“อาชีพใหม่” น่าจับตารองรับคน Gen Z
โลกเราก้าวเข้าสู่ยุคแห่งดิจิทัลแบบเต็มรูปแบบ สิ่งต่างๆ รอบตัวเราก็ทยอยกันปรับตัวตาม ไล่ไปตั้งแต่สิ่งแวดล้อมรอบตัว อย่างเช่น เทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับ ไปจนถึงการทำธุรกรรมแบบ Cashless จึงไม่น่าแปลกใจอะไรที่แวดวงธุรกิจและอุตสาหกรรมจะปรับตัวตาม จนเป็นที่มาของอาชีพที่ถือกำเนิดขึ้นใหม่ในปัจจุบัน
“อาชีพใหม่” นี้จะว่าไปแล้วเกิดขึ้นมาเพื่อรองรับเด็กเจเนอเรชั่นใหม่ คือ Gen Z (Generation Z) หรือคนที่เกิดในช่วงปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นไป เป็นกลุ่มวัยรุ่นที่กำลังจะจบการศึกษาออกมาทำงานในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ขณะที่บางอาชีพแม้แต่ในปัจจุบันนี้ก็ยังขาดแคลน ต้องบอกว่าอาชีพใหม่นี้เริ่มมาจากประเทศจีนที่มีความรุดหน้าด้านเทคโนโลยี และพยายามผลักดันประเทศไปสู่การเป็นจ้าวแห่งเทคโนโลยี เสนอไอเดียอาชีพที่จะรุ่งสุดๆ ในอนาคต สอดคล้องกับนโยบาย Made in China 2025 อาชีพใหม่นี้จะเจาะตลาดไทย และตลาดโลก
ซึ่งอย่างที่ทราบกันว่าในปัจจุบันมีอาชีพเกิดใหม่อยู่มากมาย และหลายๆ อาชีพก็กำลังเริ่มเป็นที่ต้องการของตลาด โดยเว็บไซต์จัดหางานอันดับหนึ่งของประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีการจัดอันดับอาชีพยอดนิยม ซึ่ง 1 ใน 20 ลำดับก็จะมี Security Engineer หรือ Data Scientist ด้วย แต่นอกจากนี้จะมีอาชีพอะไรและหน้าที่อะไรบ้างที่น่าสนใจ มาลองดูกันครับ
วิศวกรด้าน AI /machine learning
ในปัจจุบันทุกอุตสาหกรรมต้องการประยุกต์ใช้ AI และ Machine Learning จนทำให้แทรกซึมเข้าไปในชีวิตประจำวันของเรา อาชีพนี้จึงเป็นที่รองรับเพื่อพัฒนาโปรดักส์ของแต่ละองค์กรให้มีประสิทธิภาพ เมื่อความก้าวล้ำของเทคโนโลยี AI และ Machine Learning รุดหน้าอย่างรวดเร็ว จึงทำให้ความต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านนี้เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย เพราะเราต่างพยายามหาวิธีที่จะเพิ่มประสิทธิภาพให้กับธุรกิจและการปฏิบัติงาน เพื่อให้การทำงานเป็นไปได้แบบอัตโนมัติและทำให้ชีวิตเราง่ายขึ้น องค์กรส่วนใหญ่ต่างก็ควานหาพนักงานในสายนี้กันขะมักขะเม้น ในอนาคตโลกของเทคโนโลยีกำลังมุ่งหน้าไปในทางนี้ ถ้าคุณเลือกเรียนสาขาวิศวกรรมศาสตร์ด้าน AI/machine learning มั่นใจได้ว่าจบมามีงานมารองรับแน่นอน
วิศกรที่ทำงานเกี่ยวกับระบบ Cloud Computing
ความต้องการวิศวกรระบบคลาวน์ในอเมริกาเพิ่มสูงขึ้นถึง 27% นับจากปี 2015 สำหรับประเทศไทยเอง มหาวิทยาลัยต่างๆ เริ่มมีการเปิดสอนหลักสูตรด้านนี้กันแล้ว เช่น ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์เปิดสอนหลักสูตร สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ที่เน้นความรู้เรื่อง IoT, Big Data และ Cloud Computing เพื่อรองรับงานด้านนี้โดยเฉพาะ
วิศวกรด้าน Cybersecurity
เรื่องระบบความปลอดภัยทุกองค์กรต่างก็ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ จึงต่างก็มองหาวิศวกรที่จะมาทำหน้าที่รักษาความปลอดภัย ซึ่งจะเป็นด่านแรกที่ปกป้องผลิตภัณฑ์และบริการขององค์กรนั้นๆ การรักษาความปลอดภัยของ IoT จะกลายเป็นส่วนสำคัญที่จะถูกโฟกัสมากขึ้น ด้วยการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวันเข้าด้วยกัน โดยเจ้าอาชญากรไซเบอร์จะมองหาช่องโหว่เพื่อจะแทรกตัวเข้ามา วิศวกรด้านเทคโนโลยีบนไซเบอร์จะมาทำหน้าที่ป้องกันการโจรกรรมภัยบนไซเบอร์นี้โดยเฉพาะ
วิศวกรสร้าง Internet of Things
เมื่ออินเตอร์เน็ตกลายเป็นเครื่องมือที่สำคัญสำหรับการทำงานในทุกองค์กร รวมไปถึงในการใช้งานในชีวิตประจำวัน จึงทำให้อุปกรณ์หรือแนวคิดต่างๆ ที่เชื่อมต่อกันด้วยอินเตอร์เน็ตจึงถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นจำนวนมาก คาดว่าภายในปี 2020 โลกเราจะมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากถึง 50 พันล้านเครื่อง จึงต้องมีอาชีพรองรับ จนทำให้เกิดอาชีพด้าน IoT (Internet of Things) ขึ้น ของมหาวิทยาลัยศรีปทุม ซึ่งอยู่ในสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ เน้นการเรียนเกี่ยวกับการพัฒนา ระบบ IoT โดยเฉพาะ การันตีจบมามีงานแน่นอนทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยจะเป็นงานในลักษณะออกแบบและพัฒนาระบบสมองกลฝังตัวและเครือข่าย IoT เป็นต้น
DevOps engineer
DevOps engineer คือวิศวกรที่เข้ามาแก้ไขปัญหาที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่าง Developer และ Operations เพื่อผลิต software ได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น คือเป็นวิศวกรที่ผสมผสานหลายๆ ปัจจัยในการทำงานเขาด้วยกัน ทั้งแนวคิด วิธีการ และเครื่องมือต่างๆ เพื่อเพิ่มความเร็ว เพิ่มประสิทธิภาพ และยังรวมไปถึงการพัฒนากระบวนการทั้งด้าน Software และการจัดการ Infrastructure นั่นเอง
Full stack developer
อาชีพ Full stack developer เป็นที่ต้องการในตลาดงานอย่างมากในขณะนี้ เพราะตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งที่ มีความสามารถ ทักษะที่หลากหลาย โดยต้องมีพื้นฐานทั้ง Front-End Developer และ Back-End Developer แต่ยังไม่หมดเพียงแค่นี้ ผู้ที่จะทำในตำแหน่งนี้ได้ต้องมีทักษะอื่นๆ ประกอบด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น UX/UI, DevOps, Docker, Database (SQL, NoSQL), middleware tools และ web server configuration เป็นต้น เรียกได้ผู้ที่ทำตำแหน่งนี้ได้ ต้องรู้ทุกเรื่องตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำก็ว่าได้
Scrum Master
หลายคนอาจไม่ค่อยคุ้นหูกับอาชีพนี้ แต่เพื่อให้เห็นภาพ ลองนึกถึงตำแหน่ง PM (Project Manager) คือผู้ที่คิด วางแผน กำหนดงานให้ชัดเจนเพื่อให้ทีมรู้หน้าที่ของตัวเองซึ่งจะดูเป็นโปรเจคต่อโปรเจค แต่ก็จะมีหน้าที่ ที่แตกต่างกันกับ Scrum Master ถ้ายกตัวอย่าง Scrum Master ให้เห็นภาพชัดยิ่งขึ้น ให้ลองนึกถึงไวทยากรณ์ ผู้ซึ่งคอยกำกับวงดนตรี เขาอาจจะเล่นดนตรีไม่เก่งเท่านักดนตรี แต่เขาสามารถที่จะช่วยไกด์และให้ความรู้แก่นักดนตรีทั้งหลาย แถมยังช่วยควบคุมจังหวะของดนตรีนั่นเอง ซึ่งจะเหมือนกับ Scrum Master อำนวยความสะดวก และคอยขจัดอุปสรรคที่อาจกระทบกับทีม และที่สำคัญต้องคอยไกด์และให้ความรู้แก่ทีม จนทำให้คนในทีมสามารถรู้ว่าต้องทำอะไร เมื่อไหร่ได้ด้วยตัวเองนั่นเอง
Data Scientist
หรือนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลเป็นสายพันธ์ใหม่ของผู้เชี่ยวชาญการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งมีหน้าที่ค่อนข้างตรงตามชื่อ นั่นก็คือ วิเคราะห์ข้อมูล เพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมที่ซับซ้อน การหาแนวโน้ม และการอนุมาน การค้นหาข้อมูลเชิงลึกที่ซ่อนอยู่ ซึ่งจะช่วยให้บริษัทตัดสินใจทางธุรกิจได้อย่างชาญฉลาด ทาง IBM ก็ได้คาดการณ์ว่าในปี 2020 ความต้องการ Data Scientist จะเพิ่มขึ่นถึง 28% ทำให้หลายๆ มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญจำต้องเปิดหลักสูตรการเรียนการสอน
ผู้ประกอบการด้าน E-Sports
จากในอดีตที่เราเล่นเกมเพื่อผ่อนคลาย แต่ทุกวันนี้เกมสามารถสร้างรายได้ให้คุณ จนถึงขั้นกลายเป็นอาชีพ สร้างรายได้หลายหมื่นต่อเดือน การเติบโตของ E-sports หรือกีฬาอิเล็กทรอนิคส์ เป็นการต่อยอดการเล่นเกมออนไลน์มาสู่การแข่งขันหาผู้ชนะอย่างเป็นทางการ สร้างเม็ดเงินมหาศาล จริงๆ แล้วกีฬา E-Sport ครอบคลุมไปถึงไปหลายส่วนงาน ได้แก่ นักพากย์เกม (Game Caster) หรือผู้บรรยายการแข่งขัน ทีมงานถ่ายทอดสด (Live Streaming) เจ้าของสถานที่ใช้จัดการแข่งขัน นักออกแบบเกม ผู้ดูแลเกม (Game Master) ผู้จัดการทีม โค้ช นักวิเคราะห์ เป็นต้น เมื่อ E-Sport ได้ถูกบรรจุให้เป็นกีฬาเพื่อการแข่งขันโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จึงทำให้หลายมหาวิทยาลัยของไทยเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนเกี่ยวกับ E-Sport เช่น มหาวิทยาลัยศรีปทุม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
นักขับโดรน
อากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน คงคุ้นหูหลายคน โดรนจะเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นโดยเฉพาะในภาคธุรกิจ ซึ่งต้องขอบคุณสถาบันการศึกษาในอเมริกาเปิดหลักสูตรการเรียนเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับหรือโดรน ซึ่งได้รับความสนใจในหมู่นักศึกษามากขึ้นเรื่อยๆ ในไทยก็มีสถาบันเปิดสอนเช่นกัน เพราะหลายภาคส่วนนำโดรนไปใช้ในการทำธุรกิจต่างๆ เช่น โลจิสติกส์ เกษตรกรรม หรือสื่อสารมวลชน สำหรับค่าตอบแทนของการบังคับโดรนนั้นถือว่าสูงไม่น้อยหากเป็นมืออาชีพมีผลงานเป็นที่น่าเชื่อถือแล้ว อัตราค่าจ้างสำหรับการถ่ายภาพข่าว ซึ่งแบ่งตามขนาดของโดรนหรือนับตามจำนวนใบพัดของเครื่อง โดยค่าจ้างจะอยู่ที่ 10,000 – 50,000 บาทต่อวัน
ช่างดูแลรักษาระบบหุ่นยนต์ ในภาคอุตสาหกรรม
จริงๆ แล้วช่างซ่อมเครื่องไม่ใช่อาชีพใหม่ แต่ในขณะที่หลายบริษัททั่วโลกใช้หุ่นยนต์มาช่วยมนุษย์ในกระบวนการทำงาน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมโรงงานต่างๆ เช่น โรงงานผลิตชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ ธุรกิจขนส่ง เป็นต้น ดังนั้น การดูแลรักษาระบบหุ่นยนต์ให้ไม่มีข้อผิดพลาดจึงจำเป็นอย่างมากในภาคอุตสาหกรรมโรงงานเหล่านี้ จนเป็นที่มาจองอาชีพช่างดูแลรักษาระบบหุ่นยนต์ นั่นเอง
จะเห็นได้ว่าแต่ละอาชีพล้วนแต่เป็นอาชีพที่รองรับธุรกิจสายเทคโนโลยีเป็นหลัก นั่นก็เพื่อให้สามารถแข่งขันพัฒนาโปรดักส์ออกสู่ท้องตลาดได้เร็วที่สุด แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมีประสิทธิภาพด้วย ด้านธนาคารกรุงเทพเองก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรที่จะมาขับเคลื่อน พัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมในประเทศไทย ผ่านโครงการ Bangkok Bank InnoHub โดยได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ส่งเสริมสตาร์ทอัพ และมี Co-working space ไว้รองรับบุคลากรด้านนี้ด้วย
อ่านเพิ่มเติม >> ส่องกล้องมอง AI ในภาคอุตสาหกรรม ปี 2019