Low-Code ติดธงนำองค์กรสู่เส้นชัย
การเปลี่ยนแปลงองค์กรจากภายในเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของยุคที่ขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว ด้วยการนำแนวคิด Digital Transformation มาพัฒนาบุคลากรให้สร้างนวัตกรรมหรือจัดระบบการทำงานบนโลกดิจิทัลได้ด้วยตนเอง ผ่าน “Low-code Development Platform” คือหนทางที่จะนำธุรกิจให้ก้าวทันคู่แข่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับใครที่ไม่ได้อยู่ในแวดวง IT อาจจะไม่คุ้นหูกับ “Low-code” สักเท่าไหร่นัก เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น อธิบายง่ายๆ เลยก็คือ Low-code คือ แพลตฟอร์มที่ช่วยให้การพัฒนาแอปพลิเคชั่นหรือเว็บไซต์เป็นเรื่องที่สะดวกและรวดเร็วโดยปราศจากการเขียนโค้ด แต่เน้นไปที่การกำหนด Logic วิเคราะห์ข้อมูลและการแสดงผลเป็นหลัก ลองจินตนาการว่าการสร้างแอปพลิเคชั่นในแต่ละครั้งนั้นเต็มไปด้วยโค้ดที่ซับซ้อนและอาจใช้เวลานานถึง 6 เดือน แต่เมื่อมี Low-code Platform ใคร ๆ ก็สามารถสร้างแอปพลิเคชั่นที่หลากหลายขึ้นมาได้ไม่ยาก สอดคล้องกับเทรนด์ของ Citizen Developer หรือการเปิดโอกาสให้คนที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางสามารถพัฒนาโปรแกรมได้ด้วยตนเอง ในต่างประเทศได้เล็งเห็นความสำคัญของ Platform นี้จนได้รับการจัดอันดับให้เป็นเทรนด์ที่จะปฏิวัติการทำงานขององค์กรและพลิกโฉมวงการซอฟต์แวร์
An example of Low-code (source: https://www.mendix.com/)
Mendix ผู้ให้บริการ Low-code Platform สำหรับนักพัฒนาด้านซอฟท์แวร์และแอปพลิเคชั่น ที่ได้รับความนิยมในทวีปยุโรปและอเมริกา ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้งานทั่วโลก อย่าง AntTail แอปพลิเคชั่นติดตามการจ่ายยา โดยใช้เทคโนโลยี IoT มาช่วยเพื่อให้เกิดความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบทุกขั้นตอนได้ทันทีที่สั่งยา ตลอดจนการขนส่ง จนกระทั่งเมื่อยาถึงมือผู้รับแล้ว เซ็นเซอร์ที่อยู่บนบรรจุภัณฑ์ยังสามารถเก็บข้อมูลและแจ้งเตือนเมื่อยาถูกเก็บอยู่ในสภาพที่ไม่เหมาะสมได้อีกด้วย อีกกรณีหนึ่งก็คือ KLM สายการบินแห่งชาติของเนเธอร์แลนด์ ใช้แอปพลิเคชั่นที่พัฒนาจาก Low-code เพื่อติดตามเก็บข้อมูลของอุปกรณ์เครื่องบินผ่าน IoT และส่งข้อมูลไปยังวิศวกรได้แบบเรียลไทม์ ป้องกันความผิดพลาดเมื่ออุปกรณ์มีปัญหา หรือลองนึกภาพผู้จัดการฝ่ายบุคคลสามารถสร้างแอปขึ้นมาเอง เพื่อสร้างแบบฟอร์มในการเก็บรวบรวมข้อมูลที่ต้องการจากผู้สมัครงานและ workflow ในแต่ละแผนก แทนที่จะต้องรอฝ่าย IT ดำเนินการให้
จะเห็นได้ว่า Low-code เป็นการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาบริการ วิธีทำงาน และในด้านอื่นๆ (Discovering Cutting Edge Technology) และเป็นกุญแจสำคัญที่ตอบโจทย์องค์กรชั้นนำที่ต้องการพัฒนาซอฟท์แวร์ให้ตรงตามความต้องการของผู้ใช้บริการ เนื่องจากความเร็วในการสร้าง Platform ที่ง่ายต่อการจัดระบบข้อมูล อีกไม่นานเราคงได้เห็น Low-code ได้รับความนิยมมากขึ้นในประเทศไทย ทั้งนี้การนำ Platform ใหม่ๆ มาใช้ เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยผลักดันประสิทธิภาพของการทำงาน ขณะเดียวกันวัฒนธรรมองค์กรที่เปิดรับสิ่งใหม่ๆ โดยสนับสนุนความสามารถของบุคลากรให้ทำงานร่วมกับเทคโนโลยีจึงเป็นสิ่งที่ควรปฎิบัติควบคู่กันไปเพื่อนำองค์กรไปสู่เส้นชัยในที่สุด