Li-Fi เทคโนโลยีการเชื่อมต่อผ่านแสงไร้สาย

June 28, 2019

Li-Fi เทคโนโลยีการเชื่อมต่อผ่านแสงไร้สาย

           ปัจจุบันนี้ไม่ว่าจะมองไปทางไหน ก็จะพบว่า “อินเทอร์เน็ต” ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตไปแล้ว ไม่ว่าคุณจะไปที่ไหน หรือสถานที่ใดก็จะมีจุดให้บริการแหล่งอินเทอร์เน็ตอยู่เสมอ ผ่านการเชื่อมต่อที่เรียกว่า Wi-Fi (Wireless Fidelity) แต่ถึงอย่างนั้น ก็มีบางพื้นที่ ที่อินเทอร์เน็ตยังเข้าไปไม่ถึง ซึ่งหลายๆ องค์กรต่างพัฒนา หาหนทางที่จะให้อินเทอร์เน็ตสามารถคลอบคลุมได้ทุกพื้นที่

           และยิ่งในยุค Digital Transformation แบบนี้ Internet of Things (IoT) จึงเข้ามามีบทบาท ช่วยเชื่อมต่อทุกสิ่งทุกอย่างบนเครือข่าย เพื่อแลกเปลี่ยนและแบ่งปันข้อมูล ให้มีความแม่นยำ ใช้งานได้ตลอดเวลา และส่งข้อมูลได้แบบ Real-Time จนเป็นที่มาของการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์พื้นที่ใช้งาน นั่นคือที่มาของ Li-Fi (Light Fidelity) ซึ่งผู้อ่านบางคนอาจจะรู้จัก หรือเคยเห็นผ่านตามาบ้างแล้ว แต่สำหรับท่านที่ยังไม่รู้ว่า Li-Fi คืออะไรเรามาดูกันเลย

Li-Fi คืออะไร?
           Li-Fi ย่อมาจาก Light Fidelity เป็นเทคโนโลยีที่มีการทำงานคล้ายคลึงกับ Wi-Fi แต่จะมีหลักการทำงานผ่านการส่งสัญญาณด้วยแสง โดยรับส่งข้อมูลผ่านการเปลี่ยนแปลงค่าความสว่าง หรือ Amplitude ซึ่งเป็นระบบส่งข้อมูลผ่านทางหลอดไฟ LED ซึ่งหมายความไม่ว่าเราจะไปไหนขอแค่มีเพียงแสงจากหลอดไฟก็สามารถเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตได้ ปราศจากสิ่งรบกวน ไม่เหมือนกับ Wi-Fi ที่ใช้คลื่นวิทยุ ซึ่งหากระบบสามารถใช้ได้อย่างเต็มรูปแบบ คาดการณ์ว่าจะสามารถส่งข้อมูลได้เร็วกว่า Wi-Fi 10-100 เท่า
และสำหรับข้อดีของ Li-Fi ถ้าหากนำมาใช้ได้จริงก็คือ มีความเร็วสูงและประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะเราสามารถใช้งานกับหลอดไฟ LED ที่มีอยู่แล้วในตัวบ้าน หรืออาคารได้ในทันที แถมยังมีความปลอดภัยในการรับ-ส่งข้อมูลสูง เพราะแสงไม่สามารถถูกดักจับสัญญาณแบบคลื่นวิทยุได้ ถ้าหากอยู่คนละพื้นที่และมีกำแพงกั้น เพราะแสงไม่สามารถทะลุผ่านกำแพงหรือออกไปนอกตัวอาคารได้ แต่ทั้งนี้ตัว Li-Fi ก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องการส่งข้อมูลสัญญาณ เช่น ถ้าหากมีสิ่งมาปกคลุมทำให้แสงเข้าไปไม่ถึง การเชื่อมต่อก็จะขาดไปเช่นกัน และยังไม่มีความเสถียรถ้าหากมีการใช้งานในพื้นที่กลางแจ้ง

           และในตอนนี้ได้มีการนำ Li-Fi ไปใช้จริง ในพื้นที่ที่ห้ามใช้ Wi-Fi เช่น บนฟ้า โดยบริษัท AirBus พัฒนา Li-Fi เพื่อใช้ในห้องควบคุมต่างๆ บนเครื่องบิน และนอกจากนี้ยังกำลังเตรียมติดตั้งระบบดังกล่าวบนเครื่องบินทุกลำ โดยผู้โดยสารสามารถเสียบอุปกรณ์พิเศษเข้ากับอุปกรณ์ของตนเพื่อใช้บริการอินเทอร์เน็ต และนอกจากนี้ระบบปฏิบัติการ IOS ล่าสุดของ Apple ก็มีฟังก์ชันที่รองรับระบบ Li-Fi บนเครื่องบินแล้วด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังสามารถนำไปใช้ได้ในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เป็นพื้นที่เปราะบางต่อคลื่นรบกวนอื่นๆ เช่น บางพื้นที่ของโรงพยาบาล โรงงานเคมี หรือโรงไฟฟ้า เป็นต้น

           ซึ่งถ้าหาก Li-Fi ได้มีการพัฒนาอย่างเป็นระบบ เราก็จะได้เห็นเหล่าสตาร์ทอัพ พยายามสร้างบ้าน Smart Home ที่ใช้ไฟ Li-Fi เพื่อให้เกิดความสะดวกสบายกับผู้ใช้ นอกจากนี้ Global Market Insights ได้คาดการณ์ว่าในปี 2023 Li-Fi จะมีมูลค่าทางการตลาดมากถึง 75.5 พันล้านเหรียญ แน่นอนว่าในอนาคตอันใกล้นี้เราอาจจะได้เห็นหลอดไฟ LED สามารถทำหน้าที่ได้มากกว่าการส่องสว่าง ก็เป็นได้

อ่านเพิ่มเติม >> “อาชีพใหม่” น่าจับตารองรับคน Gen Z

Share this article

Subscribe to InnoHub!

Stay updated and inspired

เรานำข้อมูลมาใช้เพื่อการส่งมอบคอนเทนต์และบริการอย่างเหมาะสม เราจะปกป้องความเป็นส่วนตัวของคุณ คุณสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Privacy Policy และคลิกสมัครเพื่อดำเนินการต่อ