตสามารถเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์อาหารจากแมลงผ่านการประยุกต์ใช้ในรูปแบบที่หลากหลายและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เช่น การพัฒนา คัดเลือกและปรับปรุงสายพันธุ์แมลง การสกัดและแปรรูปโปรตีนจากแมลงในรูปแบบสินค้าพร้อมรับประทาน การใช้โปรตีนแมลงแบบผงแทนแป้งเพื่อทำขนมและอาหารหลากหลายชนิด ทั้งนี้ เพื่อรองรับความต้องการของตลาดโลกที่อาจเพิ่มสูงขึ้น
ประเทศไทยมีแมลงทีสามารถใช้บริโภคได้หลากหลายชนิด ซึ่งหากเราให้ความสนใจในกระบวนการเพาะเลี้ยง การคัดเลือกสายพันธุ์แมลง การสนับสนุนทุนแก่เกษตรกรและผู้ที่สนใจ การผลิตที่ได้มาตรฐาน และรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ในอนาคต ประเทศไทยก็อาจก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านผลิตภัณฑ์จากแมลงที่มีส่วนแบ่งสำคัญในตลาดโลก รวมถึงเป็นส่วนสำคัญในการช่วยแก้ปัญหาวิกฤติอาหารโลกในอนาคตได้อย่างแน่นอน