Health Tech ฮีโร่ปฏิวัติวงการแพทย์
การแพทย์พัฒนามาได้อย่างก้าวกระโดดภายในช่วงหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ตั้งแต่การพัฒนายาและวัคซีนต่างๆ ไปจนถึงรังสีเอ็กซเรย์และเทคโนโลยีการแพทย์ต่างๆ ทำให้ทั้งคุณภาพชีวิตและอายุขัยของคนบนโลกเพิ่มขึ้นจากในอดีตหลายเท่าตัว แต่ยิ่งโลกก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุมากเท่าไหร่ การแพทย์ก็ยิ่งเป็นสิ่งจำเป็น จนนำไปสู่ Health Tech เมื่อวงการแพทย์จับมือกับวิทยาศาสตร์และสตาร์ทอัพแขนงต่างๆ เช่น ด้านการสื่อสาร ปัญญาประดิษฐ์ และอื่นๆ อีกมากมาย เพื่อเนรมิตการแพทย์ที่ตอบโจทย์ผู้ป่วยและล้ำสมัยอย่างไม่น่าเชื่อ!
การแพทย์เข้าถึงทุกคนด้วย Telemedicine
ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันด้วยจำนวนคนไข้ที่เยอะขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพทั่วถึง ด้วยเหตุนี้จึงเกิด Telemedicine ขึ้น เพื่อให้คนในพื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้อย่างง่ายดายและรวดเร็วผ่านทางแอปพลิเคชั่นหรืออินเทอร์เน็ต เช่น แอปพลิเคชั่น mHealth ของ World Health Organization ช่วยให้การแพทย์เข้าถึงพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกผ่านอินเทอร์เน็ต โดยช่วยเหลือหน่วยแพทย์ในพื้นที่ห่างไกลอย่างประเทศแทนซาเนีย ที่มีผู้ป่วยโรคมาลาเรีย หรือแพทย์ในประเทศแถบแอฟริกา ที่ต้องดูแลผู้ป่วยโรค HIV สามารถใช้แอป mHeath ยิ่งโลกกำลังมุ่งเข้าสู่ช่วงสมัยแห่งการสื่อสาร 5G ทำให้เทคโนโลยี Telemedicine มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ใช้โลกจำลอง VR มารักษาคนไข้
ใครจะไปคิดว่า Virtual Reality (VR) เทคโนโลยีจำลองโลกเสมือนจริงที่มักเห็นในหนังหรือเกมส์ต่างๆ จะถูกนำมาใช้ในวงการแพทย์ด้วย ซึ่งมีโรงพยาบาลกว่า 240 แห่งในประเทศสหรัฐอเมริกา เริ่มนำ VR มาใช้จริงแล้ว ส่วนใหญ่จะใช้เพื่อพัฒนาสภาพจิตใจของคนไข้ระหว่างรักษา ทำให้คนไข้ใจเย็นลง หรือใช้เบี่ยงเบนความเจ็บปวดของคนไข้ได้ หรือแม้แต่ใช้บำบัดผู้ป่วยทางจิตจำพวกโรควิตกกังวล (Anxiety) หรือโรคกลัวต่างๆ (Phobia) ได้ด้วย และยิ่งกว่านั้นยังสามารถใช้เป็นเครื่องมืออธิบายกระบวนการทางการแพทย์ให้ผู้ป่วยเห็นภาพการผ่าตัดจริงแบบละเอียด
AI เพิ่มประสิทธิภาพการแพทย์
วิทยาการที่ถูกจับตามองใกล้ชิดที่สุดในปี 2019 คงหนีไม่พ้น Artificial Intelligent (AI) ซึ่งแน่นอนว่ามีบทบาทอย่างมากในโลกแห่งการแพทย์ ตั้งแต่สามารถใช้ช่วยแพทย์วินิจฉัยโรคจากข้อมูลทางการแพทย์และสถิติ หรือสร้างขั้นตอนการรักษาเฉพาะตัวของไข้แต่ละคนโดยการนำประวัติคนไข้มาวิเคราะห์ หรือแม้แต่สิ่งที่หลายๆ คนไม่คาดคิด เช่นการวินิจฉัยโรคมะเร็ง! โดย Google ร่วมกับสถาบันวิจัยทางการแพทย์มหาวิทยาลัย Northwestern พัฒนาระบบ Google AI เพื่อเรียนรู้การวินิจฉัยโรคมะเร็งปอดจากการวิเคราะห์ภาพ CT scan ของปอดผู้ป่วยกว่า 15000 คน จำนวน 42,290 รูป ผลออกมาคือ Google AI สามารถวินิจฉัยได้แม่นยำกว่าแพทย์ 5% ความผิดพลาดลดลงถึง 11% ซึ่งหากพัฒนาจนสามารถใช้ได้จริงจะทำให้แพทย์ตรวจพบมะเร็งระยะแรกได้ง่ายขึ้น เพิ่มเปอร์เซ็นต์ในการรักษามะเร็งให้หายขาดได้
ไม่หยุดพัฒนาด้วย Quantum Computing
คอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบ Quantum ในการทำงานจะสามารถเก็บข้อมูลได้มหาศาล และประมวลผลได้เร็วขึ้นด้วยหน่วย Qubit จึงเหมาะอย่างมากที่จะใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลที่ซับซ้อน เช่น วิเคราะห์เบสของ DNA มนุษย์ ซึ่งแต่ก่อนต้องใช้คอมพิวเตอร์และนักวิทยาศาสตร์หลายคนเพื่อวิเคราะห์ เปรียบเทียบรหัสจีโนมมากมายกว่าจะหาความผิดปกติทางยีนส์ได้ แต่ด้วย Quantum Computing จะสามารถวิเคราะห์และจัดเก็บข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น นอกจากนั้นด้วยการวิเคราะห์ที่รวดเร็วของระบบ Quantum สามารถนำมาใช้ในการพัฒนายาทางการแพทย์ เพื่อย่นระยะเวลาตั้งแต่เริ่มคิดค้นยาได้อีกด้วย
จะเห็นว่า Health Tech มีอยู่ทุกที่ ตั้งแต่ก้าวแรกที่ก้าวเข้าสู่โรงพยาบาล ขณะที่กำลังรักษา ไปจนถึงการดูแลพักฟื้นรักษาตัวอยู่ที่บ้าน จนเป็นอีกนวัตกรรมที่ทุกคนควรจับตามอง เพราะนี่อาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้คุณภาพชีวิตของใครหลายๆ คนดีขึ้น เพราะการมีสุขภาพดีก็ทำให้ยืนเวลาให้เราอยู่กับคนที่เรารักได้ยาวนานขึ้นด้วย
อ่านเพิ่มเติม >> ก้าวข้ามขีดจำกัดเดิมๆ กับ AI ที่เปลี่ยนคลื่นสมองให้เป็นเสียง